"แข่งเรือลือเลื่อง เมืองงาช้างดำ จิตรกรรมวัดภูมินทร์ แดนดินส้มสีทอง เรืองรองพระธาตุแช่แห้ง "
น่าน มีพื้นที่ 11,472,076 ตารางกิโลเมตร หรือ ประมาณ 7 ล้านไร่เศษ อาณาเขตทิศเหนือและทิศตะวันออกจดสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ทิศใต้จดจังหวัดอุตรดิตถ์ ทิศตะวันตกจดจังหวัดแพร่ พะเยา และเชียงราย
ความที่เป็นเมืองชายแดนแห่งล้านนาตะวันออกอันอุดมไปด้วยวัฒนธรรมที่หลอมรวม จากเทือกเขาสูงถึงพื้นราบทำให้เสน่ห์ของเมืองน่านยั่งยืนมาจนถึงทุกวันนี้ ประกอบกับลักษณะภูมิประเทศที่เป็นท้องทะเลแห่งขุนเขา อีกทั้งสายลมหนาวและสายหมอกที่พัดผ่าน ทุ่งข้าวสีเขียวฉ่ำฝน หรือ เหลืองทองพร้อมจะเก็บเกี่ยว ยังทำให้ผู้มาเยือนเก็บความประทับใจกลับไปด้วย ป้อมปราการธรรมชาติที่บดบังเมืองน่านจากคนต่างถิ่นก็คือเทือกเขาผีปันน้ำและ หลวงพระบาง
พื้นที่ป่าของเมืองน่านมีประมาณ 5 ล้านไร่ เมื่อเปรียบเทียบกับพื้นที่ทั้งจังหวัดประมาณ 7 ล้านไร่ ถือว่ามีความอุดมสมบูรณ์มาก ชาวบ้านเชื่อว่ามนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติจึงไม่สามารถฝืนกฎของ ธรรมชาติได้ พวกเขาจะไม่ตัดไม้ หรือถางป่าทำไร่ในพื้นที่ลุ่มน้ำ พวกเขาดูแลรักษาภูเขาและป่าไม้ด้วยความเคารพ ชาวเขาเผ่าต่างๆ เช่น ขมุ ลัวะ และเมี่ยน เชื่อว่ามีดวงวิญญาณที่รักษาป่า
พื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำของจังหวัดน่านมีเพียง ร้อยละ 14 เท่านั้น จะกระจัดกระจายอยู่ตามหุบเขาในอำเภอต่างๆ ชุมชนตามที่ราบลุ่มเหล่านี้จะใช้ระบบการทดน้ำท้องถิ่น ใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านในการจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อการเกษตร ทุกปีเครือข่ายชุมชนที่ใช้ระบบการประปาร่วมกัน โดยเฉพาะ ไทลื้อ ลาวพวน จะร่วมกันจัดงานสักการะดวงวิญญาณที่เฝ้าดูแลรักษาป่า
แม่น้ำที่เป็นเสมือนเส้นเลือดของชาวน่าน คือ แม่น้ำน่าน มีต้นกำเนิดจากดอยขุนน้ำน่าน ตำบลขุนน่าน อำเภอบ่อเกลือ ซึ่งจะไหลขึ้นเหนือไปทางอำเภอทุ่งช้าง ก่อนจะไหลลงใต้ ไปยังอำเภอปัว, ท่าวังผา, เมืองน่าน, เวียงสา หลังจากนั้นจะไหลลงไปยังจังหวัดอื่น คือ อุตรดิตถ์ พิษณุโลก และ พิจิตร จึงไปรวมกับแม่น้ำยมที่อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ และแม่น้ำเจ้าพระยาที่ปากน้ำโพ นครสวรรค์ ร้อยละ 40 ของลำน้ำน่านนั้นหล่อเลี้ยงลำน้ำเจ้าพระยา
ความเกี่ยวดองกันด้วยศรัทธาในพุทธศาสนา วัฒนธรรมประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น และความหวงแหนในทรัพยากรธรรมชาติที่มีร่วมกันทำให้ชาวน่านมีเครือข่ายชุมชน ที่เข้มแข็งเรียนรู้ที่จะยู่กับความเปลี่ยนแปลงแต่ยังคงตระหนักถึงความเป็น ตัวเองอยู่เสมอ อันจะนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน
