ชั้นเชิงการปฏิบัติทางจิต
โดย พระครูเกษมธรรมทัต (สุรศักดิ์ เขมรสี)
นมตถุ รตนตตยสส ขอถวายความนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
ขอความผาสุก ความเจริญในธรรม จงมีแก่ญาติสัมมาปฏิบัติธรรมทั้งหลาย
ต่อไปนี้จะได้ปรารภธรรมะตามหลักคำสั่งสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
แด่ท่านผู้ที่ประพฤติปฏิบัติธรรม
การที่ประพฤติปฏิบัติธรรมอยู่ก็อาจจะมีสภาวะมีปัญหามีสิ่งต่าง ๆ
อะไรเกิดขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่เริ่มปฏิบัติใหม่ ๆ
ส่วนมากก็จะเกิดนิวรณ์มารบกวนจิตใจ เราจะแก้ไขได้อย่างไร
นิวรณ์ แปลว่าเครื่องกั้นความดี
เมื่อเกิดขึ้นก็ทำให้ความดีคือสติสมาธิปัญญาถูกตัดรอนไป
ท่านว่านิวรณ์นั้นเป็นธรรมฝ่ายอกุศลคือฝ่ายไม่ดี
ส่วนสติสมาธิปัญญาเป็นธรรมฝ่ายกุศลเป็นธรรมฝ่ายดี
เมื่อนิวรณ์เกิดขึ้นก็มาทำลายหรือมาตัดรอนมาขัดขวางสติสมาธิปัญญาไม่ให้
เจริญก้าวหน้าไปแต่ถ้าหากว่าเราเป็นผู้ฉลาดทำตามคำสอนที่พระพุทธเจ้าได้แนะ
แสดงสั่งสอนไว้ ก็สามารถจะเอานิวรณ์มาเป็นประโยชน์ได้
แม้ว่าจะเป็นธรรมฝ่ายไม่ดีเป็นอกุศลก็ตาม
ถ้าฉลาดก็สามารถเอาอกุศลเหล่านั้นมาเป็นคุณได้ มาเป็นประโยชน์ได้
เป็นคุณได้อย่างไร ก็เป็นคุณโดยการที่เอามาเป็นกรรมฐาน
เอานิวรณ์เป็นกรรมฐาน คำว่ากรรมฐานก็คือที่ตั้งของสติ
เอามาเป็นที่ตั้งของสติ มาเป็นที่อาศัยระลึกรู้ของสติ
คือเจริญสติเข้าไประลึกรู้นิวรณ์ต่าง ๆ ที่กำลังปรากฏ
นิวรณ์เหล่านั้นก็จะเป็นสิ่งที่ถูกรู้หรือเป็นสิ่งที่ตั้งของสติ
สติตามระลึกรู้ในนิวรณ์ต่าง ๆ ที่กำลังปรากฏ
เรียกว่าธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน
คือสติตามระลึกรู้เท่าทันนิวรณ์หรือธรรมที่กำลังปรากฏอยู่เนือง ๆ
ซึ่งจะเกิดขึ้นสำหรับผู้ที่กำลังจิตใจฝึกฝนอบรมใหม่ ๆ
นิวรณ์มีห้าประการคือ
1.กามฉันทนิวรณ์ ได้แก่ความกำหนัดยินดีในกามคุณอารมณ์ จิตใจเลื่อนไหลใฝ่ฝันในรูป เสียง กลิ่น รส โพฎฐัพพะ ที่น่าใคร่น่าปรารถนา
2.พยาปาทนิวรณ์ ความพยาบาทอาฆาตมาดร้าย เกิดปฏิฆะเกิดความคับแค้นในจิตใจขึ้นมา
3.อุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์ ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ
ฟุ้งซ่านก็เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง รำคาญใจก็เป็นอีกอันหนึ่ง
ฟุ้งซ่านด้วยรำคาญใจด้วย ฟุ้งซ่านก็คือจิตใจซัดส่ายไปในอารมณ์ต่าง ๆ
รำคาญก็หงุดหงิด ประการต่อไปก็คือ
4.ถีนมิทธนิวรณ์ ความหดหู่ท้อถอยง่วงเหงาหาวนอน แล้วก็ประการที่ห้าก็คือ
5.วิจิกิจฉานิวรณ์ ได้แก่ ความสงสัยลังเลใจ
นิวรณ์เหล่านี้เกิดขึ้นได้สำหรับปุถุชนที่จิตยังไม่มีสมาธิพอ ก็มีนิวรณ์เกิดขึ้นได้
วิธีแก้นิวรณ์นั้น ในส่วนของการเจริญสมถะก็มีอุบายหลาย ๆ อย่าง
แต่ในที่นี้จะกล่าวเน้นมาสู่การเจริญวิปัสสนา คือแก้ในทางของวิปัสสนา
การแก้โดยวิธีการวิปัสสนานั้น ก็มีหลักอยู่ว่า
เมื่อสิ่งใดเกิดขึ้นให้กำหนดรู้สิ่งนั้น
นิวรณ์อันใดเกิดขึ้นก็เจริสติระลึกรู้นิวรณ์อันนั้นที่กำลังปรากฏ
การเข้าไปรู้จะต้องมีท่าทีที่ถูกต้อง คือรู้อย่างวางเฉย รู้อย่างปรกติ
ไม่ใช่รู้ด้วยความเกลียดชัง ไม่ใช่รู้ด้วยการผลักไส ไม่ใช่รู้ด้วยการบังคับ
ไม่ใช่รู้ด้วยการอยากให้มันหายไป หรืออยากให้มันเป็นอย่างนั้นอย่างนี้
จะต้องมีท่าทีที่ถูกต้อง คือระลึกรู้ด้วยความปล่อยวาง
ระลึกรู้ด้วยความวางเฉย ระลึกรู้ด้วยจิตใจที่เป็นกลางไม่ยินดีไม่ยินร้าย
อันนี้ก็เป็นส่วนสำคัญที่ผู้ปฏิบัติจะต้องรู้ตัวรู้ใจ
รู้การปฏิบัติว่าเจริญสติเข้าไประลึกรู้ตรงไหมแล้วก็ถูกต้องไหม ตรง
ก็หมายถึงตรงตัวของนิวรณ์ของสภาพธรรมเหล่านั้นที่กำลังปรากฏ
เรียกว่าเข้าไปจดลักษณะ จดสภาวะ จดธรรมชาติ จดอาการ จดปฏิกิริยา
จดความจริงของธรรมชาติเหล่านั้น เรียกว่ากำหนดได้ตรงตัว แล้วก็ถูกต้อง
ก็คือการวางเฉยปรกติเป็นกลางได้ อันนี้จะต้องคอยสังเกตดูตัวเอง
สังเกตดูจิตใจตนเองและคอยปรับคอยผ่อนให้ถูกต้องอยู่เสมอ ๆ
