การศึกษาเปรียบเทียบการใช้ปุ๋ยในการผลิตข้าวในพันธุ์ข้าวปทุมธานี 80 พันธุ์ปทุมธานี 1 จังหวัดสุพรรณบุรี และข้าวหอมมะลิ 105 จังหวัดสุรินทร์ ปีการเพาะปลูก 2553/2554 เพื่อศึกษาสภาพทั่วไป ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยเคมี ศึกษาต้นทุนผลตอบแทนการใช้ปุ๋ยของเกษตรกร แยกตามลักษณะการใช้ปุ๋ย ได้แก่ เคมีอย่างเดียว เคมีร่วมกับอินทรีย์ และแบบอินทรีย์อย่างเดียว
นางนารีณัฐ รุณภัย รองเลขาธิการและโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผย ถึงผลการศึกษาต้นทุนและผลตอบแทนของเกษตรกรที่ปลูกข้าวพันธุ์ปทุมธานี 80 พบว่า กลุ่มใช้ปุ๋ยเคมี มีต้นทุนทั้งหมด 3,474.25 บาทต่อไร่ ส่วนต้นทุนเงินสด 2,727.92 บาทต่อไร่ ให้ผลผลิตเฉลี่ย 0.8 ตันต่อไร่ ราคาเฉลี่ย 7,267 บาทต่อตัน กำไรสุทธิ 2,328.16 บาทต่อไร่ กลุ่มใช้ปุ๋ยผสม ต้นทุน 4,435.90 บาทต่อไร่ ส่วนต้นทุนเงินสด 3,190 บาทต่อไร่ ให้ผลผลิต 0.83 ตันต่อไร่ ราคาเฉลี่ย 7,875 บาทต่อตัน และกำไรสุทธิ 2,100.35 บาทต่อไร่ พันธุ์ปทุมธานี 1 พบว่า กลุ่มใช้ปุ๋ยเคมี มีต้นทุนทั้งหมด 3,470.68 บาทต่อไร่ ส่วนต้นทุนเงินสด 2,695.94 บาทต่อไร่ ให้ผลผลิตเฉลี่ย 0.32 ตันต่อไร่ ราคาเฉลี่ย 8,504 บาทต่อตัน กำไรสุทธิ 3,793.32 บาทต่อไร่ กลุ่มใช้ปุ๋ยผสม ต้นทุน 3,155.69 บาทต่อไร่ ส่วนต้นทุนเงินสด 2,117.23 บาทต่อไร่ ให้ผลผลิต 0.86 ตันต่อไร่ ราคาเฉลี่ย 9,005 บาทต่อตัน และกำไรสุทธิ 4,595.31 บาทต่อไร่ พันธุ์ข้าวหอมมะลิ 105 พบว่า กลุ่มใช้ปุ๋ยเคมี มีต้นทุนทั้งหมด 2,373.91 บาทต่อไร่ ส่วนต้นทุนเงินสด 1,426.13 บาทต่อไร่ ให้ผลผลิตเฉลี่ย 0.32 ตันต่อไร่ ราคาเฉลี่ย 11,857 บาทต่อตัน กำไรสุทธิ 1,370.09 บาทต่อไร่ กลุ่มใช้ปุ๋ยผสม ต้นทุนทั้งหมด 3,567.95 บาทต่อไร่ ส่วนต้นทุนเงินสด 1,833.86 บาทต่อไร่ ให้ผลผลิตเฉลี่ย 0.34 ตันต่อไร่ ราคาเฉลี่ย 13,000 บาทต่อตัน กำไรสุทธิ 828.05 บาทต่อไร่ กลุ่มปุ๋ยอินทรีย์ ต้นทุนทั้งหมด 3,772.53 บาทต่อไร่ ส่วนต้นทุนเงินสด 1,198.42 บาทต่อไร่ ให้ผลผลิตเฉลี่ย 0.25 ตันต่อไร่ ราคาเฉลี่ย 12,600 บาทต่อตัน ทั้งนี้ ในส่วนกลุ่มปุ๋ยอินทรีย์ด้านกำไร พบว่า ขาดทุน 611.53 บาทต่อไร่
ดังนั้น เมื่อเปรียบเทียบต้นทุนรวม ผลผลิตต่อไร่ และรายรับในการปลูกข้าวทั้ง 3 พันธุ์ พบว่า ลักษณะการใช้ปุ๋ยทั้ง 3 ชนิดในการปลูกข้าว 3 พันธุ์ ไม่มีความแตกต่างกัน คือ เกษตรกรมีระดับต้นทุนรวม ผลผลิตต่อไร่ และรายรับใกล้เคียงกัน ยกเว้นต้นทุนในการปลูกข้าวหอมมะลิปุ๋ยเคมี ปุ๋ยผสม และปุ๋ยอินทรีย์ มีความแตกต่างทั้งในด้านต้นทุน ผลผลิต และรายได้
สำหรับ ข้อเสนอแนะ พบว่า เกษตรกรควรหันมาใช้การเพาะปลูกโดยใช้ปุ๋ยผสม เนื่องจากให้ผลผลิตคุณภาพดีกว่าการใช้ปุ๋ยเคมีเพียงอย่างเดียว และภาครัฐควรสนับสนุนเกษตรกรให้ใช้ปุ๋ยเคมีร่วมกับปุ๋ยอินทรีย์ หรือแจกเมล็ดพันธุ์ปุ๋ยพืชสดให้เกษตรกร เพราะว่าการปลูกโดยใช้ปุ๋ยเคมีร่วมกับปุ๋ยอินทรีย์เป็นการปรับปรุงคุณภาพดิน ซึ่งจะช่วยเพิ่มผลผลิตของเกษตรกรให้ดียิ่งขึ้น และยังขายได้ราคาดีกว่า เนื่องจากข้าวเปลือกมีความสมบูรณ์.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น