ประวัติศาสตร์เมืองน่าน
หลักฐานสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่พบในบริเวณจังหวัดน่าน เช่น เครื่องมือหิน กลองสัมฤทธิ์ที่ใช้ประกอบพิธีศพสำหรับชาวเอเชียตะวันออกเฉียงไต้ เป็นเครื่องยืนยันว่าดินแดนนี้มีมนุษย์มาตั้งถิ่นฐานตั้งแต่ก่อนสมัยประวัติ ศาสตร์ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 18 ขุนน่านและขุนฟองได้นำผู้คนอพยพจากตอนบนของแม่น้ำโขงมาตั้งถิ่นฐานยังที่ราบ ลุ่มตอนบนของแม่น้ำน่าน ใกล้กับเทือกเขาดอยภูคา และในปี พ.ศ. 1902 เจ้าพระยาการเมืองย้ายเมืองไปยังเวียงภูเพียงแช่แห้งฝั่งตะวันออกของแม่น้ำ น่านซึ่งไม่ได้ใหญ่กว่าหรืออุดมสมบูรณ์กว่าเมืองปัวแต่ใกล้กับเมืองสุโขทัย มากขึ้น
ในปี พ.ศ. 1911 เจ้าพระยาผากองบุตรของเจ้าพระยาการเมืองได้ย้ายเมืองมายังฝั่งตะวันตกของแม่ น้ำน่านซึ่งเป็นเมืองน่านในปัจจุบัน ตามศิลาจารึกหลักที่ 45 และ 46 ในปี พ.ศ. 1935 ปู่พระยา (เจ้าพระยาผากอง) และพระราชนัดดา (พระมหาธรรมราชาที่ 2 แห่งสุโขทัย)ได้ให้คำสาบานที่จะช่วยเหลือกันและกันในยามสงคราม ความสัมพันธ์ระหว่างน่านและสุโขทัยได้ดำเนินมาจนกระทั่งสุโขทัยผนวกเข้ากับ อยุธยาในปี พ.ศ. 1981
เมืองน่านมีความสัมพันธ์ติดต่อค้าขายกับนครรัฐเล็กๆ รอบบ้าน เช่น หลวงพระบาง ล้านช้าง และสิบสองปันนา รัฐเหล่านี้มีความร่วมมือทางการเมืองอย่างเข้มแข็ง ทำการค้าขายกันตามเส้นทางแม่น้ำโขงด้วยคาราวานเกวียน
ก่อนหน้าที่น่านจะถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งชองล้านนาทั้งสองดินแดนมีความ สัมพันธ์กันผ่านการค้าวัวต่าง และเมื่อเชียงใหม่ตกเป็นประเทศราชของพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองแห่งพม่า ในระหว่างปี พ.ศ.2096-2101 เจ้าพระยาพลเทพรือชัย เจ้าเมืองน่านได้หลบหนีไปยังเมืองหลวงพระบาง และน่านตกอยู่ภายใต้การปกครองของพม่าจนกระทั่งสิ้นกรุงศรีอยุธยาในปี พ.ศ. 2310
ระหว่างปีพ.ศ. 2101 - 2317 น่านพยายามต่อสู้เพื่ออิสรภาพจากพม่าหลายครั้ง ในปี พ.ศ. 2246 ถือว่าเป็นช่วงเวลาทุกข์เข็ญ ผู้คนต้องหลบหนีสงครามเข้าป่า บางคนถูกจับเป็นเชลยในพม่า ทั้งเมืองและวัดถูกเผาทำลายลง
ในปี พ.ศ. 2331 เจ้าอัตถวรปัญโญ เจ้าหลวงเมืองน่าน หันมาสวามิภักดิ์กรุงเทพฯ (ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 1) เมื่อ พ.ศ.2333 น่านเริ่มนโยบาย "เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง" มีการอพยพ ชาวไทลื้อจำนวนมากกลับสู่เมืองน่าน