เพราะว่าทุกสิ่งทุกอย่างนั้นมีความเปลี่ยนแปลงมีความไม่คงที่
ตัวสติสัมปชัญญะก็เป็นธรรมชาติที่ต้องเกิดดับเปลี่ยนแปลงเช่นเดียวกัน
เพราะฉะนั้นจะต้องมีการเฝ้าระวังและคอยเฝ้าปรับอยู่เสมอ
คอยเฝ้าดูรู้เท่าทันคอยสังเกต คอยพิจารณาอยู่ตลอดเวลา
ฉะนั้น หลักการของวิปัสสนาจึงไม่ได้มีอะไรยุ่งยาก
ไม่ต้องไปคิดนึกหาอุบายอะไรทั้งหมด เพียงแค่ระลึกรู้สิ่งต่าง ๆ
ที่กำลังปรากฏด้วยความปรกติเท่านั้นเอง
ไม่ว่าจะเป็นนิวรณ์ข้อไหนเกิดขึ้นก็เข้าไปรู้สิ่งเหล่านั้น
ดูอาการดูปฏิกิริยาเขาเกิดขึ้นเขาจางลงเขาคลายลงหรือเขาสลายหายไป
นี่เข้าไปรู้ ไม่ว่าจะเป็นราคะเกิดความรักความใคร่ความกำหนัดยินดี
ก็เข้าไปรู้อาการความรู้สึกที่กำลังปรากฏ
มันเกิดมันแรงขึ้นหรือมันเบาลงมันจางลงหรือมันคลายไป หรือมันสลายหายไป
โดยปรกติแล้วเมื่อสติสัมปชัญญะเข้าไปดู เข้าไปรู้ เข้าไปดูเข้าไปรู้
เขาก็จะแก้ไขกันเองโดยธรรมชาติ เรียกว่าเอาธรรมฝ่ายดีเข้าไปสลับ
การเข้าไปรู้นั่นน่ะมันจะไปเกิดแทน เกิดแทน ๆ
แต่ว่าความรู้สึกของผู้ปฏิบัติก็เหมือนว่าสิ่งเหล่านั้นยังไม่หาย
เข้าไปดูแล้วยังไม่หาย เช่น เราเกิดโทสะเกิดความแค้นเกิดความรู้สึกไม่พอใจ
สติสัมปชัญญะเข้าไปดูจรดลักษณะของความไม่พอใจ
ปฏิกิริยาที่มีความคับข้องคับแค้นนั้น ดูให้ตรง
แต่ก็รู้สึกว่ามันก็ยังเกิดอยู่มันก็ยังมีความโกรธอยู่
ยังมีความไม่สบายใจอยู่ ก็ต้องพิจารณาว่า ดูนั้นดูปล่อยวางไหม ดูวางเฉยไหม
ถ้าปรับถูกต้องก็จะพบว่าอาการของความโกรธความแค้นจะจางให้ดูหรือว่าคลายให้
ดู คือสติสัมปชัญญะที่เข้าไปดูยังไม่มีความคมกล้า
ยังไม่มีความถูกต้องสมบูรณ์แบบ หรือว่ายังไม่เกิดต่อเนื่อง
ยังไม่มีความต่อเนื่อง
มันก็เหมือนกับว่านิวรณ์เหล่านั้นยังเกิดอยู่ยังแสดงอาการอยู่
ต่อเมื่อใช้ความพากเพียรดูไปรู้ไป อดทนอดกลั้น วางเฉย
จะเห็นธรรมเหล่านั้นมีการเปลี่ยนแปลงให้ดู มีความจางคลายให้ดู
มีความเกิดมีความดับไปให้เห็น บางทีมันก็ดับ
วู้บ.......ลงไปทันที ถ้าสติสัมปชัญญะของเรามีความคมกล้า
รู้ได้จดตรงตัวมันจริง ๆ ปล่อยวางจริง ๆ
ความโกรธเหล่านั้นจะแสดงอาการวู้บหายไป ก็พบว่า อ้อ !
สิ่งเหล่านี้มีความหมดไปไม่เที่ยงเหมือนกัน ดับไปเช่นเดียวกัน
บังคับไม่ได้เช่นเดียวกัน
ไม่ว่าจะเกิดความง่วงเหงาหาวนอน เกิดความท้อถอยก็ตาม ก็กำหนดรู้
รู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เวลามันเกิดความง่วงความท้อถอย มันมีอาการอย่างไร
มีความรู้สึกอย่างไร มีปฏิกิริยาอย่างไรในจิตและในกาย
จิตรู้สึกอาการอย่างไรที่ท้อถอย ทางกายรู้สึกอย่างไรที่มีการง่วง
มีทุกข์ไหม เวลาง่วงมันจะเกิดความทุกข์ มีทุกขเวทนาเกิดขึ้น
ในสมองจะมีความล้าความมึนความซึม จิตใจท้อถอย
นี่ก็เข้าไปรู้เข้าไปพิจารณาสังเกตสิ่งเหล่านั้นด้วยความวางเฉย ดู ดู ไป
เขาก็จะแสดงอาการคลี่คลายให้ดูหรือสลายตัวให้ดู
ก็เกิดเป็นความโปร่งความโล่ง ความตื่นตัวขึ้นมาแทนที่
นั่นคือวิธีการของวิปัสสนาโดยไม่ต้องหาอุบายหาเรื่องอะไรมาคิดมานึกมาสอนใจ
อะไรทั้งหมด ไม่ต้องเสียเวลาอะไร
อะไรเกิดขึ้นก็รู้อันนั้นทันทีไม่ต้องคิดอะไรทั้งหมด ราคะเกิดขึ้นดูราคะ
โทสะเกิดขึ้นดูโทสะ ง่วงเกิดขึ้นก็ดูความง่วง
เวลามันง่วงจิตมันบางครั้งหมดความรู้สึกไปเพราะว่าหลับ
นั่งนี่บางทีเราก็หลับได้ นั่งหลับได้นะ ถ้านั่งหลับสัปหงก
พอรู้สึกตื่นก็กำหนดดูความหลับ ดูความหลับดูความตื่น จะจับมันได้หยก ๆ
จะเห็นความหลับไปหยก ๆ คือพอตื่นก็คว้าเอาความหลับมาสังเกตได้ทัน
ทันได้นิดหนึ่ง
เราจะเห็นความต่างกันระหว่างความหมดความรู้สึกกับการมีความรู้สึก
ถ้าเราดูอย่างนี้บ่อย ๆ เราก็จะเป็นผู้ที่ไม่นั่งหลับสัปหงก
จะเป็นผู้ที่มีจิตใจตื่น รู้ตัวทั่วพร้อมได้
รู้ทันนี่มันจะทำลายจะทำให้ความง่วงถูกกำจัดไป
หรือว่ามันเกิดความฟุ้งซ่าน ฟุ้งซ่านรำคาญใจ ก็กำหนดรู้ความฟุ้งซ่าน
กำหนดดูความฟุ้งซ่านรำคาญใจ แต่ให้ดูด้วยความวางเฉย
อย่าไปดูด้วยความคิดว่าขอให้สงบขอให้สงบ
