วันเสาร์ที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2555

พัฒนาสารธรรมชาติเคลือบผิวไข่ไก่คงความสดได้เป็นเดือน


“ไข่ไก่สด” กับ “ไข่ไก่ไม่สด” ต่างกันอย่างไร คุณแม่บ้านคงรู้วิธีดูเป็นอย่างดี และบ้านไหนที่รายรับน้อยหน่อยคงรู้อีกว่า ไข่ไม่สดราคาถูกแตกต่างจากไข่ไก่สดกี่เท่า นี่เองที่ทำให้มีการค้นหาวิธีรักษาความสดของไข่ไก่ให้อยู่ได้นานขึ้น โดยคุณภาพไม่ลดลง ที่สำคัญราคาไม่ตกอย่างน่าเจ็บใจ ซึ่งนักวิจัยไทยจากรั้ว ม.เกษตรฯ ทำได้แล้ว
      
       ผศ.ดร.ภาณุวัฒน์ สรรพกุล ภาควิชาเทคโนโลยีการบรรจุ คณะอุตสาหกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน กล่าวว่า ทีมวิจัยได้พัฒนาสารเคลือบผิวไข่ไก่จากสารประกอบโพลีแซคคาไรด์จากพืชเพื่อรักษาคุณภาพความสดของไข่ไก่สดได้แล้ว โดยกำลังอยู่ระหว่างการยื่นจดสิทธิบัตรสูตรการผลิตสารเคลือบผิวไข่ไก่สดอยู่ในเวลานี้
 
    
       ผศ.ดร.ภาณุวัฒน์ เผยว่า นี่จึงเป็นวิธีที่แตกต่างจากในอดีตทีเดียว ซึ่งพ่อค้าแม่ขายจะเคลือบผิวเปลือกไข่ไก่สดด้วยน้ำมันเพื่อลดการคายน้ำอันเป็นสาเหตุทำให้ไข่ไก่เสียความสด และมีน้ำหนักลดลง
      
       จากการทดสอบ สารเคลือบผิวไข่ไก่สดจากสารธรรมชาติดังกล่าวจะยืดอายุไข่ไก่ในอุณหภูมิห้องได้นานกว่า 1 เดือน – 1 เดือนครึ่ง และลดการสูญเสียความชื้นตลอดจนน้ำหนักของไข่ได้ถึง 50% โดยไข่ไก่ยังสดและอยู่ในสภาพเกรดเอ หรือราคาดีที่สุด
      
       อีกทั้ง สารเคลือบผิวจากธรรมชาติดังกล่าวยังมีความหลากหลายมาก ซึ่งพบแล้วอย่างน้อย 3 ชนิด ที่มีคุณสมบัติต่อต้านแบคทีเรีย ขณะเดียวกันยังลดการนำเข้าสารเคลือบผิวไข่ไก่จากต่างประเทศ ซึ่งเก็บไข่ไก่ให้สดได้เพียง 10 -12 วันเท่านั้น
      
       “เราสามารถเก็บไข่ไก่ให้สดได้ในอุณหภูมิห้อง วิธีนี้จึงทำให้เราไม่ต้องแช่ไข่ในตู้เย็นจึงประหยัดค่าไฟฟ้า ขณะที่มีต้นทุนการเคลือบอยู่ที่ 0.01% ของราคาไข่ไก่หรือ 0.04 บาท/ฟอง แต่ทำให้ไข่ไก่ราคาไม่ตกตามคุณภาพที่ลดลงได้ดีกว่าวิธีที่ใช้กันในท้องตลาด” นักวิจัยว่า
      
       ผศ.ดร.ภาณุวัฒน์ บอกด้วยว่า งานวิจัยนี้จึงมีความเป็นไปได้สูงในการใช้งานในไทยที่มีการบริโภคไข่ไก่มากถึง 15,000 ล้านบาท/ปีทีเดียว และทีมนักศึกษาจากคณะพาณิชยการและการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยเก็บข้อมูลการวิจัยนี้พบว่า มีความคุ้มทุนมากถึง 441%
      
       ส่วนก้าวต่อไป ทีมวิจัยจะพัฒนาให้สารประกอบพอลีแซกคาไรด์ดังกล่าวนำไปใช้เก็บรักษาผลิตภัณฑ์ชนิดอื่นๆ ให้มากขึ้น อาทิ เนื้อสัตว์ และผักสด ซึ่งสามารถขึ้นรูปเป็นฟิล์มรักษาความสดได้แล้ว เช่น การขึ้นรูปซองอาหารหรือเครื่องปรุงรส หรือแม้แต่การนำไปใช้ในกระบวนการผลิตผ้าอนามัย
      
       ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่สนใจสามารถติดต่อขอรายละเอียดงานวิจัยเพิ่มเติมได้ที่ภาควิชาเทคโนโลยีการบรรจุ คณะอุตสาหกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน โทรศัพท์ 02-562-5058 หรือโทรสาร 02-562-5046

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น