วันพุธที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

วันพืชมงคล

 
  วันพืชมงคล หมายถึง วันที่กำหนดพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นพระราชพิธีเก่ามาแต่โบราณที่เสริมสร้างขวัญและกำลังใจแก่เกษตรกรของชาติ
    พระราชพิธีมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญเป็นพระราชพิธี ๒ พิธี รวมกัน คือ พระราชพิธีพืชมงคลอันเป็นพิธีสงฆ์อย่างหนึ่ง กับพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญอันเป็นพิธีพราหมณ์อย่างหนึ่ง พระราชพิธีพืชมงคลนั้นจะประกอบพระราชพิธีวันแรกในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม สำหรับพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญจะประกอบพิธีในวันรุ่งขึ้น ณ มณฑลท้องสนามหลวง
    พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ หรือเรียกสั้นๆ ว่า พิธีแรกนา เป็นพระราชพิธีที่มีมาแต่โบราณ ตั้งแต่ครั้งสุโขทัยเป็นราชธานี ซึ่งในสมัยนั้นพระมหากษัตริย์ไม่ได้ลงมือไถนาเองเป็นแต่เพียงเสด็จไปเป็นองค์ประธานในพระราชพิธีเท่านั้น ครั้นถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา พระมหากษัตริย์ไม่ได้เสด็จไปเป็นองค์ประธานเหมือนสมัยกรุงสุโขทัย แต่จะมอบอาญาสิทธิให้โดยทรงทำเหมือนอย่างออกอำนาจจากกษัตริย์และจะทรงจำศีลเงียบ ๓ วัน ซึ่งวิธีนี้ได้ใช้ตลอดมาถึงปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา
    การเกษตรกรรมนับว่ามีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของมวลมนุษย์อย่างมาก เพราะธัญญาหารที่บรรดาเหล่าเกษตรกรปลูกได้ในแต่ละปี ถูกนำมาใช้เป็นอาหาร ดัดแปลงเป็นอุปโภคต่าง ๆ เช่น ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค วันพืชมงคล เป็นวันที่จัดขึ้นเพื่อเกี่ยวกับการเพาะปลูก เนื่องจากเห็นความสำคัญของการเมล็ดพืชพันธุ์อันเป็นปัจัจัยสำคัญต่อวิถีการผลิตแบบพึ่งพิงธรรมชาติ นอกเหนือจากการมีแผนดินที่อุดมสมบูรณ์ น้ำฝนที่มีปริมาณเพียงพอ และปัจจัยอื่น ๆ แล้ว หากได้เมล็ดพืชพันธุ์ที่ได้รับการเลือกสรร รวมทั้งเกษตรกรมีขวัญกำลังใจ มีความเชื่อมั่นในการลงทุนเพาะปลูก ทางราชการหรือผู้ปกครองตนให้การดูแลเอาใจใส่ การเกษตรของประเทศจะพัฒนามากยิ่งขึ้น ด้วยเหตุนี้ ทุกปีทางราชการจึงจัดให้มีพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญขึ้น โดยกำหนดในเดือนพฤษภาคม ของทุกปี