อย่างนี้เป็นการไปเติมเชื้อเพลิงเข้าไปอีก เป็นการไปเติมเชื้อกิเลส
ถ้าเราดูด้วยความอยากสงบ ความอยากนั้นเป็นกิเลสเป็นตัณหา
ตัณหามันก็เป็นพวกเดียวกัน
หรือว่าถ้าจะอุปมาแล้วความฟุ้งซ่านความโกรธมันเป็นไฟ
ตัณหามันก็เป็นเชื้อเพลิง
เราจะดับไฟแต่เราใส่เชื้อเพลิง มันก็ยิ่งลุกกันใหญ่
เราจะสังเกตได้ถ้าหากว่าฟุ้งแล้วไปกำหนดด้วยความอยากให้มันหายอยากจะสงบ
มันจะรู้สึกฟุ้งซ่านมากขึ้น มันจะเกิดความเดือดดาลใจคับแค้นใจมากขึ้น
จะรู้สึกว่าไม่เป็นดังใจ พอไม่เป็นดังใจมันก็ยิ่งฟุ้ง
มันยิ่งโกรธยิ่งไม่สบายใจ โกรธใจตัวเอง โกรธตัวเองว่าทำไมทำไม่ได้สงบ
ฟุ้งซ่านหงุดหงิดรำคาญ มันเป็นไฟด้วยกันมันเป็นเชื้อกัน
เพราะฉะนั้นเวลาฟุ้ง กำหนดดูความฟุ้งด้วยความวาง
ต้องสังเกตให้ดีว่ากำหนดด้วยความปล่อยวางให้เป็น คล้าย ๆ ดูเขาไปเฉย ๆ
อย่างงั้นแหละ ที่เขาแสดงอาการฟุ้งอาการเร่าร้อน ดูเขาไปด้วยความอดทนวางเฉย
ส่วนมากเรามันจะทนไม่ไหว กระสับกระส่ายโกรธเกลียดชัง
ฉะนั้นเราต้องอดทนในระยะแรก ๆ แล้วเราจะดับไฟได้ เหมือนกับว่าไฟมันกำลังลุก
เราจะดับไฟเราก็ต้องหันหน้าเข้าไปมันก็ต้องเจอความร้อน
ถ้าเราหลบเลี่ยงไม่อดทนมันก็ดับไม่ได้
เราหันไปดูกิเลสนี่ ไปดูโทสะไปดูความฟุ้งซ่าน มันรู้สึกว่าเป็นทุกข์มันร้อน
ก็ต้องอดทน วางเฉย ข่มใจ ควบคุมให้ปรกติ ไม่กระวนกระวายด้วย
ไม่กระสับกระส่ายด้วย ไม่เกลียดชังด้วย ก็จะเป็นการดับไฟที่ถูกต้อง
ไฟก็จะคลี่คลายจะมอดให้ดูฉะนั้นไฟเมื่อมันลุกมามาก
แล้วจะให้มันดับทันทีมันก็ไม่ได้ ก็ค่อย ๆ ดับลง
มันก็ยังมีความร้อนอยู่จนกว่ามันจะดับสนิทมันก็เย็น
เพราะฉะนั้นการปฏิบัติมันต้องมีขันติความอดทน มีวิริยะพากเพียร
มีการพิจารณาการใส่ใจ การปล่อยวาง การวางท่าทีอย่างถูกต้อง
ท่าทีที่ถูกต้องก็คือการรู้จักวางเฉย รู้จักปล่อยวาง รู้จักทำให้เป็นปรกติ
กำหนดเข้าไปรู้ทุกข์นี่จะต้องวางใจเป็นปรกติไม่กระวนกระวายไม่กระสับกระสาย
ไม่ยินดียินร้ายด้วย แล้วสภาวธรรมเหล่านั้นเขาก็จะคลี่คลายตัวให้เห็น
เปลี่ยนแปลงให้เห็น จางคลายให้เห็น ดับไฟให้เห็น
หน้าที่ของการปฏิบัติคือการเข้าไปเรียนรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง
ไม่ใช่มีหน้าที่ไปดับมันหรอก
จริงอยู่เป้าหมายผลรับผลสุดท้ายก็คือสามารถจะดับไฟสิ้นเชิง
แต่ว่าระหว่างที่ทำวิธีการดับนี่ไม่ต้องไปคิดให้มันดับ
แต่ทำหน้าที่ไปให้ถูกต้องคือ
เรียนรู้ก่อนให้รู้จักสภาพธรรมเหล่านั้นตามความเป็นจริง เขาเกิดอย่างไร
เขาปรากฏอย่างไร เขามีเหตุมีปัจจัยกันอย่างไร แสดงอาการอย่างไร
ก็ดูไปอย่างนั้นน่ะ ดูเขาด้วยความวางเฉยน่ะเป็นวิธีการดับ
แต่ถ้าดูด้วยความไม่วางเฉยมันเป็นการไม่ใช่เอาน้ำไปดับอย่างเดียว
มันเอาเชื้อเพลิงเข้าไปด้วย น้ำด้วยน้ำมันด้วย
ก็เลยดับได้ยากหรืออาจจะดับไม่ได้ ฉะนั้นต้องดูด้วยการวางเฉย
การดูด้วยความวางเฉยนี่เรียกว่ามันจะเป็นน้ำล้วน ๆ เป็นสิ่งที่จะดับไฟ
ฉะนั้นนิวรณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น กามฉันทนิวรณ์
ซึ่งเกิดมาจากความตรึกนึกความดำริความคิดความตรึกขึ้นมาก่อน ไม่รู้ตัวทีแรก
หรือรู้ตัวก็ปล่อยให้เพลิดเพลินกับความคิดเหล่านั้น กามฉันทะก็เกิดขึ้น
ถ้าหากว่ารู้ทันไม่ปล่อยให้กระแสจิตเป็นไปด้วยความตรึกนึกมันก็ดับลง
รู้ความตรึกนึกเสียมันก็ดับลง
แต่ถ้าหากว่าปล่อยแล้วอาการมันเกิดขึ้นแล้วก็ถือว่าไฟมันลุกแล้ว
ก็ต้องกำหนดดูไฟที่มันร้อนมันแรงมันมีปฏิกิริยาอย่างไร ไฟคือราคะ
ราคะก็เป็นไฟ โทสะก็เป็นไฟ โมหะก็เป็นไฟ
มันให้ความร้อนให้ความเดือดร้อนในจิตใจ
ก็ต้องดับด้วยการไม่นึกว่าจะให้มันดับ
คือดับด้วยการรู้อย่างปรกติรู้อย่างปล่อยวาง สังเกตเข้าไปเฉย ๆ เขาเกิด
เขาจาง เขาคลาย หรือว่าทำอย่างนี้ อ้าว มันเกิดแรงขึ้น
ปล่อยวางอย่างนี้มันจางลงมันดับลง ก็ให้เห็น
มันดับไปแล้วก็รู้อาการธรรมชาติของจิตใจที่ว่างเปล่าจากกิเลสเหล่านั้น
จิตที่กิเลสมันหลุดไป นิวรณ์มันหลุดไปจากจิตใจ
