วันจันทร์ที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ฮือฮา! พบดาบโบราณ เชื่อใช้นำทัพพระนเรศวร



วัดดังเชียงใหม่โชว์ดาบโบราณ เชื่อเป็นดาบคู่้กายของพระนเรศวรที่ใช้สำหรับนำทัพ กรมศิลปากรเร่งตรวจสอบอักขระจารึกบนดาบ

   (30 มิ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. ที่ วัดเมืองกื้ด ต.กื้ดช้าง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ มีชาวบ้านจากหลายพื้นที่เดินทางเพื่อมา กราบไหว้สักการะดาบโบราณเล่มหนึ่งที่เก็บรักษาไว้ภายในวัด โดยเชื่อกันว่า ในอดีตดาบเล่มนี้เป็นดาบคู่กายที่ใช้สำหรับการนำทัพของสมเด็จพระนเรศวรในการสงคราม และวัดแห่งนี้ยังอยู่ในเส้นทางการเดินทัพ และเคยเป็นที่พักทัพก่อนที่จะเสด็จสวรรคตในเขต อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ ในปัจจุบัน
    พระอธิการอินถา รตนวรรณโณ เจ้าอาวาสวัดเมืองกื้ด กล่าวว่าตามตำนานเล่าขานของวัด เล่าสืบต่อกันว่าในยุคสมัยที่สมเด็จพระนเรศวร ทรงทำศึกสงครามกับพม่า สมเด็จพระนเรศวร ได้นำทัพออกจากเชียงใหม่ เพื่อจะไปตีเมืองอังวะ และได้ทรงพักทัพคืนที่สามที่วัดแห่งนี้ โดยการกรีฑาทัพของสมเด็จพระนเรศวร ทุกครั้งจะมีการใช้ดาบศักดิ์สิทธิ์ ทำพิธีปลุกเสกน้ำมนต์ประพรมเหล่าทหาร เพื่อความเป็นสิริมงคล ขณะที่ก่อนออกรบจะมีการปั้นหุ่นจำลองของอริราชศัตรู และใช้ดาบเล่มนี้ฟันคอหุ่นจนขาด เพื่อปลุกใจเหล่าทหาร
     อีกทั้งตามประวัติของวัดเล่าสืบทอดกันมาว่า ครูบาน้อยอดีตเจ้าอาวาส เคยปรารภธรรมกับสมเด็จพระนเรศวร เมื่อครั้งทรงพักทัพที่วัด และสมเด็จพระนเรศวร ได้มอบดาบนำทัพเล่มนี้ไว้ เพื่อความเป็นสิริมงคลและเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่วัด ก่อนที่จะยกทัพเสด็จไปตามลำน้ำแม่แตงไปถึงเมืองคอง เมืองแหง และทรงสวรรคตในปี พ.ศ. 2248 ขณะที่หลังจากนั้นทางวัดได้เก็บรักษา ดาบเล่มนี้ไว้ในโบสถ์จากรุ่นสู่รุ่นมาจนถึงปัจจุบัน
     สำหรับดาบโบราณเล่มนี้มีความยาวจากด้ามจรดปลายประมาณ 1.2 เมตร มีความกว้างช่วง กลางดาบประมาณ 4 นิ้ว ด้ามดาบทำด้วยงาช้าง ขณะที่ตัวเล่มดาบคาดว่าทำจากเหล็กน้ำพี้ บนเล่มดาบยัง ปรากฏอักขระอักษรขอม และภาพราหูจารึกประทับไว้ตลอดทั้งเล่มทั้งสองด้าน ซึ่งจากภาพอักษรและตารางทรงกลมที่ปรากฏ เชื่อว่าดาบเล่มนี้จะถูกใช้ในการคำนวนฤกษ์ยามในการออกทัพด้วย
ด้านนายไกรสิน อุ่นใจจินต์ หัวหน้ากลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 8 เชียงใหม่ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้เคยเดินทางลงพื้นที่ตำบลกื้ดช้างกับ ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล และอาจารย์ชัยยง ไชยศรี นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญ เพื่อศึกษาเส้นทางเดินทัพจากเชียงใหม่ไปถึงเวียงแหง แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ลงตัว ส่วนดาบโบราณเล่มนี้จะต้องตรวจสอบสภาพและอักระที่จารึกไว้ เพราะตัวอักษรหรืออักขระจะบ่งชี้ ถึงช่วงเวลาและสิ่งอื่นที่จะสามารถเชื่อมโยงข้อมูลถึงกันได้เป็นอย่างดี ส่วนความเชื่อของเจ้าอาวาสหรือชาวบ้าน ถือเป็นความเชื่อส่วนบุคคล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น