บันทึกความทรงจำ การเดินทางท่องเที่ยว แหล่งท่องเที่ยว คอมพิวเตอร์ การทำ SEO แหล่งความรู้ทุกแขนงถูกเก็บรวบรวมไว้ที่นี่ให้ทุกคนได้ศึกษา ได้เก็บเกี่ยวความรู้จากความทรงจำอันดีงาม ให้เช่าวัตถุมงคล พระเครื่อง พระบูชา รับตรงจากวัด แจกรูปฟรี
วันพุธที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2555
หลวงพ่อพุฒ วัดกลางบางแก้ว พระครูสุนทรวุฒิคุณ
หลวงพ่อพุฒ สุนทโร พระครูสุนทรวุฒิคุณ (หลวงพ่อพุฒ สุนทโร) อดีตเจ้าอาวาสวัดกลางบางพระ ตำบลบางพระ อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม
นามเดิมนั้นท่านมีชื่อว่า พุฒ นามสกุล หาญสมัย เกิดเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2453 ตรงกับวันศุกร์ขึ้น 13 ค่ำ เดือน 12 ปี จอ ณ บ้านเลขที่ 8 หมู่ที่ 4 ตำบลบางพระ อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม บิดาของท่านชื่อ นายขำ หาญสมัย มารดาของท่านชื่อนางปาน หาญสมัย ซึ่งท่านมีพี่น้องด้วยกัน 5 คน คือ 1. นางสาวบุญรอด หาญสมัย (ถึงแก่กรรมแล้ว) 2. พระครูสุนทรวุฒิคุณ (หลวงพ่อพุฒ สุนทโร) 3. นางปุ่น นาคละมัย 4. นายปั่น หาญสมัย 5. นางบุญนาค กลั่นสนิท (ถึงแก่กรรมแล้ว)
การศึกษาเล่าเรียนนั้น หลวงพ่อพุฒ ท่านได้ความรู้ติดตัวและได้เรียนมาจากวัด ซึ่งต่อมาหลวงพ่อพุฒได้จบการศึกษาสายสามัญ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนวัดบางพระ อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม ครอบครัวของท่านแต่เดิมมีอาชีพทำนา เมื่อท่านอายุได้ 20 ปี เข้ารับการคัดเลือกของราชการทหารให้เข้ารับราชการ หรือที่เราเรียกกันว่า “เกณฑ์ทหาร” ในที่สุดท่านก็ต้องเข้ารับใช้ชาติเป็นทหารรักษาพระองค์อยู่ถึง 2 ปี ได้กลับมาช่วยครอบครัว บิดา มารดา ของท่านทำงานอย่างขยันขันแข็งจนผู้คนในหมู่บ้าน และละแวกใกล้เคียง ชื่นชมยินดีส่งเสริมให้การทำงานอย่างจริงจังของท่าน ชีวิตความเป็นอยู่ก็อยู่ในกรอบศีลธรรมอันดีงามจนชาวบ้านในท้องถิ่นต่างเสนอให้ทางราชการแต่งตั้งท่านเป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 4 ตำบลวัดละมุด อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม
ในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2489 ผู้ใหญ่พุฒก็ตัดชีวิตทางโลกเข้าสู่ร่มกาสาวพัตรในรูปพระสงฆ์ ณ พัทธสีมา วัดบางพระ ตำบลบางแก้วฟ้า อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ในชีวิตของท่าน โดยมีเจ้าอธิการหิ่ม อินทโชโต เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์ทองอยู่ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอาจารย์เปลี่ยน เป็นพระอนุสาวนาจารย์ โดยได้รับฉายาว่า สุนทโร
เมื่อหลวงพ่อพุฒ หรือพระภิกษุพุฒในสมัยนั้น อุปสมบทใหม่ ๆ ท่านก็มีความมุ่งมั่นในการศึกษาพระธรรมวินัย และเมื่อท่านมีโอกาส ท่านก็ศึกษาตำรับตำราต่าง ๆ ซึ่งค่อนข้างจะแปลกกว่าพระรูปอื่น เพราะท่านไม่ชอบปล่อยเวลาให้ล่วงไปอย่างไร้ค่า ซึ่งตำรับตำราในสมัยนั้นก็หายากไม่มีมากมายเหมือนในสมัยปัจจุบัน หนังสือที่ท่านให้ความสนใจเป็นพิเศษส่วนมากก็จะเป็นหนังสือประเภทธรรมะ และตำรายาแผนโบราณ และในปีแรกนั้น พ.ศ. 2489 ท่านก็สามารถสอบนักธรรมชั้นตรีได้ ต่อมาอีก 2 ปี คือในปี พ.ศ. 2491 ท่านก็สามารถสอบนักธรรมชั้นโทและชั้นเอกได้มาโดยลำดับ