ในสมัยรัชกาลที่ 5 กรุงเทพฯถูกคุกคามจากลัทธิล่าอาณานิคมของอังกฤษและฝรั่งเศสได้ก่อให้เกิดการ ปฏิรูปการปกครองหัวเมืองล้านนา เพื่อรวมศูนย์อำนาจที่ส่วนกลาง ตั้งแต่ พ.ศ.2435 รัฐบาลกลางกรุงเทพฯได้แต่งตั้งข้าหลวงเข้ามาแทนคณะขุนนางผู้ช่วยเจ้าผุ้ครอง นครในการบริหารกิจการบ้านเมือง
หลังจากเหตุการณ์ร.ศ.112 (พ.ศ.2436) ไทยต้องยอมเสียดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงแก่ฝรั่งเศส เมืองน่านจึงเพิ่มความสำคัญมากขึ้นในฐานะเมืองหน้าด่านติดกับเมืองหลวงพระ บางในลาว ซึ่งเป็นของฝรั่งเศส ความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าเมืองน่านกับกรุงเทพฯดำเนินไปด้วยดี รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯให้แต่งตั้งเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชเป็นพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช เพื่อตอบแทนคุณงามความดีที่น่านช่วยกรุงเทพฯในสงครามปราบกบฏที่เชียงตุง
นครเมืองน่านกลายเป็นจังหวัดหนึ่งของประเทศไทยอย่างสมบูรณ์ในสมัยรัชกาลที่ 7 หลังจากเจ้ามหาพรหมสุรธาดาเจ้าเมืองน่านองค์สุดท้ายถึงแก่กรรมในปีพ.ศ. 2474 จึงยกเลิกระบบการปกครองโดยเจ้าผู้ครองนครนับแต่นั้นเป็นต้นมา
รู้จักคน รู้จักชุมชน
น่านมีจำนวนประชากร 514,688 คน ประกอบด้วยหลายชนเผ่าได้แก่
ไทยวน เป็นคนกลุ่มใหญ่ของเมืองน่าน ตั้งบ้านเรือนบนที่ราบลุ่มริมแม่น้ำน่าน ประกอบอาชีพเกษตรกรรม นักวิชาการบางท่านสันนิษฐานว่าเป็นบรรพบุรุษของคนเมืองน่านที่อพยพมาจากล้าน ช้างฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง
ไทลื้อ มีถิ่นฐานเดิมอยู่บริเวณชายแดนพื้นที่รอยต่อระหว่างสิบสองปันนาเชียงตุง ลาว และล้านนา อพยพเข้ามาในประเทศไทยหลายครั้ง ทั้งจากเหตุผลทางการดำรงชีพ การถูกกดขี่จากจีน และพม่า หรือหนีภัยสงครามช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครองในจีน บ้างก็อพยพตามสายเครือญาติ และการค้าขาย วัฒนะธรรมไทลื้อกับไทยวนมีความคล้ายคลึงกันทั้งภาษา ศาสนา การแต่งกาย อาหาร งานหัตถกรรม โดยเฉพาะวิถีการผลิตแบบ "เอ็ดนาเมืองลุ่ม" หรือทำนาดำ เอกลักษ์ทางวัฒนธรรมของชาวไทลื้อคือ ผ้าทอลายน้ำไหลและลายลื้อ โดยใช้เทคนิควิธีที่เรียกว่า "เกา" หรือ "ล้วง"
ลัวะ/ถิ่น เป็นกลุ่มที่ตั้งถิ่นฐานมาดั้งเดิม รวมทั้งที่อพยพมาจากเมืองไชยบุรี สปป.ลาว ส่วนคำว่า "ถิ่น" เป็นชื่อที่ทางการไทยเรียกกลุ่มชนดั้งเดิมกลุ่มนี้ในจังหวัดน่าน ลัวะมักตั้งบ้านเรือนบนพื้นที่สูงระหว่าง 2,500-3,000 ฟุต จากระดับน้ำทะเลปานกลาง บริเวณลำน้ำสาขาแม่น้ำน่าน เช่น น้ำวาง น้ำว้า และน้ำมาง ดำรงชีพด้วยการปลูกข้าวไร่ และหาของป่า มีฝีมือในการจักสานหญ้าสามเหลี่ยมเป็นภาชนะต่างๆ หลายๆหมู่บ้านยังคงความเชื่อดั้งเดิมที่ผีสัมพันธ์กับธรรมชาติ เช่น ผีป่า ผีน้ำ ผีไร่ และผีบรรพบุรุษ งานพิธีใหญ่ที่สุดในรอบปีได้แก่ พิธี "โสลด" (อ่าน สะโหลด) หรือพิธี "กิ๋นดอกแดง" เพื่อเฉลิมฉลองผลผลิต และเพื่อเตรียมต้อนรับฤดูการผลิตใหม่ ปัจจุบันลัวะตั้งถิ่นฐานมากที่สุดในอำเภอเฉลิมพระเกียรติ รองลงมาคือ ที่อำเภอบ่อเกลือ ปัว ทุ่งช้าง และเชียงกลาง
