วันเสาร์ที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

ตะขบ ประโยชน์มากมายกว่าที่คิด

ตะขบ ชื่อสามัญ Calabura, Jam tree, Jamaican cherry, Malayan Cherry, West Indian Cherry
    ตะขบ ชื่อวิทยาศาสตร์ Muntingia calabura L. ปัจจุบันจัดอยู่ในวงศ์ MUNTINGIACEAE
สมุนไพรตะขบ มีชื่อท้องถิ่นอืน ๆ ว่า ครบฝรั่ง (สุราษฎร์ธานี), หม่ากตะโก่เสะ (กะเหรี่ยงแดง), ตากบ (ม้ง), เพี่ยนหม่าย (เมี่ยน), ตะขบฝรั่ง (ไทย) เป็นต้น



  • จัดเป็นไม้พุ่มหรือไม้ยืนต้นขนาดเล็ก มีความสูงได้ประมาณ 5-7 เมตร และอาจสูงได้ถึง 10 เมตร แตกกิ่งก้านแผ่ขนานกับพื้นดิน เปลือกลำต้นเรียบเป็นสีเทา ตามกิ่งอ่อนมีขนนุ่มขึ้นปกคลุม มักขึ้นเองตามธรรมชาติที่นกและสัตว์ขนาดเล็กถ่ายมูลเมล็ดตะขบทิ้งไว้ สามารถขยายพันธุ์ได้เองโดยวิธีการเพาะเมล็ด ออกดอกและติดผลได้ตลอดทั้งปี



  • ใบตะขบ ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับแบบทแยงกัน ลักษณะของใบเป็นรูปไข่แกมขอบขนาน ปลายใบเรียวแหลม โคนใบมนหรือข้างหนึ่งมนส่วนอีกข้างหนึ่งแหลม ส่วนขอบใบจักเป็นซี่ฟันเล็ก ๆ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1.5-3.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 4.5-9 เซนติเมตร

  • ดอกตะขบ ออกเป็นดอกเดี่ยวหรืออกเป็นคู่ โดยจะออกบริเวณเหนือซอกใบ ดอกเป็นสีขาว เมื่อดอกบานจะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2 เซนติเมตร กลีบดอกย่นเป็นสีขาวมี 5 กลีบ ลักษณะของกลีบดอกเป็นรูปไข่กลับป้อม ๆ ปลายกลีบมน มีขนาดกว้างประมาณ 9 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 11 มิลลิเมตร

  • ผลตะขบ หรือ ลูกตะขบ ผลเป็นผลสด ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลม มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.75-1.5 เซนติเมตร เปลือกผลบาง ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีแดง ผลมีรสหวาน

สรรพคุณของตะขบ

  1. ผลสุกมีรสหวานเย็นหอม มีสรรพคุณเป็นยาบำรุงกำลัง ทำให้ชุ่มชื่นหัวใจ (ผล)
  2. ดอกตะขบมีสรรพคุณเป็นยาแก้อาการปวดศีรษะ ด้วยการใช้ดอกแห้งประมาณ 3-5 กรัม นำมาชงเป็นน้ำชาดื่ม (ดอก)  บ้างใช้เนื้อไม้เป็นยาแก้อาการปวดศีรษะ (เนื้อไม้)
  3. ใช้เป็นเป็นยาแก้หวัด ลดไข้ ด้วยการใช้ดอกแห้งประมาณ 3-5 กรัม นำมาชงเป็นน้ำชาดื่ม (ดอก), บ้างใช้เนื้อไม้เป็นยาแก้ไข้หวัด (เนื้อไม้)
  4. ใบมีรสฝาดเอียด มีสรรพคุณเป็นยาขับเหงื่อ (ใบ)
  5. รากมีสรรพคุณเป็นยาแก้เสมหะ ช่วยกล่อมเสมหะและอาจม (ราก)
  6. ช่วยแก้อาการปวดเก็งในทางเดินอาหาร ด้วยการใช้ดอกตะขบแห้ง 3-5 กรัม นำมาชงกับน้ำเป็นชาดื่ม (ดอก)
  7. เนื้อไม้มีสรรพคุณเป็นยาแก้ท้องร่วง บิดมูกเลือด (เนื้อไม้)
  8. ต้นใช้ต้มกับน้ำกินเป็นยาระบาย เนื่องจากมีสาร mucilage มาก (ต้น) หรือจะใช้เปลือกต้นสดหรือแห้ง (รสฝาด) ประมาณ 1 ฝ่ามือ นำมาสับเป็นชิ้นต้มในน้ำเดือน 1 ลิตร ประมาณ 15 นาที แล้วกรองเอาแต่น้ำดื่มเป็นยาระบายก็ได้ (เปลือกต้น)
  9. เนื้อไม้ใช้เป็นยาขับไส้เดือน (เนื้อไม้)
  10. ดอกใช้ต้มรวมกับสมุนไพรอื่นกินเป็นยาขับระดูของสตรี (ดอก)
  11. ใช้เป็นยาแก้โรคตับอักเสบ ด้วยการใช้ดอกนำมาต้มรวมกับสมุนไพรอื่นกิน (ดอก)
  12. ใช้เป็นยาแก้ตานขโมย (เนื้อไม้)
  13. ต้นใช้เป็นยาแก้โรคผิวหนัง ส่วนรากใช้เป็นยารักษาโรคผิวหนัง แก้ผื่นคันตามตัว (ต้น,ราก)
  14. ดอกใช้เป็นยาแก้ปวดและแก้อักเสบ (ดอก)
ประโยชน์ของตะขบ
  1.     ผลสุกมีรสหวานและมีกลิ่นหอม ใช้รับประทานได้ เป็นผลไม้พื้นบ้านที่ชื่นชอบของเด็ก ๆ
  2.     ตะขบเป็นผลไม้ที่อุดมไปด้วยพลังงาน เส้นใยอาหาร แคลเซียม โพแทสเซียม และโซเดียม จากการวิจัยพบว่าตะขบสามารถช่วยดูดซับคอเลสเตอรอล ลดความเสี่ยงมะเร็งลำไส้ และเส้นเลือดในสมองแตกได้ (ตะขบ 100 กรัม จะให้พลังงาน 97 กิโลแคลอรี, แคลเซียม 51.7 มิลลิกรัม, โพแทสเซียม 773 มิลลิกรัม, โซเดียม 12.8 มิลลิกรัม) 
  3.     ผลตะขบเป็นอาหารของนกและสัตว์หลายชนิด ถ้าปลูกไว้ริมฝั่งแม่น้ำ เมื่อผลร่วงลงก็จะเป็นอาหารของปลาด้วยเช่นกัน
  4.     ผลตะขบฝรั่งเป็นที่นิยมรับประทานมากในเม็กซิโก ผลสามารถนำไปแปรรูปเป็นแยมหรือไวน์ได้ และนำใบไปแปรรูปเป็นชา
  5.     เนื้อไม้ตะขบเป็นไม้เนื้ออ่อน สามารถนำมาใช้ในงานช่างไม้ได้ ส่วนเปลือกใช้เป็นแหล่งของเส้นใย
  6.     ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับหรือไม้ผลทั่วไปในเขตร้อน หรือปลูกประดับริมทางเดินเพื่อให้ร่มเงา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น