วันเสาร์ที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2555

เวร กรรม ยถากรรม และอนันตริยกรรม


คำว่า “เวร” มาจากคำภาษาบาลี เวร แปลว่า “ความเป็นศัตรู ความพยาบาท ความปองร้าย” การที่คนดีๆ ถูกผู้ที่ไม่ได้เป็นศัตรูกันทำร้าย เชื่อว่าเป็นเวรที่ผูกกันมาแต่ชาติก่อน ทำให้ต้องมารับผลกรรมในชาตินี้ การผูกพยาบาทจองเวรต่อกันเป็นความชั่วทางใจ เมื่อคนมีความพยาบาทต่อกัน ย่อมเป็นเหตุให้คนทั้งสองฝ่ายมีจิตคิดร้ายตั้งตัวเป็นศัตรูกัน ทำให้มีแต่ความทุกข์เดือดร้อนไม่มีความสงบสุข และจะต้องหาวิธีทำร้ายกันไม่รู้จบสิ้น เช่น ตระกูล ๒ ตระกูลที่ผูกพยาบาทจองเวรกัน ต่างก็หาทางที่จะให้อีกฝ่ายหนึ่งเป็นอันตรายหรือพินาศ ทั้งทางร่างกายและทรัพย์สิน ทำให้ไม่มีความสงบสุข การมีใจคิดแก้แค้น จองเวรศัตรูนั้นในทางพระพุทธศาสนากล่าวว่ามิใช่จะจบสิ้นเพียงชาตินี้ แต่จะผูกพันต่อไปในชาติหน้าด้วย เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงทรงห้ามไม่ให้ผูกเวรกัน ดังที่ตรัสสอนว่า “เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร” ถ้าคิดทำร้ายศัตรู ศัตรูก็คิดจะทำร้ายตอบ ต่อเนื่องกันไปไม่สิ้นสุด แต่ถ้าคิดให้อภัย เมตตาแก่ศัตรู เวรก็จะสิ้นสุดลง

กรรม

คำว่า กรรม เป็นคำที่มาจากภาษาสันสกฤตว่า กรฺม แปลว่า การกระทำ ในทางพระพุทธศาสนาถือว่า กรรม คือการกระทำที่ประกอบด้วยเจตนาและแสดงออกได้ ๓ ทาง คือ ทางกายด้วยกิริยาอาการต่างๆ ทางวาจาด้วยคำพูด และทางใจด้วยความคิดความรู้สึก มนุษย์ประกอบกรรม ๒ ประเภท คือ กรรมดีและกรรมชั่ว ในทางพระพุทธศาสนาถือว่า มนุษย์ สัตว์ มีกรรมเป็นเครื่องกำหนดความเป็นไปของชีวิต การทำกรรมดีก็ย่อมได้รับผลดี ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น ถ้าเรามีเมตตาต่อสัตว์เลี้ยงอย่าง สุนัข แมว ให้อาหารเลี้ยงดูมัน สัตว์นั้นก็จะไม่ทำอันตรายเรา รักเรา และช่วยเหลือเรา ถ้าทำกรรมชั่ว ก็จะได้รับผลที่ไม่ดี เช่น ถ้าขโมยของของผู้อื่น ก็จะถูกลงโทษ ถูกตำรวจจับ ถูกจำคุก เป็นต้น คนจะได้ดีหรือชั่วย่อมขึ้นอยู่กับกรรม คือการกระทำของตนเอง เพราะฉะนั้นเราจึงควรเชื่อกฎแห่งกรรมว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว



ยถากรรม

คำว่า ยถากรรม แปลว่า ตามกรรม หมายความว่ามนุษย์ที่เกิดมาจะมีชีวิตอย่างไรย่อมเป็นไปตามกรรม คือ การกระทำดีหรือชั่วของตนนั่นเอง ผู้ใดทำกรรมดี ย่อมได้รับผลของกรรมดีตอบสนอง เช่น นักเรียนผู้มีความตั้งใจพากเพียรเรียนหนังสือดีจัดว่าเป็นผู้ประกอบกรรมดี ย่อมได้รับผลของกรรมดีตอบสนอง คือทำให้มีความรู้ดี สอบได้ และเลื่อนขั้นสูงขึ้น ตรงข้ามกับนักเรียนที่เกียจคร้านไม่พากเพียรเรียนหนังสือ ประพฤติเกเร จัดว่าเป็นผู้ประกอบกรรมชั่วย่อมได้รับผลของกรรมชั่ว คือ ไม่มีความรู้ สอบตกไม่เจริญก้าวหน้า

คนที่ตายไปแล้ว กรรมดีก็ส่งให้ไปเกิดในที่ดี เช่น ในโลกมนุษย์เป็นคนที่มีความสุขและเกิดในสวรรค์ คนที่ทำกรรมชั่ว กรรมก็จะส่งให้ไปเกิดในที่ไม่ดี เช่น เกิดเป็นคนทุกข์ยาก เป็นสัตว์นรก เปรต อสุรกาย และสัตว์เดรัจฉาน

พุทธศาสนิกชนจึงพูดคำว่า ยถากรรม ไปตามยถากรรม ติดปาก แสดงว่า เราต้องรับผลของการกระทำของเราเสมอ ตามกรรมดีและกรรมชั่วที่เราทำไว้



อนันตริยกรรม

คำว่า อนันตริยกรรม เป็นคำยืมจากภาษาสันสกฤต มาจากคำว่า อนนฺตริย ซึ่งแปลว่า ไม่มีช่องว่าง กับคำว่า กรฺม ซึ่งหมายถึง การกระทำที่ทำด้วยความจงใจ คำว่า อนันตริยกรรม มีความหมายตามรูปศัพท์ว่า การกระทำที่ไม่มีช่องว่าง หมายถึง การกระทำที่ไม่มีช่องว่างระหว่างกรรมที่กระทำลงไปแล้วกับวิบากหรือผลที่จะตามมา นั่นคือ กรรมที่จะต้องได้รับผลแห่งการกระทำนั้นทันทีโดยไม่ต้องรอเวลาที่ผลกรรมจะตามมาสนอง สาเหตุที่ต้องรับผลกรรมทันทีก็เพราะว่าเป็นกรรมชั่วหรือเป็นความผิดร้ายแรงที่สมควรได้รับโทษรุนแรงอย่างที่สุด อนันตริยกรรมจึงมิได้หมายถึงกรรมโดยทั่วๆ ไป แต่หมายเอาเฉพาะกรรมชั่วที่ร้ายแรงที่สุดเท่านั้น

อนันตริยกรรมมี ๕ ประการ ได้แก่

๑. การทำมาตุฆาต หรือการฆ่ามารดาของตน
๒. การทำบิตุฆาต หรือการฆ่าบิดาของตน
๓. การทำอรหันตฆาต หรือการฆ่าพระอรหันต์
๔. การทำโลหิตตุปบาท หรือการทำร้ายพระพุทธเจ้าจนถึงกับห้อเลือด
๕. การทำสังฆเภท หรือการทำให้หมู่สงฆ์แตกแยกกัน

พุทธศาสนาเชื่อว่าผู้ที่ทำกรรมชั่วขั้นที่เรียกว่า อนันตริยกรรมนั้นจะต้องไปชดใช้กรรมที่ตนก่อในนรกขั้นที่ต่ำที่สุดที่เรียกว่า อเวจีมหานรก จะไม่มีโอกาสได้ขึ้นสวรรค์และไม่มีโอกาสได้เข้าสู่พระนิพพาน