    ประวัติความเป็นมาของวันพืชมงคล

    สมัยรัตนโกสินทร์ ในรัชกาลที่ ๑ ได้โปรดให้ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เป็นผู้ประกอบพระราชพิธีแรกนาขวัญแทนพระองค์คู่กันกับการยืนชิงช้าและมิได้ถือว่าเป็นพิธีหน้าพระที่นั่ง เว้นแต่เมื่อมีพระราชประสงค์จะทอดพระเนตร สถานที่ประกอบพิธีในตอนแรกๆ จึงไม่ตายตัว แล้วแต่จะทรงกำหนดให้ เช่นในรัชกาลที่ ๒ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กำลังทรงปฏิสังขรณ์วัดอรุณฯ อยู่ แต่ใคร่จะได้ทอดพระเนตรพิธีแรกนาขวัญ จึงต้องย้ายไปทำกันที่ในทุ่งหลังวัดอรุณฯ นั่นเอง พอถึงรัชกาลที่ ๓ ให้ถือว่าผู้ใดยืนชิงช้าผู้นั้นเป็นผู้แรกนาด้วย ในรัชกาลที่ ๔ เคยย้ายไปทำกันที่กรุงเก่าและที่เพชรบุรี เป็นเพราะในขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับอยู่ที่นั่น และทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดมีพิธีสงฆ์เพิ่มขึ้นในพระราชพิธีต่างๆ ทุกพิธี ดังนั้นพระราชพิธีพืชมงคลจึงได้เริ่มมีขึ้นแต่บัดนั้นมา โดยได้จัดรวมกับพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ และมีชื่อเรียกรวมกันว่า พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ต่อมาในคราวหลังๆ นี้ ได้ย้ายไปทำกันที่ "ทุ่งส้มป่อย"เกือบเป็นประจำ ( ทุ่งส้มป่อย : บริเวณทุ่งกว้างริมถนนซังฮี้ หรือถนนราชวิถีในปัจจุบัน ตั้งอยู่ระหว่างพระราชวังดุสิตและวังพญาไท พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาให้ใช้เงินพระคลังข้างที่ซื้อไว้เป็นเนื้อที่ ๓๙๕ ไร่ แล้วโปรดให้จัดสร้างพระตำหนักขึ้นหลังหนึ่งโดยใช้เงินพระคลังข้างที่ พร้อมทั้งนำชื่อพระตำหนักเดิมจากวังปารุสกวันมาพระราชทานเป็นชื่อพระตำหนักใหม่พร้อมเติมสร้อย รโหฐาน ลงไป รวมเป็น "พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน" )