มันคลายมันสิ้นไปจากใจมันมีสภาพอย่างไร
มันโปร่งมันเบามันผ่องใสมันเยือกเย็นก็ดูรู้เท่าทัน
การกำหนดอย่างนี้ก็เรียกว่าเป็นการดูสภาพธรรม เป็นธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน
หรือว่าเป็นจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน
ดูจิตใจของตนเองที่มันจะมีกิเลสสภาพธรรมต่าง ๆ เข้ามาเกิดร่วมก็อยู่ด้วยกัน
นิวรณ์กับจิตมันเกิดด้วยกัน ราคะก็เกิดอยู่ที่จิต โทสะก็เกิดอยู่ที่จิต
โมหะก็เกิด ฟุ้งซ่านหงุดหงิดรำคาญสงสัย ท้อถอยก็อยู่ที่จิต
สิ่งเหล่านี้มันเป็นเจตสิก ราคะโทสะโมหะฟุ้งซ่านรำคาญสงสัยเป็นเจตสิก
ธรรมที่เกิดร่วมอยู่กับจิต แล้วแต่เราจะพิจารณาในแง่ไหน
พิจารณาในแง่สภาพธรรมในจิตเรียกว่าเป็นธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน
ถ้าพิจารณาเอาจิตมาเป็นประธานว่า
จิตนี้มีสิ่งใดประกอบก็เรียกว่าเป็นจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน
หรือจะดูจิตเฉพาะจิตตรง ๆ ตรงตัวก็ดูสภาพของจิตที่รับรู้อารมณ์
ดูกิริยาของจิต ในภาษาธรรมะท่านเรียกว่าดูลักษณะของจิต
แต่ถ้าพูดภาษาที่สื่อแล้วเข้าใจได้ง่ายก็คือ สังเกตกิริยาของมัน
จิตมันมีการเคลื่อนไหวและการรับรู้อารมณ์ เปลี่ยนอารมณ์รับรู้อารมณ์
ส่วนคุณสมบัติในจิตที่มันมีอาการปฏิกิริยาเรียกว่าเป็นสภาพธรรม
พิจารณาธรรมในธรรม ถ้าเราดูที่กิริยาของจิตเห็นจิตรับรู้อารมณ์
รู้อารมณ์หมดไป รู้อารมณ์หมดไป แกว่งไกวไหวสู่อารมณ์นั้นหมดไป
รู้อารมณ์นี้หมดไป อันนี้ก็จะดูยากขึ้น
ดูลักษณะดูกิริยาของจิตที่มีสภาพรับรู้อารมณ์
ถ้ามันหยาบขึ้นเราก็ดูง่าย อ้อ นี่จิตมันคิดนึก จิตที่มันคิดในเรื่องนั้น
เรื่องนั้น ๆ เรียกว่ามันหยาบขึ้น ก็รู้ความคิด รู้ความคิดเช่น
จิตมันคอยตรึกนึกไปในเรื่องกาม
ก็รู้ทันหรือมันคิดเพลินไปถึงคนนั้นคนนี้ต่าง ๆ ก็รู้ที่ความคิด
อย่างนี้ก็เรียกว่ารู้ที่จิตเหมือนกัน แต่ถ้าจิตมันละเอียดขึ้น
เมื่อประพฤติปฏิบัติจิตใจอยู่กับเนื้อกับตัวมีสติมีสมาธิครองอยู่
จิตไม่ได้คิดนึกอะไรออกไป
จิตกำลังมีสติรับรู้ดูสภาวธรรมอยู่หรือว่าขณะนั้นจิตมีความสงบอยู่
จิตกำลังมีอารมณ์เป็นความว่างอยู่ก็ตาม
ก็จะดูยากขึ้นอีกเพราะว่าจิตไม่ได้คิดนึกอะไร
จิตกำลังมีอารมณ์เป็นความว่างอยู่ก็ตาม
ก็จะดูยากขึ้นอีกเพราะว่าจิตไม่ได้คิดนึกอะไร
จิตกำลังรับรู้สภาวะก็เป็นสภาพของจิตที่กำลังรับรู้อารมณ์เช่นเดียวกัน
ก็ต้องพิจารณาต้องกำหนดต้องสังเกตสิ่งเหล่านี้ไป
ที่นี้ปัญหาของผู้ปฏิบัติบางท่านก็เกิดความเคร่งเครียดทางร่างกาย
ร่างกายมีความเคร่งตึงโดยเฉพาะถ้าปฏิบัติมาหลาย ๆ วันก็จะรู้สึกว่า
บางคนก็มีความเคร่งตึง เคร่งตึงที่ศีรษะใบหน้าลำคอ บางคนก็แน่นตึงหน้าอก
อันนี้ก็เกิดจากการที่การเจริญสตินั้น ขาดความเป็นปรกติมาแต่ต้น
คือทำสติด้วยการเข้าไปบังคับเข้าไปจดจ้องบังคับ เช่น
บังคับลมหายใจโดยไม่รู้ตัวก็เกิดความอึดอัดแน่น หรือบางคนก็เจ็บที่ทรวงอก
เจ็บที่หัวใจกล้ามเนื้อหัวใจ บางคนเพ่งจิตแต่ไปจับที่หัวใจก็เจ็บ
หรือว่ากำหนดลมหายใจไม่ได้ผ่อนคลาย ลมเข้าไปก็ไปค้าง
ลมเข้าไปใหม่เข้าไปยันกันไปก็เกิดการเจ็บ
ล้วนแล้วแต่เรื่องของการที่ไม่ได้ปล่อยวางให้เป็นปรกติ
การดูด้วยการจับจ้องบังคับจะเอาให้ได้โดยไม่รู้ตัวว่า
นั่นคือการบังคับที่จะจับอารมณ์จับสภาวะให้ทันให้ทัน
ก็เกิดการเข้าไปเข้มงวด
ระบบสมองก็เกิดความบีบตัวให้เกิดความตึงให้เกิดความเกร็งในสมอง
กลายเป็นการปฏิบัติแล้วยิ่งเครียด ก็เป็นการไม่ถูกต้อง
ที่จริงการเจริญวิปัสสนาเป็นเรื่องของการคลี่คลายความเครียดในตัว
ถ้าปฏิบัติถูกต้องแล้วสมองจะต้องคลี่คลาย จิตใจจะต้องโปร่งจะต้องเบา
ถ้าปฏิบัติแล้วสมองเกร็งเคร่งเครียดแสดงถึงว่าไม่ถูกต้องในการเข้าไปวางท่า
ที
...........แก้ปัญหาให้ตัวเองไม่ได้ แล้วก็ไม่รู้ว่าใครจะแก้ให้ได้
ไม่มีใครเขามาทำให้เราได้ เราฟังคำสอนแล้วเราก็ต้องแก้ของเราเองได้
ต้องคลี่คลายต้องวางให้นุ่มนวลละเอียดในการไม่ฝืน
