เมื่ออายุได้ 18 ปี บวชเป็นเณร เมื่ออายุครบเกณฑ์ก็ได้บวชเป็นพระตามประเพณี จากนั้นก็ลาสิกขา มาครองเรือนได้ประสพความเป็นอนิจจัง ทุกขัง แห่งสังขาร และการพลัดพราก ครั้นปี พ.ศ.2486 บวชเป็นพระมหานิกายที่วัดบ้านยางมีพระครูคูณเป็นอุปัชฌาย์ พรรษาแรกก็สอบนักธรรมโทได้ วันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2488 ท่านได้ญัตติเข้าในคณะธรรมยุต ที่วัดโพธิสมภรณ์ อุดรธานี โดยมีพระธรรมเจดีย์ (จูม พันธุโล) ครั้งเป็นพระเทพกวีเป็นอุปัชฌาย์ และให้ท่านไปพำนักฝึกการปฏิบัติกับหลวงปู่บุญมี ชลิตโต ที่วัดโพธิ์ชัย หนองน้ำเค็ม อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี ซึ่งเป็นวัดที่เจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ เคยอาราธนาท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ไปพำนักครั้งที่ท่านกลับจากเชียงใหม่ และหลวงปู่บุญมี เคยได้รับการศึกษาอบรมกับท่านพระอาจารย์มั่น และดำเนินปฏิปทาตามพระบุพพาจารย์ ถวายตัวต่อ หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
ออกพรรษาปี พ.ศ.2488 แล้ว ได้กราบลาหลวงปู่บุญมี วัดโพธิ์ชัย หนองน้ำเค็ม เพื่อไปนมัสการ ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ซึ่งมาพำนักที่วัดป่าบ้านหนองผือนาใน อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร พระหล้า เขมปัตโต ออกเดินทางด้วยเท้าค่ำไหนก็ปักกรดจำวัดได้แวะ พักบำเพ็ญความเพียรที่ถ้ำพระเวสก์อยู่ระยะหนึ่งจากนั้นก็ออกเดินทาง จุดหมายก็คือวัดป่าบ้านหนองผือนาใน ด้วยความเลื่อมใสศรัทธาในกิตติศัพท์แห่งปฏิปทาบารมีธรรมของพระเดช พระคุณหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ทำให้พระหล้า เขมปัตโต อุสาหะ วิริยะ ดันด้นมาจนถึงสำนักป่าแห่งนี้ ความสงบร่มรื่นเป็นสัปปายะสถานแห่งผู้บำเพ็ญ สมณะกรรม โอกาสทองแห่งชีวิตก็มาถึงพระหล้า เขมปัตโต มีโอกาสเข้าไปกราบแทบเท้าท่านพระอาจารย์ใหญ่ สัจจะวาจาแห่งผู้กล้าเอ่ย "ขอมอบกายถวายชีวิตต่อพระอาจารย์ผูกขาดทุกลมปราณ " ท่ามกลาง คณะสงฆ์คณะศิษย์ที่อยู่ร่วมสำนัก อาทิ ท่านพระอาจารย์มหาบัว ญาณสัมปันโน , พระอาจารย์วัน อุตตโม พระอาจารย์ทองคำ จารุวัณโน หลวงปู่มั่น ท่านเมตตาปฏิสันฐานบอกให้พระเณรนำบริขารไปที่กุฏิว่าง
เมื่อล่วงถึง 5 วัน ก็เข้าไปกราบเท้าขอนิสัยกับท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต องค์ท่านก็ได้กรุณารับ การพำนักที่วัดป่าบ้านหนองผือนาใน พระหล้า เขมปัตโต ได้รับเมตตาจากท่านพระอาจารย์มหาบัว ญาณสัมปันโน ให้คำแนะนำสั่งสอน ให้อุบายธรรมอันเป็นสิ่งที่ท่านจดจำสำนึกตลอดมา
ในพรรษาปี พ.ศ.2489 ท่านได้จำพรรษาเฝ้าฝึกศึกษาปฏิบัติธรรมกับท่านพระอาจารย์มั่นและถวาย การปฏิบัติครูอาจารย์ด้วยความเคารพ ณ วัดป่าบ้านหนองผือนาใน ซึ่งเป็นขุมคลังแห่งพุทธิปัญญา วิปัสสนากรรมฐานแห่งยุคสมัย และยังได้รับเมตตาธรรมจากพระเถราจารย์ ตลอดจนสหธรรมมิกร่วมสำนัก