พุทธศาสนาสอนให้คนรักชีวิตของตนเองและชีวิตของผู้อื่น ดังนั้น จึงถือว่าการฆ่าหรือทำลายชีวิตไม่ว่าจะเป็นชีวิตของตนเองหรือชีวิตของผู้อื่นนั้นเป็นบาป ไม่ว่าสิ่งมีชีวิตที่เราฆ่าจะเป็นเพียงสิ่งมีชีวิตเล็กๆ หรือสิ่งมีชีวิตขนาดใหญ่ก็ตาม ยิ่งถ้าฆ่ามนุษย์ก็ยิ่งถือเป็นบาปหนัก เพราะผู้ที่เกิดเป็นมนุษย์คือผู้ที่กำลังสะสมบุญและมีโอกาสหลุดพ้นจากสังสารวัฏได้

ถ้าหากฆ่ามนุษย์ผู้เป็นบิดามารดาของตน หรือพระอรหันต์ด้วยแล้ว ก็ยิ่งเป็นบาปหนักหลายเท่าทวีคูณ เพราะบิดามารดาเป็นผู้ให้กำเนิดแก่ตน เป็นผู้เลี้ยงดูให้การศึกษาอบรมแก่บุตรเพื่อหวังให้บุตรมีชีวิตอยู่อย่างมีความสุขและประสบแต่ความเจริญรุ่งเรืองในชีวิต ผู้เป็นบุตรทุกคนมีหน้าที่ต้องกตัญญูต่อบิดามารดาของตนโดยการเลี้ยงดู ยกย่อง เทิดทูนและทำให้ท่านมีความสุขทั้งกายและใจ หากบุตรคนใดอกตัญญูทำร้ายบิดามารดาจนถึงแก่ชีวิตก็สมควรได้รับโทษที่สาหัสที่สุด

ส่วนพระอรหันต์เป็นผู้มีปัญญาและความเพียรมากจนสามารถปฏิบัติธรรมบรรลุความหลุดพ้นตามแนวทางที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสอนไว้ การฆ่าพระอรหันต์ผู้หมดกิเลสจึงเป็นบาปกรรมหนัก เช่นเดียวกับการฆ่าบิดามารดา พระพุทธศาสนาจึงถือว่า การฆ่าบิดามารดา ฆ่าพระอรหันต์เป็นกรรมหนักขั้นอนันตริยกรรม

พระพุทธเจ้าเป็นผู้ที่มีพระคุณต่อสรรพสัตว์ในโลกนี้เป็นอย่างมาก เพราะพระองค์ทรงเปี่ยมด้วยปัญญา สามารถตรัสรู้ธรรมอันลึกซึ้งและเปี่ยมด้วยพระกรุณา นำธรรมที่พระองค์ได้ตรัสรู้แล้วนั้นมาสั่งสอนสัตว์โลกให้เห็นทางสว่างและปฏิบัติตนเพื่อความสุขเนื่องจากปราศจากกิเลสที่จะทำให้เป็นทุกข์ทั้งทางกายและใจ และหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด ผู้ที่ทำร้ายพระพุทธเจ้าแม้แต่เพียงทำให้พระองค์ห้อเลือดหรือที่เรียกว่า โลหิตุปบาท นั้น นอกจากจะถือว่าเป็นผู้อกตัญญูอย่างยิ่งต่อผู้ทรงคุณอันประเสริฐต่อโลกและสรรพชีวิตแล้ว ยังถือว่าเป็นผู้ที่มีใจบาปหยาบช้า กรรมที่ทำให้พระพุทธเจ้าถึงกับห้อเลือดถือเป็นบาปกรรมขั้นอนันตริยกรรม

ส่วนการทำสังฆเภทหรือการทำให้พระภิกษุสงฆ์แตกความสามัคคีกันนั้น ถือเป็นอนันตริยกรรมด้วย ก็เพราะการทำสังฆเภทก็เท่ากับการทำลายความเจริญรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนา เพราะภิกษุสงฆ์เป็นทายาททางธรรมของพระพุทธเจ้าเป็นผู้สืบอายุพระพุทธศาสนา การทำให้พระภิกษุสงฆ์แตกแยกกันอย่างกรณีที่พระเทวทัตยุยงให้ภิกษุแตกความสามัคคีกัน จึงจัดว่าเป็นการทำบาปที่หนักมาก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น