คือถือหลักว่าจะต้องไม่ฝืน จะต้องไม่มีการเข้าไปบังคับ
ไม่มีการฝืนไม่มีการบังคับโดยเด็ดขาด
ถ้ามีการบังคับนิดหนึ่งก็จะเกิดแล้วถ้าเรามีอาการที่ติดอยู่
เพราะฉะนั้นเราจะต้องเริ่มต้น วางท่าทีตั้งแต่ต้นใหม่
ทำเหมือนไม่ได้ทำคือไม่ตั้งใจจะทำ ปล่อยวางทุกอย่าง ทำเป็นธรรมดา ค่อย ๆ
เป็นค่อย ๆ ไป ถ้าหากว่าเข้าใจเมื่อมันเกิดความเคร่งตึง
สติเข้าไปรู้ความเคร่งตึงนั้น ผ่อนไป ผ่อนตามไป
รู้สึกมันจะเคลื่อนไปตรงไหนก็ผ่อนไปเคลื่อนไปผ่อนไป
ความรู้สึกว่าจิตจะเคลื่อนไปตรงไหนก็รู้ตรงนั้น ผ่อนไปตรงนั้น
เคลื่อนไปตรงไหนก็รู้ไปตรงนั้นไม่มีการฝืน ไม่ฝืนทางกายและก็ไม่ฝืนทางจิตใจ
ไม่มีการบังคับจิตว่าจะต้องมาดูเฉพาะตรงนี้
ความรู้สึกมันเคลื่อนไปตรงนู้นก็ต้องผ่อนไปตรงนู้นผ่อนไปตรงนั้น
มันก็เหมือนกับเราคลายสะสางสิ่งที่มันยุ่งเหยิงน่ะ
ผ่อนไปผ่อนมามันก็หลุดไปหมด ต้องสังเกตดูว่าต้องไม่ฝืน
แล้วก็มีวิธีแก้อีกอย่างหนึ่ง คือการน้อมใส่ใจดูเฉพาะจิตเท่านั้น
คือการที่ไม่ดูกายแต่อันนี้ก็เป็นเรื่องที่ต้องเข้าใจในการดูจิต
ต้องจับจิตดูจิตเป็น คือน้อมเข้าไปดูที่จิต อาจจะมีการฝืน ๆ หน่อย
แต่ว่าฝืนแบบเลี่ยงคือเสี่ยงทางกาย
เพราะว่าเอาจิตใจไปดูกายแล้วมันบังคับมันไปสะกดก็เลี่ยงมาดูที่จิต ดูจิตใจ
ดูจิตใจ เหมือนกับว่าทิ้งความรู้สึกทางกาย ดูที่จิตไปจนรู้สึกมีสมาธิขึ้น
เบา กายจะเบาคลี่คลาย สมองคลี่คลายจิตใจคลี่คลาย
ก็กลับผ่อนมาเป็นปรกติรับรู้ทางกายทางจิตใจ
อาการเหล่านั้นก็คลี่คลายไปได้เช่นเดียวกัน
แต่การน้อมเข้าไปดูจิตนั้นก็ไม่ใช่ไปกดข่มนะ น้อมรู้เบา ๆ สัมผัสเบา ๆ
เพียงแต่ว่าเบี่ยงเบนไม่ดูกาย อันนี้ก็เป็นวิธีหนึ่ง
หรือถ้าใครเป็นน้อย ๆ แน่นตึงหน้าอกนี่ อาจจะใช้คำสมมติมาช่วยก็ได้
ถ้ายังทำจิตวางปล่อยไม่เป็น คำที่จะมาช่วยได้ก็คือคำว่า ปล่อยวาง
คำว่าไม่เอาอะไร คำว่าปรกติ คำว่าคลี่คลาย เหล่านี้เป็นต้น
คำไหนที่มันถนัดมันกินใจก็เอาอันนั้นน่ะ ทำความรู้สึกในใจสอนใจตัวเองว่า
ปล่อยวาง ปล่อยวาง หรือไม่เอาอะไร ไม่เอาอะไร ไม่เอาอะไร คลี่คลาย ปล่อยวาง
คลี่คลายปรกติ อาการเหล่านั้นก็จะคลี่คลายได้
แต่ถ้าเป็นการเจริญเดินหน้า เจริญวิปัสสนาเดินหน้า
ก็ไม่มีการหลบเลี่ยงอะไรทั้งหมด ไม่มีคำบริกรรมอะไรทั้งหมด
แต่รับรู้รับทราบสภาวะที่เกิดขึ้นด้วยความปล่อยวางด้วยความปรกติ เช่น
มันตึงก็รับรู้ มันตึงกายตึง ก็รับรู้จิตใจก็รับรู้ รับรู้กายรับรู้ใจ
แต่ว่าไม่ฝืนไม่บังคับ ปล่อยวางคลี่คลาย คือไม่หลบไม่หนีแต่ก็ไม่ได้บังคับ
ไม่ได้ยินดียินร้าย วาง
ก็จะเป็นวิปัสสนาไปในตัว เรียกว่า สติกำหนดดูสภาพธรรม ความตึงความเจ็บ
ความตึงความแข็ง ทุกขเวทนาเหล่านั้น แต่ว่าวางได้ สิ่งเหล่านั้นก็คลี่คลาย
คลี่คลายพร้อมด้วยเกิดปัญญาเห็นสภาวะเห็นความจริงของสิ่งเหล่านี้
มีความเกิด มีความดับมีความแปรไป มีสภาพบังคับบัญชาไม่ได้
ไม่ใช่ตัวตนเช่นเดียวกัน อันนี้ก็บอกวิธีไว้ต่าง ๆ
ที่นี้บางท่านปฏิบัติไปก็ไม่ได้เคร่งเครียดไม่ได้เคร่งตึง จิตใจมีความสงบดี
จิตมีความสงบดื่มด่ำเป็นสุข แต่ว่าทำไปแล้วมันไม่มีอะไร มันว่างไปหมด
ทุกสิ่งทุกอย่างว่างเปล่า จิตใจสงบเป็นสุข ว่าง แต่ก็ไม่เห็นมันไปยังไง
อยู่ยังงั้น ก็เรียกว่าเราทำมีสมาธิเกิดสมาธิเกิดความสงบ สภาวธรรมต่าง ๆ
ละเอียด มีความละเอียด ลมหายใจละเอียด ความรู้สึกทางกายมันละเอียด
มันละเอียดมาก ๆ ก็จับมันไม่ออก สติระลึกรู้ไม่ออก
เมื่อระลึกรู้ไม่ออกก็กลายเป็นความว่าง จิตไปรับอยู่ที่ความว่างเปล่า
ไม่มีอะไร อยู่อย่างนั้นเป็นสุข
อย่างนี้มันก็ไม่สามารถจะเจริญวิปัสสนาไปได้
วิปัสสนามันก็ไม่ก้าวหน้าเช่นเดียวกัน
มันอยู่แค่นั้นอยู่แค่ความสงบแค่ความสุข มันไม่เป็นปัญญา ไม่เกิดปัญญา
ไม่เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่เห็นความเกิดดับ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
เพราะอะไร เพราะว่าสติจิตใจไม่ได้รู้อยู่ที่สภาวปรมัตถ์
มันไปรู้อยู่กับความว่างเปล่า
