ถาม : เวลาภาวนาหรือทรงสมาธิ ปกติจิตผมจะติดอยู่กับร่างกายมาก
พอภาวนาไปรู้สึกว่าเกิดความเครียด ก็ปล่อยสภาวะให้สบายขึ้น
อารมณ์ก็จะไปอยู่ในลักษณะไม่รู้สึก แต่รู้ตัวอยู่ แต่ไม่สามารถประคองได้นาน
สักพักก็จะกลับมาเกาะอยู่กับร่างกายอีก อันนี้ถูกทางหรือเปล่าครับ ?
ตอบ : ถ้าหากว่าตอนนั้นสภาพจิตไม่มี รัก โลภ โกรธ หลง ก็ถือว่าถูกทางอยู่
ถาม : ถ้าถูกทาง ทำอย่างไรจึงจะทรงอารมณ์นั้นได้อยู่ ?
ตอบ : พอ
รู้ตัวก็กลับไปทำใหม่ อยู่ในลักษณะการซักซ้อมเข้าออกสมาธิให้ชำนาญ
ถ้ามีความชำนาญแล้ว เราจะสามารถกำหนดเวลาได้
ว่าต้องการเข้าสมาธิมากน้อยเท่าไร
ไม่ใช่ว่าพอถึงเวลาอารมณ์สมาธิหล่นลงมาแล้วเราก็เลิก
พอหล่นลงมาก็ต้องตะกายขึ้นไปใหม่ ต้องตื๊อกันไปเรื่อยๆ
แรกๆ ยังต้องใช้ความพยายามอยู่ พอนานไปความเคยชินเกิดขึ้น แค่นึกก็เป็นแล้ว เขาเรียก สมาปัชชนวสี ความชำนาญในการเข้าสมาธิ ถ้าเป็น วุฏฐานวสี ความชำนาญในการออกจากสมาธิ
บางคนเข้าได้แล้วออกไม่ได้ ต้องดิ้นรนอึกอักๆ เหนื่อยแทบตาย
ก็เลยเข็ด..ไม่กล้าเข้าอีก ความจริงแค่ยังขาดความชำนาญเท่านั้น
ถ้าหากว่าซักซ้อมบ่อยๆ ได้ก็จะดี
ต้องบอกว่าโดนกิเลสหลอก หลอกให้กลัว อย่างที่เคยพูดว่า ความกลัวทุกชนิดมีผลมากจากความกลัวตาย
เข้าสมาธิแล้วออกไม่ได้เดี๋ยวจะตาย
ในเมื่อโดนกิเลสหลอกก็ทำให้ไม่กล้าเข้าสู่สมาธิระดับนั้นอีก
พอเราไม่หลบเข้าไปอยู่กับสมาธิลึกๆ เขาก็ทำอันตรายเราได้ง่าย
ใน
เรื่องของการปฏิบัติ กิเลสเขาหลอกลวงเราสารพัด เขาสามารถใช้คนทุกคน
ของทุกชิ้น สัตว์ทุกตัว เป็นเครื่องมือในการขัดขวางไม่ให้เราก้าวสู่ความดี
โดยเฉพาะคนที่เรารักและเกรงใจอย่างพ่อแม่และญาติผู้ใหญ่
พอถึงเวลาขออนุญาตไปวัด "จะไปทำไมยังอายุน้อยอยู่ รอให้แก่ๆ ก่อน" "ลูกยังเล็กเจ้าค่ะ" พอลูกโต "โอ๊ย..หลานยังเด็กอยู่เลยเจ้าค่ะ" คราวนี้ก็รอตอนหามเข้าไป ถ้าหามเข้าไปก็พอดีเผาทุกที ไม่มีเวลาทำอย่างอื่นแล้ว
สนทนากับพระครูวิลาศกาญจนธรรม (พระอาจารย์เล็ก สุธมฺมปญฺโญ)
เก็บตกจากบ้านวิริยบารมี ต้นเดือนมกราคม ๒๕๕๕
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น