    การพระราชพิธีนี้ ในเวลาบ่ายวันที่จะสวดมนต์ก็มีกระบวนการแห่พระพุทธรูป ออกไปจากวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระราชพิธีจรดพระนังคัล เริ่มแต่เวลาบ่ายวันสวดมนต์พระราชพิธีพืชมงคล มีกระบวนแห่ๆ พระเทวรูปพระอิศวร ๑ พระอุมาภควดี ๑ พระนารายณ์ ๑ พระมหาวิฆเนศวร ๑ พระพลเทพแบกไถ ๑ กระบวนแห่ มีธง มีคู่แห่เครื่องสุงกลองชนะ คล้ายกันกับที่แห่พระพุทธรูป เป็นแต่ลดหย่อนลงมาบ้าง ออกจากพระบรมมหาราชวังไปทางบก เข้าโรงพิธีทุ่งสัมป่อยหน้าหลวง เวลาค่ำพระมหาราชครูพิธีทำการพระราชพิธีเหมือนอย่างพิธีทั้งปวง วันรุ่งขึ้นเวลาตั้งแต่เช้า กระบวนแห่ต่าง ๆ พระยาผู้แรกนา กำหนดเกณฑ์คนเข้ากระบวนแห่ ๕๐๐ กระบวน เมื่อถึงโรงพระราชพิธีเข้าจุดเทียนบูชาพระพุทธรูป แล้วตั้งจิตอธิษฐานจับผ้า ๓ ผืน เมื่อจับได้ผ้าผืนใดก็นุ่งผ้าผืนนั้น นุ่งอย่างบ่าวขุนออกไปแรกนา มีราชบัญฑิตคนหนึ่ง เชิญเต้าเทวบิฐประน้ำพระพุทธมนต์ไปหน้า พราหมณ์เชิญพระพลเทพคนหนึ่งเป่าสังฆ์ ๒ คน พระยาจับยามไถ พระมหาราชครูพิธียืนประตักด้านหุ้มแดงไถดะ ไปโดยรี ๓ รอบ แล้วไถแปรโดยกว้าง ๓ รอบ นางเทพีทั้งสี่จึงหาบกระเช้าข้าวปลูก กระเช้าทอง ๒ คน กระเช้าเงิน ๒ คน ออกไปให้พระยาโปรยหว่านข้าว และไถกลบอีกสามรอบ หลังจากนั้นปลดพระโคออกกินเลี้ยงของเสี่ยงทาย ๗ สิ่ง คือ ข้าวเปลือก ข้าวโพด ถั่ว งา เหล้า น้ำ หญ้า ถ้าพระโคกินสื่งใดก็จะมีคำทำนาย
    ในบทพระราชนิพนธ์เรื่อง พระราชพิธีสิบสองเดือน ตอนหนึ่ง ว่า " การแรกนาที่ต้องเป็นธุระของผู้ซึ่งเป็นใหญ่ในแผ่นดิน เป็นธรรมเนียมมีมาแต่โบราณ เช่น ในเมืองจีนสี่พันปีล่วงมาแล้ว พระเจ้าแผ่นดินก็ทรงลงไถนาเองเป็นคราวแรก พระมเหสีเลี้ยงตัวไหม ส่วนจดหมายเรื่องราวอันใดในประเทศสยามที่มีปรากฏอยู่ในการแรกนานี้ก็มีอยู่ เสมอเป็นนิจไม่มีเวลาว่างเว้น ด้วยการซึ่งผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดินลงมือทำเองเช่นนี้ ก็เพื่อจะให้เป็นตัวอย่างแก่ราษฎร ชักนำให้มีใจมั่นในการที่จะทำนาเพราะเป็นสิ่งสำคัญที่จะได้อาศัยเลี้ยงชีวิต ทั่วหน้า เป็นต้นเหตุของความตั้งมั่น และความเจริญไพบูลย์แห่งพระนครทั้งปวง แต่การซึ่งมีพิธีเจือปนต่างๆ ไม่เป็นแต่ลงมือไถนาเป็นตัวอย่างเหมือนอย่างชาวนาทั้งปวงลงมือไถนาของตนตาม ปกติ ก็ด้วยความหวาดหวั่นต่ออันตรายคือ น้ำฝน น้ำท่ามากไปน้อยไป ด้วงเพลี้ยและสัตว์ต่างๆจะบังเกิดเป็นอันตรายไม่ให้ได้ประโยชน์เต็มภาคภูมิ และมีความปรารถนาที่จะให้ได้ประโยชน์เต็มภาคภูมิเป็นกำลัง จึงต้องหาทางที่จะแก้ไขและทางที่จะอุดหนุนและที่จะเสี่ยงทายให้รู้ล่วงหน้า จะได้เป็นที่มั่นอกมั่นใจ โดยอาศัยคำอธิษฐานเอาความสัตย์เป็นที่ตั้งบ้าง ทำการซึ่งไม่มีโทษนับว่าเป็นสวัสดิมงคลซึ่งมาในพระพุทธศาสนาบ้าง บูชาเซ่นทรวงตามที่มาทางไสยศาสตร์บ้าง ให้เป็นการช่วยแรง และเป็นที่มั่นใจตามความปรารถนาของมนุษย์ซึ่งคิดไม่มีที่สิ้นสุด"