หลังออกพรรษา ปี พ.ศ.2489 ได้ติดตามท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสัมปันโน ออกวิเวกไปตามป่าเขา ต่อมาได้มีโอกาสพบท่านพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ที่ถ้ำบ้านไผ่ และท่านก็เมตตาช่วยเหลืออนุโมทนา ในกิจธุดงค์ด้วยดี เมื่อได้เวลาอันควรพระอาจารย์หล้า เขมปัตโต ก็เดินทางกลับมากราบ หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ที่วัดป่าบ้านหนองผือนาใน และมีโอกาส ถวายการปฏิบัติรับใช้พ่อแม่ครูอาจารย์ ด้วยความเคารพศรัทธา กระทั่งปี พ.ศ. 2492 ได้บังเกิดเหตุที่นำความเศร้าสลดมาสู่พระอาจารย์หล้า เขมปัตโต อย่างใหญ่หลวงคือพระเดชพระคุณหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ผู้เปรียบประดุจร่มโพธิ์แก้วของท่าน ได้ละสังขาร จากโลกนี้ไปอย่างไม่มีวันกลับ คงเหลือไว้ซึ่งคุณูปการเอนกอนันต์แห่งธรรมและข้อวัตรปฏิบัติอันยอดเยี่ยม พระอาจารย์หล้า เขมปัตโต ได้รับเป็นภาระธุระในกิจน้อยใหญ่ โดยไม่เกี่ยงเพื่อบำเพ็ญกุศลถวายท่าน พระอาจารย์ใหญ่ ที่ตนมอบกายถวายชีวิตด้วยเศียรเกล้า
เมื่อถวายเพลิงสรีระหลวงปู่มั่น ภูริทัตโตแล้ว ท่านจึงติดตามหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ออกวิเวก และมีโอกาส ติดตามหลวงปู่เทสก์ลงไปทางใต้แถบจังหวัด ภูเก็ต-พังงา และจำพรรษาที่ 6 ที่ โคกกลอย พระอาจารย์หล้า ธุดงค์ไปในเกาะภูเก็ต พังงา และจังหวัดตรัง ช่วงระยะหนึ่งจึงกลับมา กรุงเทพฯ พักที่วัดบรมนิวาส 5-6 วันแล้วกลับไปอีสาน จุดหมายคือ วัดบ้านห้วยทราย (หรือวัดวิเวกวัฒนาราม) อำเภอคำชะอี จังหวัดมุกดาหาร ซึ่งท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสัมปันโน ท่านพำนักอยู่ที่นี่ พระอาจารย์หล้า ได้พำนักร่วมกับ ท่านพระอาจารย์มหาบัว ญาณสัมปันโน 3 พรรษา
ปลายปี พ.ศ.2500 ชาวบ้านบ้านแวงหนองสูงใต้ มากราบนิมนต์ ท่านไปพำนักที่ภูจ้อก้อ หลวงปู่หล้า เขมปัตโต จึงได้มาพำนักที่ ภูจ้อก้อ หรือวัดบรรพตคีรี ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา วัดบรรพตคีรี (ภูจ้อก้อ) บ้านแวง ตำบลหนองสูงใต้ อำเภอคำชะอี จังหวัดมุกดาหาร ตั้งอยู่บนภูเขา ทิวทัศน์งดงามร่มรื่นมีก้อนหินน้อยใหญ่เรียงรายงดงาม ศาสนสถานแห่งนี้ หลวงปู่หล้า เขมปัตโต ท่านเป็นผู้นำศรัทธา ในการสร้างเพื่อถวายไว้เป็น ศาสนสมบัติ หลวงปู่หล้า เขมปัตโต ท่านเป็นพระธุดงคกรรมฐานที่ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติตรง ธรรมเทศนาของท่าน เป็นธรรมะพระป่าที่เข้มข้นตรงไปตรงมา
หลวงปู่หล้า เขมปัตโต ในปัจฉิมวัย ท่านอาพาธด้วยโรคาพยาธิ และในที่สุด ท่านมรณภาพ ด้วยอาการสงบ เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2539 ก่อนมรณภาพ ท่านขอให้ตั้งศพบำเพ็ญกุศล เพียง 3 วัน จากนั้นให้ฌาปนกิจอย่างเรียบง่าย ชีวิตสมณะของหลวงปู่หล้า เขมปัตโต เป็นชีวิตพระป่า พระธุดงคกรรมฐานที่องอาจ กล้าหาญเด็ดเดี่ยว แต่นอบน้อมต่อครูอาจารย์ผู้มีพระคุณเป็นที่สุด
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น