บันทึกความทรงจำ การเดินทางท่องเที่ยว แหล่งท่องเที่ยว คอมพิวเตอร์ การทำ SEO แหล่งความรู้ทุกแขนงถูกเก็บรวบรวมไว้ที่นี่ให้ทุกคนได้ศึกษา ได้เก็บเกี่ยวความรู้จากความทรงจำอันดีงาม ให้เช่าวัตถุมงคล พระเครื่อง พระบูชา รับตรงจากวัด แจกรูปฟรี
วันเสาร์ที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2555
ฝีพายเรือยาวพิจิตรพร้อมใจบวงสรวงแม่ย่านาง-ฟื้นประเพณีโบราณ
พิจิตร - จังหวัดพิจิตรคึกคัก เตรียมพร้อม 1-2 กันยายน 55 จัดงานแข่งขันเรือยาวชิงถ้วยพระราชทานในหลวง พร้อมเงินรางวัลเกือบ 2 ล้านบาท ชาวบ้านรวมพลังจัดพิธีฟื้นฟูอนุรักษ์ประเพณีบวงสรวงแม่ย่านางเรืออัญเชิญลงสู่แม่น้ำตามประเพณีโบราณ สร้างความเข้มขลัง ก่อให้เกิดความรักความสามัคคีก่อนนำเรือยาวเข้าแข่งขันสนามใหญ่วัดท่าหลวง
วันนี้ (24 ส.ค.) นายหิรัญ คัชมาตย์ หรือ “กำนันเนี้ยว” อดีตกำนันตำบลหัวดง อ.เมือง จ.พิจิตร ซึ่งถือเป็นปราชญ์ชาวบ้านเรื่องการแข่งขันเรือยาว และแกนนำจัดการแข่งขันเรือยาวเพื่อสืบทอดประเพณีมานานกว่า 30 ปี ได้ร่วมกับพระสงฆ์ ชาวบ้าน รวมทั้งฝีพายเรือเกือบ 500 คน จัดพิธีบวงสรวงแม่ย่านางเรือขึ้น บริเวณลานหน้าวัดหัวดงริมแม่น้ำน่าน
กำนันเนี้ยวกล่าวว่า พิธีดังกล่าวเป็นประเพณีเก่าแก่ที่ชาวบ้านหัวดง และใกล้เคียงได้ปฏิบัติสืบทอดต่อกันมาเกือบ 100 ปี ซึ่งนับวันจะเลือนหายไป ดังนั้นชาวบ้าน ต.หัวดง และเจ้าอาวาสวัดหัวดง ที่มีเรือยาวใหญ่อยู่หลายลำ เช่น เรือไกรทอง เรือเจ้าแม่ประดู่เงิน เรือเจ้าแม่ประดู่ทอง เรือขมิ้นทอง เรือหมื่นสุวรรณ จึงร่วมกันฟื้นฟูอนุรักษ์ประเพณีพิธีบวงสรวงแม่ย่านางเรือขึ้นอีกครั้ง เพื่อให้เป็นประเพณีสืบทอดต่อไปยังบุตรหลานเยาวชนคนรุ่นหลังให้ได้รู้ถึงพิธีกรรมที่ดีงามของชาวไทยที่มีความเคารพต่อสิ่งมีพระคุณ ไม่ว่าจะเป็นเรือพาย หรือแม่น้ำพระคงคา
พิธีบวงสรวงเรือนั้น ฝีพายเรือแต่ละลำจะนำเรือมาเรียงกันเพื่อทำพิธี จากนั้นพราหมณ์อัญเชิญเหล่าเทพเทวดาให้มารับเครื่องเซ่นไหว้บวงสรวง ที่ประกอบด้วย ชุดบายศรีสู่ขวัญ อาหารคาวหวาน ดอกไม้ ธูปเทียน น้ำอบ น้ำหอม พวงมาลัย ที่จัดวางบนโต๊ะบูชา ก่อนทำพิธีด้วยการนำสายสิญจน์มาผูกกับเรือทุกลำ ส่วนเหล่าฝีพายก็นั่งพนมมือทำสมาธิ แสดงความเคารพสิ่งศักดิ์สิทธิ์ควบคู่กับพิธีสงฆ์ และพระเกจิอาจารย์ จำนวน 9 รูป สวดเจริญพระพุทธมนต์ นั่งปรกอธิษฐานจิตเพื่อให้เรือเกิดความเข้มขลังตามความเชื่อมาตั้งแต่โบราณ
ส่วนชายหนุ่มที่ทั้งเป็นคนในหมู่บ้านและคนต่างถิ่นต่างก็จะได้เสื้อยันต์สีแดงที่ลงอักขระอาคม เพื่อสวมใส่ในวันลงแข่งขันชิงชัยเหมือนประหนึ่งกองทัพเรือที่จะต้องออกสู่สนามรบเพื่อหวังชิงชัยชนะ
เมื่อเสร็จพิธีก็จะมีการจุดพลุ ประทัดเพื่อให้เกิดเสียงดัง ซึ่งถือเป็นการบอกกล่าวทวยเทพเทวดาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใน 16 ชั้นฟ้า 15 ชั้นดิน และแม่พระธรณี แม่พระคงคา ให้รับรู้ว่าจะอัญเชิญเรือแต่ละลำลงสู่แม่น้ำคงคาเพื่อไปสู้ศึกการแข่งขันเรือแต่ละสนามเพื่อให้ได้รับชัยชนะทุกสายน้ำ ถือเป็นกลอุบายของคนโบราณให้เกิดความฮึกเหิมและกระตุ้นพลังฝีพายเรือทุกคน
ขณะเดียวกัน ในการทำพิธีดังกล่าวชาวบ้านหัวดงถือเป็นการรวมคน รวมน้ำใจ รวมความสามัคคีเป็นหนึ่งเดียวของชายหนุ่มในหมู่บ้านที่เป็นฝีพายเรือ โดยใช้วัฒนธรรมประเพณีมาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวและเป็นการเริ่มต้นของการจัดงานแข่งเรือชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ของวัดหัวดงที่จะมีขึ้นในวันที่ 25-26 สิงหาคม 2555 ณ ริมน้ำน่านหน้าวัดหัวดง จ.พิจิตร
โดยสนามแข่งขันเรือยาวหน้าวัดหัวดงนี้ถือได้ว่าเป็นสนามซ้อมใหญ่ก่อนเข้าสู่การแข่งขันเรือยาวประเพณีชิงถ้วยพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ ลำน้ำน่าน หน้าวัดท่าหลวง พระอารามหลวง ที่จะมีขึ้นในวันที่ 1-2 กันยายน 2555 เพื่อชิงเจ้าความเร็วแห่งสายน้ำ และชิงเงินรางวัลรวมกว่า 2 ล้านบาท ซึ่งจะมีกองทัพเรือยาวจากทั่วสารทิศมาชิงชัย โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือถ้วยพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่เป็นมงคลสูงสุดของชาวเรือยาวทั่วประเทศ
ป้ายกำกับ:
ศิลปะและวัฒนธรรม
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น