    ดังนั้นจึงพอจะสรุปความมุ่งหมายอันเป็นมูลเหตุให้เกิดพระราชพิธีพืชมงคลฯ นี้ได้ว่า พิธีแรกนา มุ่งหมายที่จะให้เป็นตัวอย่างแก่ราษฎร เพื่อชักนำให้มีความมั่นใจในการทำนา อันเป็นอาชีพหลักที่สำคัญของคนไทยที่มีมาแต่ช้านานสืบมาจนปัจจุบันยังคงเป็นอยู่อย่างนั้น เพราะการเกษตรซึ่งมีการทำนาเป็นหลักนั้น เป็นสิ่งสำคัญแก่ชีวิตความเป็นอยู่และการเศรษฐกิจของประเทศทุกสมัย ส่วนพิธีกรรมนอกเหนือจากการทำให้เป็นตัวอย่างตามที่ทรงจำแนกไว้ ๓ อย่าง ๒ อย่างแรกที่ว่า "อาศัยคำอธิษฐานเอาความสัตย์เป็นที่ตั้งบ้าง ทำการซึ่งไม่มีโทษนับว่าเป็นการสวัสดิมงคลตามซึ่งมาในพระพุทธศาสนาบ้าง" นั้น ทรงหมายถึง พิธีพืชมงคล อันเป็นพิธีสงฆ์ที่กระทำ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ส่วนอีกอย่างหนึ่งที่ว่า "บูชาเซ่นทรวงตามที่มาทางไสยศาสตร์บ้าง" นั้น ทรงหมายถึงพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญอันเป็นพิธีพราหมณ์
    พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นพิธีการเพื่อความเป็นสิริมงคลและบำรุงขวัญเกษตรกรกำหนดจัดขึ้นในเดือน ๖ ของทุกปี ซึ่งระยะนี้เป็นระยะเหมาะสมที่จะเริ่มต้นการทำนาอันเป็นอาชีพหลักของประชาชนคนไทย แต่ไม่ได้กำหนดวันที่แน่นอนไว้เหมือนกับวันในพระราชพิธีอื่นๆ ส่วนจะเป็นวันใดในเดือน ๖ หรือเดือนพฤษภาคมที่มีฤกษ์ยามเหมาะสมต้องตามประเพณีก็ให้จัดขึ้นในวันนั้น



    การจัดงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ได้กระทำเต็มรูปบูรพประเพณีครั้งสุดท้ายในปี พ.ศ. ๒๔๗๙ แล้วก็ว่างเว้นไป จนกระทั่งในปี พ.ศ.๒๕๐๓ คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ฟื้นฟูพระราชประเพณีนี้ขึ้นใหม่และได้กระทำติดต่อกันมาทุกปีจนปัจจุบัน ด้วยเห็นว่าเป็นการรักษาพระราชประเพณีอันดีงาม มีผลในการบำรุงขวัญและจิตใจของคนไทย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว องค์พระประมุขปัจจุบันทรงมีพระราชกระแสให้มีการปรับปรุงพิธีการบางอย่างให้เหมาะสมกับยุคสมัย และเสด็จพระราชดำเนินมาเป็นองค์ประธานในพระราชพิธีนี้ทุกปีสืบมามิได้ขาด
    เมื่อได้มีการฟื้นฟูพระราชประเพณีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญขึ้นมาในระยะแรกนั้น พระยาแรกนาได้แก่อธิบดีกรมการข้าวโดยตำแหน่ง สำหรับเทพีทั้งสี่พิจารณาคัดเลือกจากภริยาข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ภายหลังพระยาแรกนา ได้แก่ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยตำแหน่ง ส่วนเทพีทั้งสี่พิจารณาคัดเลือกจากข้าราชการพลเรือนหญิงโสดในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระดับชั้นโทขึ้นไป