ความว่างเปล่ามันไม่ได้เป็นสภาวะไม่ได้เป็นปรมัตถธรรม
มันก็ไม่มีการเกิดดับอะไรให้ดู มันก็เฉย ๆ อย่างนั้น
มันก็ไม่เกิดปัญญาไม่เกิดวิปัสสนา ความว่างเปล่าไม่ได้เป็นสภาวปรมัตถ์
ไม่ใช่รูปไม่ใช่นาม ไม่ใช่ขันธ์ห้า มันเป็นสมมติอย่างหนึ่ง
ความว่างเปล่าน่ะเป็นสมมติอย่างหนึ่ง
เพราะฉะนั้นจะทำอย่างไรให้มันเกิดสติปัญญาขึ้น
ผู้ปฏิบัติก็จำเป็นที่จะต้องโยนิโสมนสิการ ทำรู้ให้ตรงแยบคาย
คือจะต้องสังเกตสภาวปรมัตถ์ในขณะนั้น ๆ ให้ออกให้ได้
ในขณะที่จิตมีความสงบไปรู้อยู่กับความว่างเปล่านั้น
ถามว่าขณะนั้นมีสภาวปรมัตถ์อะไรเกิดขึ้น มี มีสภาวปรมัตถ์เกิดอยู่
แต่เนื่องจากว่าจูนมาไม่ตรงไม่ถูก หรือ โยนิโสมนสิการไม่ถูก
มันเลี่ยงมันดูไปทางอื่น มันหันการรับรู้มาไม่ถูก
มันก็เลยไม่เห็นสภาวปรมัตถ์
อะไรเป็นสภาวปรมัตถ์ที่กำลังปรากฏอยู่ขณะนั้น ก็คือจิต จิตมีอยู่ตลอดเวลา
จิตเกิดดับอยู่ตลอดเวลาพร้อมกับเจตสิก จิตเจตสิกเกิดดับร่วมกันอยู่ตลอดเวลา
ถามว่าจิตขณะนั้นมีลักษณะเป็นอย่างไร จิตในขณะนั้นก็คือสภาพรู้ความว่าง
อาการของจิตขณะนั้นคืออะไร คือความสุข คือปีติ คือความสงบหรือความเฉย
นี่แหละคือสภาวปรมัตถ์ ฉะนั้นถ้าหากจะกำหนดรู้สภาวปรมัตถ์ก็ต้องจูนมาให้ถูก
ในขณะที่สงบอยู่กับความว่างสติก็กลับรู้เข้ามาที่จิต ระลึกเข้ามาที่จิต
ระลึกเข้ามาที่อาการในจิต ตัวสติก็เกิดกับจิตก็เรียกว่าจิตต้องรู้จิต
จิตก็คือสภาพรู้อารมณ์ ก็คือรู้ต้องดูตัวรู้ รู้ต้องย้อนมาที่รู้
รู้ต้องย้อนมาที่ผู้รู้
ถ้ามันย้อนมาไม่เป็น มันฉุกตัวเองไม่ถูก มันรู้สึกตัวเองไม่ได้
มันก็ขยายไปแต่ความว่าง มันก็เลยไม่มีอะไร ทั้ง ๆ
ที่ยังมีตัวดูอยู่ตัวรู้อยู่ตัวรู้สึกอยู่แต่ไม่เห็น
เหมือนกับตัวเองหาอะไรต่ออะไรอยู่แต่ไม่เคยหาตัวเอง
คนนี่บางทีเดินหาโน้นหานี่หาอะไรไม่มีแต่ที่จริงแล้วตัวเองก็มีอยู่
ไม่ได้หันมาดู เราจะรู้จักตัวเองก็ต้องรู้สึกตัวขึ้น จิตก็เหมือนกัน
จิตมันจะรู้จักตัวมัน มันต้องรู้สึกตัว
จิตรู้สึกตัวของมันแล้วก็รู้ตัวมันเอง หรือว่าจิตจะต้องทวนกระแสของมัน
มันมีกระแสที่จะขยายออกไปนอก
มันก็ต้องกลับทวนกระแสเข้ามาหาตัวมันจึงจะรู้จักมัน เห็นตัวมัน
คำว่า ตัว ตัว ก็ไม่ใช่เป็นตัวรูปร่างอะไร
ไม่ใช่เป็นหุ่นเป็นทรงเป็นกลมเป็นแบน จิตเป็นเพียงธาตุรู้ สภาพรู้
รู้ในที่นี้ก็ไม่ใช่เป็นรู้แบบปัญญา แต่มันรู้อารมณ์
คำว่ารู้อารมณ์ก็คือมันรับอารมณ์ รับอารมณ์ แต่มันเร็ว
ไม่มีสรีระไม่มีรูปร่างจิต ฉะนั้นถ้าหากสติสัมปชัญญะกลับดูเขัามาที่จิตเป็น
มันจะเห็นทันทีว่าดับ คือเห็นสภาพรู้แล้วก็หมดลง คือรู้แล้วก็หมดสภาพรู้
รู้แล้วก็หมดสภาพรู้อย่างรวดเร็วมาก
เรียกว่าเข้าไปสังเกตได้นิดหนึ่งก็หมดลง เข้าไปรู้สภาพรู้ได้นิดหนึ่ง หมดลง
ก็ต้องรู้ใหม่ รู้บ่อย ๆ ก็จะเห็นจิตมีความเกิดดับ
ก็เท่ากับว่ามีปัญญามีญาณ วิปัสสนาญาณเกิดขึ้น
มีสภาวะรองรับอยู่ไม่ได้ว่างเปล่า
ถ้าหากว่าย้อนดูไม่เป็นมันก็ว่างอยู่อย่างนั้นไม่มีอะไร
ถ้าย้อนรู้เป็นจะพบว่ามีสภาวะอยู่ตลอดเวลาไม่มีว่างเว้น
มีจิตรับรู้อยู่ตลอด
ตัวสติเป็นตัวระลึกตัวสัมปชัญญะเป็นตัวพิจารณาหรือจะรวมเรียกว่าตัวดูเนี่ย
ตัวดูมันบอกไม่มีอะไรแต่ที่จริงก็มีตัวเองอยู่คือตัวดูอยู่
ก็ดูที่ตัวของตัวเอง ก็เห็นตัวเองมีลักษณะที่ดูแล้วก็หมด รู้แล้วก็หมด
รู้แล้วก็หมด
อันนี้น่ะเป็นส่วนสำคัญสำหรับนักปฏิบัติวิปัสสนาที่จะต้องก้าวเข้ามาจุดนี้
ให้เป็น
ก็จะทำให้การปฏิบัตินั้นไม่ไปตันอยู่แค่ความว่าง ๆ ไม่มีอะไร
วิปัสสนามันต้องมีรูปมีนามคือมีสภาวปรมัตถ์ให้รับให้รู้ตลอดเวลา
ขณะใดมันไม่มีให้รู้ก็แสดงว่าตกจากสภาวปรมัตถ์ จะต้องปรับถูกรู้ถูก
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นที่กล่าวมานี้ก็ไม่ใช่เราไปเข้มงวดไปจ้องไปเพ่งไปจี้ให้
เห็น ไม่ใช่การรู้จักจิตใจจะต้องมีความนิ่มนวลมีความเบา มีความสละสลวย
มีความละเอียดอ่อน
อันนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่นักปฏิบัติจะต้องฟังแล้วก็ทำความเข้าใจแล้วก็ไป