หลังจากที่หลวงพ่อพุฒได้อุปสมบทและศึกษาพระธรรมวินัย ตลอดจนวิชาคาถาอาคมต่าง ๆ รวมทั้งได้ออกธุดงค์ได้เพียง 6 พรรษา ในปี พ.ศ. 2495 เจ้าอาวาสองค์ที่ 6 แห่ง วัดกลางบางพระได้มรณภาพลงตามสังขาร ทางคณะสงฆ์ ชาวบ้าน ตลอดจนกรรมการได้นิมนต์หลวงพ่อพุฒ ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสของวัดกลางบางพระเป็นองค์ที่ 7 สืบต่อมา ได้รับนามว่า “พระอธิการพุฒ” ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2495 หลังจากที่พระอธิการพุฒ ในสมัยนั้นได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสของวัดกลางบางพระ ก็ได้ทำการพัฒนาวัด บูรณะปฏิสังขรณ์ เรื่อยมา โดยได้เริ่มมีการวางผังวัดใหม่เพื่อสร้างถาวรวัตถุต่าง ๆ ซึ่งในสมัยนั้นวัดเป็นที่ลุ่มพอสมควร ต้องทำการถมดินเป็นจำนวนมาก โดยได้รับแรงศรัทธาจากชาวบ้านในสมัยนั้น ซึ่งต้องใช้แรงงานคน ชาวบ้านก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ต่อมาได้ทำการซ่อมแซมบูรณะพระอุโบสถขึ้นใหม่อีกครั้ง เพราะชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา ซึ่งในอดีตพระอธิการดาได้ทำการบูรณะซ่อมแซมมาแล้ว 1 ครั้ง เมื่อบูรณะพระอุโบสถเป็นที่เรียบร้อยแล้วในปี พ.ศ. 2497 ก็ได้ดำเนินการก่อสร้างศาลาการเปรียญของวัดกลางบางพระ ซึ่งใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างประมาณ 3 ปีเศษ ในด้านการศึกษานั้น หลวงพ่อได้รับการแต่งตั้งให้ดูงานด้านการศึกษามาโดยลำดับ คือ พ.ศ. 2496 เป็นครูสอนพระปริยัติธรรม เป็นเจ้าสำนักเรียนวัดกลางบางพระ เป็นกรรมการสอบธรรมสนาม หลวง พ.ศ. 2500 เป็นกรรมการอุปถัมภ์โรงเรียนวัดกลางบางพระ พ.ศ. 2515 เป็นกรรมการอุปถัมภ์โรงเรียนสหศึกษาบาลี องค์พระปฐมเจดีย์ พ.ศ. 2529 เป็นประธานหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล พ.ศ. 2530 เป็นหน่วยรับพิเศษของเจ้าคณะใหญ่หนกลาง
วันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2542 หลวงพ่อมีอาการเหนื่อยและอ่อนเพลีย จึงไปนอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลห้วยพลู ต่อมาในวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2542 อาการของหลวงพ่อยัง ไม่ดีขึ้นระบบการทำงานต่าง ๆ ของร่างกาย เริ่มไม่มีประสิทธิภาพ รุ่งเช้าวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2542 เวลาประมาณ 08.45 น. หลวงพ่อได้จากพวกเราไปด้วยอาการอันสงบ คณะศิษยานุศิษย์ได้นำศพของหลวงพ่อกลับมายังวัดกลางบางพระและได้รับพระราชทานน้ำสรงศพ จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2542 เวลา 17.00 น. อย่างสมเกียรติท่ามกลางความอาลัยของคณะศิษยานุศิษย์ สิริรวมอายุของหลวงพ่อได้ 88 ปี 2 เดือน 8 วัน
ป้ายกำกับ:
ประวัติเกจิอาจารย์
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น