    พระราชพิธีพืชมงคลเป็นพิธีทำขวัญพืชพรรณธัญญาหาร ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงอธิษฐานเพื่อความอุดมสมบูรณ์ของพืชพรรณธัญญาหารแห่งราชอาณาจักรไทย ข้าวนั้นถือว่าเป็นอาหารหลักของประชาชน ในภาษาบาลีเรียกว่า ปุพพัณณะ หรือบุพพัณณะ หรือบุพพัณณชาติ ส่วนพืชอื่นๆ ที่เป็นอาหารเรียกว่า อปรัณณ หรืออปรัณชาติ หมายถึงพืชที่เป็นอาหารทุกชนิด บุพพัณณชาติ ที่นำเข้าพิธีพืชมงคลนั้นเป็นข้าวเปลือก มีทั้งข้าวเจ้าและข้าวเหนียว นอกจากนี้มีเมล็ดพืชต่างๆรวม ๔๐ อย่าง แต่ละอย่างบรรจุถุงผ้าขาว กับเผือกมันต่างๆ พันธุ์พืชเหล่านี้เป็นของปลูกงอกได้ทั้งสิ้น นอกจากนี้ยังมีข้าวเปลือกที่หว่านในพิธีแรกนาบรรจุกระเช้าทองคู่หนึ่งและเงินคู่หนี่งเป็นข้าวพันธุ์ดีที่โปรดฯให้ปลูกในสวนจิตรลดา และพระราชทานมาเข้าพิธีพืชมงคล พันธุ์ข้าวพระราชทานนี้จะใช้หว่านในพระราชพิธีแรกนาส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งที่เหลือทางการจะบรรจุซองแล้วส่งไปแจกจ่ายแก่ชาวนาและประชาชนในจังหวัดต่างๆ ให้เป็นมิ่งขวัญและเป็นสิริมงคลแก่พืชผลที่จะเพาะปลูกในปีนี้
    อนึ่ง นับตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๐๙ เป็นต้นมา คณะรัฐมนตรีได้ประชุมปรึกษาลงมติให้วันพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัยนี้เป็นวันเกษตรกร ประจำปีอีกด้วย ทั้งนี้เพื่อให้ผู้มีอาชีพทางการเกษตรพึงระลึกถึงความสำคัญของการเกษตร และร่วมมือกันประกอบพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญเพื่อเป็นสิริมงคลแก่อาชีพของตน ทั้งยังก่อให้เกิดประโยชน์แก่เศรษฐกิจของประเทศชาติ จึงได้มีการจัดงานวันเกษตรควบคู่ไปกับงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญตลอดมา


ในสังคมกสิกรรมทุกสังคมมีพิธีกรรมต่างๆ เพื่อบวงสรวง บูชา อ้อนวอนเทพเจ้าเกี่ยวกับพืชพรรณธัญญาหารและเทพเจ้าเกี่ยวกับดิน น้ำ ลม ไฟ ตลอดจนธรรมชาติอื่นๆ อันเป็นหลักปฏิบัติที่เชื่อว่าจะก่อให้เกิดอาหารอุดมสมบูรณ์ เกิดสวัสดิมงคลและความปลอดภัยมั่นคงแก่ชีวิต ทรัพย์สินและสิ่งที่เกี่ยวข้องเช่นพิธีบูชาเทพธิดาโพสวเทวีอีดีมีสเตอร์ของชาวกรีกโบราณ พิธีไหว้ฟ้าดินของชาวจีน พิธีสู่ขวัญแม่โพสพของชาวอินโดนีเซีย พิธีเชิญขวัญข้าวโพดของชาวอินเดียนแดง เป็นต้น สำหรับคนไทยที่มีวิถีชีวิตผูกพันอยู่กับข้าวมาแต่โบราณ ข้าวเป็นพื้นฐานในการสร้างสรรค์เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และเลือดเนื้อของคนไทยมาแต่โบราณ การทำนาเพื่อผลิตข้าวนั้นมีขั้นตอนงานหลายขั้นตอน ตั้งแต่ก่อนการปลูกข้าว จะต้องมีการเตรียมปรับดินในนา ถ้าเป็นการปลูกข้าวนาดำต้องมีแปลงตกกล้า ก่อนเริ่มทำแปลงตกกล้าหรือหว่าน ต้องมีการไถดะ ไถแปรหรือมีไถคราดด้วย เมื่อเริ่มหว่านหรือถอนกล้าปักดำไปแล้ว ต้องรอจนข้าวเติบโตจนเก็บเกี่ยวได้จึงเริ่มเกี่ยวข้าว เมื่อได้ข้าวแล้ว ต้องขนไปลานนวดข้าว มีการนวดข้าว ซึ่งปัจจุบันส่วนมากใช้เครื่องจักร จากนั้นขนข้าวขึ้นยุ้ง หรือมีพ่อค้ามาซื้อถึงที่ จากกระบวนการผลิตข้าวดังกล่าวก่อให้เกิดความเชื่อ ประเพณี พิธีกรรม และคติชาวบ้านที่เกี่ยวกับข้าวหลายอย่างในวัฒนธรรมของไทย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น