ฝึกหัด
ส่วนบางท่านบางคน ถ้าหากว่าจิตนิ่งว่างอยู่นาน ๆ ก็อาจจะเกิดนิมิตขึ้นมา
จิตสามารถจะสร้างนิมิตต่าง ๆ คือเป็นภาพ มโนภาพและให้รู้สึกว่าเป็นจริง
ให้เหมือนกับการได้เห็นภาพจริง ๆ เป็นจริง ๆ
ก็ให้รู้ว่านั่นคือนิมิตเกิดขึ้น วิธีก็คืออย่างเดียวกัน ก็คือรู้ที่จิต
เวลาเกิดเห็นนิมิตอะไรต่าง ๆ เป็นภาพอะไรต่าง ๆ ให้รู้ว่านิมิตต่าง ๆ
นั่นเป็นสมมติไม่ใช่ตัวปรมัตถ์ไม่ใช่ตัวสภาวะไม่ใช่เป็นทางเดินของวิปัสสนา
วิปัสสนานั้นจะต้องไม่มีนิมิตเครื่องหมาย
เวลาวิปัสสนาเกิดขึ้นน่ะไม่มีนิมิตเครื่องหมาย ต้องรู้ที่รูปที่นามที่สภาวะ
รูปนามสภาวปรมัตถ์นั้นมันไม่ได้เป็นภาพ ไม่ได้เป็นมโนภาพ
ไม่ได้เป็นภาพคนภาพสัตว์ภาพเหตุการณ์
ภาพรูปร่างสัณฐานอะไรมันไม่เป็นอย่างนั้น
ปรมัตถ์เป็นสภาวะเป็นความรู้สึกเป็นธาตุรู้ เป็นความรู้สึก
อย่างที่กายก็ความรู้สึกความไหว ไม่มีรูปร่าง
ทางจิตใจก็เป็นสภาพรู้สภาพรู้สึก
ฉะนั้นเวลาประพฤติปฏิบัติไปมีสติสมาธิ ลมหายใจหายไป
ร่างกายหายไปก็อย่าไปค้นหาอีก อย่าไปเที่ยวค้นหารูปร่างกาย เอ๊
ร่างกายเราอยู่ตรงไหน ขาเรานั่งอยู่ตรงไหน
อันนี้เป็นการที่เราไม่ยอมทิ้งสมมติ ไม่ยอมทิ้งชูชีพในการฝึกว่ายน้ำ
ต้องปล่อยออกไป เราเคยชินอยู่กับสมมติมานาน
เวลาสมมติมันหายไปเราก็จะรู้สึกเวิ้งว้างเราก็พยายามไปใฝ่หา
เราต้องเข้าใจเสียใหม่ว่า นั่นคือสมมติ
ให้มันหลุดออกไปเลยไม่ต้องไปค้นหาอีกแล้ว
แขนขาหน้าตาท่าทางร่างกายความหมายว่านั่งมันไม่มีก็ดีแล้ว
แต่ให้มันรู้กับความรู้สึกไว้
ไม่ใช่มันหายไปแล้วแล้วก็ไม่มีอะไรหรือว่างหมด ก็ไม่ใช่ ต้องมีอยู่
ต้องมีสภาวะอยู่ มีความรู้สึกอยู่ รู้ที่ความรู้สึกอยู่
ความรู้สึกกายที่มันบางเบา เช่น มันตึงเบา ๆ แข็ง เบา ๆ ไหว ๆ เบา ๆ
รู้สึกนิด ๆ หน่อย ๆ น่ะต้องจับรู้ เล็ก ๆ
ทั่วตัวนี่มีความรู้สึกอยู่ตลอดทั้งจิตใจให้รับรู้รับทราบอยู่กับความรู้สึก
แม้แขนขาหน้าตามันหายไป ซึ่งก็ต้องให้หายไป
ถ้ามันยังไม่หายก็แสดงว่าเรายังอยู่กับสมมติอยู่
เวลามันสู่โลกปรมัตถ์นี่มันไม่มีคนไม่มีสัตว์ ไม่มีรูปร่าง
ไม่มีความหมายไม่มีชื่อภาษาอะไรต่าง ๆ
ในเรื่องภาษาก็เหมือนกัน การที่จิตจะมีภาษาเป็นคำพูดในใจเป็นชื่อภาษา
พากย์อยู่ในใจก็คือจิตมันปรุงแต่งอยู่
มีตัวสัญญามีตัววิตกวิจารปรุงแต่งในจิตใจ มันก็มีภาษาขึ้น มีคำพูดขึ้น
บางคนรู้ไม่ทันก็เหมือนกับจิตนี่มันคุยกัน จิตมันพูดกันในจิต
พูดอย่างนี้ตอบอย่างนั้น พูดอย่างนั้นว่าอย่างนี้
รู้ไม่ทันก็กลับหลงว่าเป็นนิมิตเป็นเครื่องหมายเป็นสัตว์บุคคล
ที่จริงแล้วก็คือจิตที่คิดนั่นแหละ คิดอย่างนี้ไปอย่างนั้นคิดอย่างนี้
มันก็เป็นภาษาเป็นคำพูด
ถ้ารู้ให้ตรง
เวลาที่จิตมันมีคำพูดมีภาษาก็รู้ที่ความคิดรู้ที่ความตรึกรู้ที่ความนึกรู้
ที่ความจดจำนั่นแหละ เรียกว่ารู้เข้าไปที่ปรมัตถ์ ภาษาก็อันตรธานไป
คำพูดภาษาชื่ออันตรธาน เรียกว่าสามารถระงับความปรุงแต่ง
ความปรุงแต่งมันหยุดลงมันก็ไม่ผลิตเป็นภาษาคำพูดอะไรขึ้นมา
แต่มันก็เป็นไปชั่วระยะหนึ่งเดี๋ยวมันก็ผลิตอีก เรียกว่าปรุงแต่งอยู่
วิพากษ์วิจารณ์ภาษาขึ้นมา ถ้าปล่อยยาว ๆ ก็เรียกว่าคิดนึกเป็นเรื่องเป็นราว
ฉะนั้นผู้ปฏิบัติเมื่อปฏิบัติไปแยบคายแล้วจะเห็นต้นกำเนิดของความคิด
พอจิตมันตรึกรู้ทัน พอนึกรู้ทัน พอนึกรู้ทันมันก็นึกไปไม่ได้แล้ว
พอรู้ทันมันไม่นึกยาวออกไปแล้ว มันจะสลายตัว
มันจะทำลายความปรุงแต่งหยุดความปรุงแต่ง พอปรุงนิดรู้ทัน
ปรุงนิดรู้ทันมันก็ไม่ไปไหนแล้ว ถ้ารู้ตรงบ่อย ๆ
ปล่อยวางถูกต้องจิตก็จะเกิดสมาธิขึ้นโดยธรรมชาติ รู้ที่จิตบ่อย
ๆนี่รู้ตรงต่อความปรุงแต่งบ่อย ๆ
นี่มันจะเกิดสมาธิขึ้นมาโดยไม่ต้องไปสร้างสมาธิ
สมาธิจะเกิดจะรู้สึกว่าจิตใจสงบ ดื่มด่ำลงไปอีกระดับหนึ่ง คือว่างลงไป
แต่มันเป็นความว่างแบบมีสภาวะ
ว่างในที่นี้คือว่างจากสมมติว่างจากชื่อภาษาความหมาย จากความปรุงแต่ง
แต่มันเป็นสภาวะเป็นธาตุรู้เป็นสภาพรู้อยู่ ก็เป็นไปได้ระยะ ๆ ขณะ ๆๆ
