วันพฤหัสบดีที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ธรรมทานนี้มีอานิสงส์มาก



ธรรมทาน เป็นต้นกำเนิดของพระรัตนตรัย และความดีทั้งปวง
ธรรมทานนี้มีอานิสงส์มาก ดังที่มีการพรรณนาคุณไว้ใน อรรถกถาธรรมบท ว่า...

- แม้ทายกจะถวายจีวรอย่างดีที่สุด แด่พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระอรหันตเจ้าทั้งหลาย
ที่นั่งติดๆ กันเต็มห้องจักรวาลนี้ ก็ยังมีอานิสงส์น้อยกว่าการอนุโมทนาของพระพุทธเจ้า ด้วยพระคาถา(๒) เพียง ๔ บาท
และจีวรทานนั้นมีค่าไม่ถึงเศษส่วน ๑๖ แห่งพระคาถาที่พระพุทธองค์ทรงอนุโมทนา
- แม้ทายกจะถวายโภชนะข้าวสาลี กอปร ด้วยสูปะพยัญชนะอันประณีต เป็นต้น
ให้เต็มบาตรพระพุทธเจ้าก็ดี จะถวายเภสัชทาน มี เนยใส เนยเหลว น้ำผึ้ง เป็นต้น
ให้เต็มบาตรพระพุทธเจ้าที่นั่งติดๆ เต็มห้องจักรวาลก็ดี
ยังมีอานิสงส์น้อยกว่าธรรมทานที่พระพุทธเจ้า อนุโมทนาด้วยพระคาถาเพียง ๔ บาท

- อนึ่ง ทายกจะถวายเสนาสนะ มีมหาวิหาร หรือโลหปราสาทหลายแสนหลัง
ยังมีอานิสงส์น้อยกว่าธรรมทานที่พระพุทธเจ้า อนุโมทนาด้วยพระคาถาเพียง ๔ บาท

- การแสดงธรรม การบอกธรรม การฟังธรรม มีอานิสงส์ยิ่งใหญ่และประเสริฐกว่าจีวรทาน
บิณฑบาตทาน เสนาสนทาน ทุกอย่าง เพราะว่าชนทั้งหลายจะทำบุญมากมายขนาด นั้นได้
ก็ต่อเมื่อได้ฟังธรรมแล้ว ถ้าไม่ได้ฟังธรรมมีศรัทธาแล้ว จะถวายข้าวสวยสักทัพพี
ข้าวต้มสักกระบวยก็ยังยาก แม้บุคคลสำเร็จมรรคผล จะสำเร็จอัครสาวกภูมิ ก็ต้องอาศัยการฟังธรรม


- อีกประการหนึ่ง ยกเว้นพระพุทธเจ้า และพระปัจเจกพุทธเจ้าแล้ว แม้พระสาวกทั้งหลาย มีพระสารีบุตร เป็นต้น
ผู้เป็นเลิศด้วยปัญญาญาณ สามารถนับเม็ดฝนที่ตกอยู่ตลอดกัปได้ ก็ยังไม่สามารถจะบรรลุอริยผล
มีโสดาปัตติผล เป็นต้น โดยลำพังตนเองได้ ต่อเมื่อได้ฟังธรรม จากพระอัสสชิเป็นต้นแล้ว
จึงทำให้แจ้งซึ่งโสดาปัตติผล และบรรลุธรรมสูงสุด ด้วยพระธรรมเทศนาของพระบรมศาสดา
เพราะเหตุนี้ "ธรรมทานจึงประเสริฐที่สุด" ดังเรื่องปัญหาของท้าวสักกเทวราช (๓)

ในสมัยหนึ่ง ท้าวสักกเทวราชพร้อมด้วยเทวดาหมื่นจักรวาลมาเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ครั้นถึงแล้วจึงน้อมนมัสการทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า

"การให้อะไร ชนะการให้ทั้งปวง รสแห่งอะไร ชนะรสทั้งปวง
ความยินดีในอะไร ชนะความยินดีทั้งปวง ความสิ้นไปแห่งอะไร ชนะทุกข์ทั้งปวง"

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตอบปัญหาท้าวสักกะผู้เป็นจอมเทพยดา ปรากฏใน ตัณหาวรรค ธรรมบท ว่า

สพฺพทานํ ธมฺมทานํ ชินาติ สพฺพรสํ ธมฺมรโส ชินาติ
สพฺพรตึ ธมฺมรติ ชินาติ ตณฺหกฺขโย สพฺพทุกฺขํ ชินาติ

การให้ธรรมทาน ชนะการให้ทั้งปวง
รสแห่งธรรม ชนะรสทั้งปวง
ความยินดีในธรรม ชนะความยินดีทั้งปวง
ความสิ้นไปแห่งตัณหา ชนะทุกข์ทั้งปวง
ผู้ใดให้ธรรมเป็นทาน ผู้นั้นชื่อว่าให้พระนิพพานแก่คนทั้งหลาย


อ้างอิง
(๑) ธรรมบท ขุททกนิกาย พระสูตรและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏฯ เล่ม ๔๓ หน้า ๓๒๕
(๒) คำประพันธ์ประเภทร้อยกรองในภาษาบาลี อัตราของฉันท์ คือ ๔ บาท เรียกว่า คาถาหนึ่ง
(๓) ธรรมบท ขุททกนิกาย พระสูตรและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏฯ เล่ม ๔๓ หน้า ๓๒๓

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น