เดี๋ยวมันก็ปรุงได้อีกมีภาษามีความหมายก็รู้อีก
นี่ก็ขอฝากไว้สำหรับท่านที่ปฏิบัติถึงในจุดนี้ก็ลองทดลอง
ทดสอบพิจารณาสังเกตสิ่งเหล่านี้ดู
ที่นี้บางท่านก็มีปัญหาเรื่องการเจ็บป่วย ปวดทางร่างกาย
นั่งไปแล้วรู้สึกมันปวด มันทุกข์ทางร่างกายจะทำอย่างไร
เวลามีทุกขเวทนาแล้วจะทำอย่างไร
การเจริญวิปัสสนานั้นน่ะก็จะต้องกำหนดรู้ทุกข์ ปล่อยวางในทุกข์
ทุกขเวทนาเกิดขึ้นที่ร่างกายสติระลึกรู้แล้วก็ดูจิต
เหมือนกับว่าจะพยายามรักษาจิตไม่ให้จิตไปกระวนกระวายกับทุกข์ทางร่างกาย
เหมือนกับว่าปวดก็รู้อยู่ว่าปวดอยู่แต่ใจก็วางเฉยไม่เกร็งตัว
ร่างกายไม่เกร็งเวลาปวด ถ้าเราเกร็งแสดงว่ายังไม่ปล่อยวาง
ต้องหัดปล่อยวาง คือปวดก็ยอมรับสภาพทุกสิ่งทุกอย่างโดยดุษฎีภาพ
ไม่ฝืนไม่เกร็งตัวจิตใจก็ไม่ได้โอดครวญ ไม่ได้หวั่นไหว
ไม่ได้เกร็งจิตใจอะไรลองทำเหมือนกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น รับรู้อยู่
ปวดก็รู้อยู่แต่วาง.........ยอมรับ สติดูจิตใจ รักษาจิตใจ
บางขณะมันก็ไปรู้ปวดแต่ก็ไม่ไปยึดอยู่ไม่ได้ไปจ้องอยู่
ดูจิตใจแล้วก็รู้สภาวะอื่น ๆ หัดทำอย่างนี้ไว้
ซึ่งเราก็อาจจะทำได้ระยะหนึ่ง พอกำลังของสติมันหมด กำลังก็อาจจะไม่ไหว
แต่เราหัดทำไว้บ่อย ๆ บ่อย ๆ เราจะเก่งขึ้นจะมีความสามารถขึ้น
จากความปวดระดับนี้ทำได้ปวดมากขึ้นทำไม่ไหว แต่ฝึกบ่อย ๆ ปวดมากก็ทำได้
จนกว่ามันเต็มที่กำลังสติมันก็มีจุดของมันเหมือนกัน นี่ถ้าเราฝึกแบบนี้บ่อย
ๆ ละก็จะรู้สึกเหมือนกับมันแยก มันแยกกายแยกจิต กายก็ส่วนหนึ่ง
ปวดก็ปวดรู้อยู่ที่ใจก็รับรู้อยู่ ก็จะรู้สึกว่าไม่ต้องทุกข์ทรมานทางจิตใจ
จะเป็นประโยชน์ต่อเราเวลาเราเจ็บป่วยจริง ๆ ก็จะทำให้จิตใจรู้จักวาง
รู้จักปรกติรู้จัก ไม่ถึงขนาดโอดครวญทางจิตใจร้องห่มร้องไห้
นี่เราฝึกจากการที่เรานั่งกรรมฐานน่ะ พอเรานั่งไปนาน ๆ ก็ปวด
อย่างนี้ก็เป็นการปฏิบัติวิปัสสนา ปวดก็รู้ว่าปวด
กำหนดดูจิตดูใจดูสภาวธรรมต่าง ๆ อื่น ๆ
บางท่านปฏิบัติไปก็อาจจะมีสมาธิมีปีติเกิดขึ้น ทำให้มีอาการต่าง ๆ เช่น
ทำให้ตัวเบา ตัวโยกตัวโคลง ตัวสูงตัวใหญ่ ทำให้เสียวแปล๊บปล๊าบ ทำให้ขนลุก
ทำให้น้ำตาไหล ตัวสูงตัวใหญ่ตัวพองขึ้น
เหล่านี้เป็นอาการของปีติหรือมันเหมือนมันมีมดมากัดมีไรมาไต่ใบหน้าจี๊ด ๆ
จ๊าด ๆ คัน ก็ให้รู้ว่ามันเป็นธรรมดา
เป็นธรรมดาของการปฏิบัติแสดงว่าเรามีสมาธิมีปีติเกิดขึ้น
วิธีดำเนินสติต่อไปก็คือรับรู้รับทราบด้วยความไม่ตื่นเต้นไม่ได้ยินดี
ยินร้าย รู้ให้ทันควันกัน มันจี๊ดก็รู้จี๊ด มันไหวก็รู้ความไหว
มันเบาก็รู้ความเบา
และก็รู้ไปสู่จิตใจดูใจตัวเองว่ามันกำลังมีปีติดูอาการปีติ
ถ้าเราดูที่จิตใจอาการเหล่านั้นก็จะคลายตัวค่อย ๆ คลายตัว
ส่วนที่เราดูว่าตัวมันสูงมันใหญ่มันพอง เพราะเราไปดูมันในรูปร่างสัณฐาน
เราดูแบบสมมติ ก็จะต้องฝึกเข้าไปสู่ปรมัตถ์คือดูใน ๆ ดูความรู้สึก
อย่าไปดูขยายเป็นรูปร่าง
ถ้าขยายเป็นดูรูปร่างมันก็ดูตัวมันสูงมันใหญ่มันพอง แขนไปยังงั้น
ขาไปยังงี้ มันเป็นสมมติ ดูความรู้สึกภายในดูจิตใจไม่เห็นเป็นรูปร่างตัวเอง
ฉะนั้นต้องดูสภาวะในจิตในใจต่าง ๆ
ก็จะทำให้เห็นลักษณะของจิตเห็นลักษณะของปีติ เห็นลักษณะของสภาวะมีความเกิด
มีความดับ มีความเสื่อม มีความหมดไป มีสภาพไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน
อันนี้เราปฏิบัตินี่ก็คือต้องการให้เห็นความจริง
ละความยึดถือความเห็นผิดที่เคยยึดถือว่าเป็นตัวเราของเรา
เป็นของเที่ยงเป็นของสวยงาม เป็นสุขนี่ จะต้องถอนออก
ถอนก็คือต้องรู้แจ้งแทงตลอดก่อน เข้าไปเห็นสภาวะจริง ๆ อ๋อ
มันไม่เที่ยงจริง ๆ บังคับไม่ได้จริง ๆ เกิดดับ เป็นทุกข์จริง ๆ
เห็นประจักษ์ด้วยจิตใจของตัวเอง
มันก็จะถอนของมันเองอันจะเป็นทางของความดับทุกข์
ฉะนั้นวันนี้ได้บรรยายมาพอสมควรก็ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้ ขอความสุขความเจริญในธรรมจงมีแก่ทุกท่าน เทอญ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น