ขมุ สันนิฐานว่าตั้งถิ่นฐานอยู่ตามหมู่บ้านชายแดนเมืองน่านและลาว เมื่อประมาณเกือบ 200 ปีก่อน สันนิษฐานว่าในปี พ.ศ.2373 ขมุถูกกวาดต้อนเพื่อเป็นกำลังในการสร้างกำแพงเมืองเก่าน่าน เจมส์ เอฟ แม็คคาธีร์ได้สำรวจเพื่อทำแผนที่ทางภาคเหนือช่วงปี พ.ศ.2433-2436 กล่าวถึงขมุตามชายแดนเมืองน่านว่ามี 2 กลุ่ม คือ ขมุ (ลาว เรียกว่า ข่า) หรือ "ข่าลาว" อยู่ใต้อำนาจหลวงพระบางและขมุที่อยู่ใต้อำนาจของน่าน เรียก "ข่าแคว้น"ชาวขมุได้ชื่อว่ามีฝีมือในการตีเหล็กเพื่อเป็นเครื่องมือ เช่น มีด ดาบ จอบ เสียม
ม้ง (แม้ว) ตำนานของชนเผ่ากล่าวว่า อพยพมาจากที่ราบสูงทิเบต ไซบีเรีย และมองโกเลียสู่ประเทศจีน ลาว และไทย เชื่อว่าม้งอพยพมาเมืองน่านราว พ.ศ. 2433-2442 มีความสามารถในด้านการค้า เลี้ยงสัตว์ ปลูกพืชเศรษฐกิจ เช่น ลิ้นจี่ ลำไย และทำเครื่องเงิน ชาวม้งมีความเชื่อว่าโลหะเงินเป็นสัญลักษณ์ของความมั่งคั่ง และมงคลแก่ชีวิต
เย้า (เมี่ยน) ถิ่นเดิมอยู่แถบมณฑลยูนนาน ฮุนหนำ กวางสี กวางเจา และทางตะวันออกของประเทศจีน ตั้งบ้านเรือนอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลกว่า 1,000 เมตร วัฒนธรรมของเมี่ยนจึงได้รับอิทธิพลจากจีน เช่น ภาษา การสืบสกุลทางฝ่ายสามี การใช้แซ่ ประเพณีปีใหม่ (ตรงกับเทศกาลตรุษจีน) สาวเมี่ยนมีฝีมือในการปักผ้า ปัจจุบันมีเมี่ยนอยู่มากที่สุดที่อำเภอเมือง
มลาบรี (ผีตองเหลือง) สันนิษฐานว่าเป็นเผ่าผสมชนชาติละว้าที่หนีร่นกลุ่มชนไทไปอยู่ตามป่าเขา ในแขวงไชยบุรี สปป.ลาว เมื่อประมาณ 800 กว่าปีมาแล้ว เดิมดำรงชีพด้วยการเก็บของป่าล่าสัตว์ไม่ตั้งถิ่นฐานเป็นหลักแหล่ง สร้างเพียงเพิงมุงใบตอง และจะย้ายถิ่นเมื่อใบตองเริ่มแห้งคือเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ปัจจุบันมลาบรีตั้งถิ่นฐานอยู่ที่อำเภอเวียงสา วัฒนธรรมถูกกลืนกลายไปหมดแล้ว
หมายเลขโทรศัพท์ที่สำคัญ
ท่าอากาศยานจังหวัดน่าน ถ.วรวิชัย โทร. 0 5471 0270
บริษัทการบินไทย จำกัด ถ.มหาพรหม โทร. 0 5471 0377
โรงพยาบาลจังหวัดน่าน ถ.วรวิชัย โทร. 0 5471 0138
สถานีตำรวจภูธร ถ.สุริยะพงษ์ โทร. 0 5475 1681
สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ถ.น่าน-ทุ่งช้าง อ.ทุ่งช้าง โทร. 0 5479 5009
สำนักงานจังหวัดน่าน ถ.สุริยะพงษ์ โทร. 0 5471 0341
สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัด ถ.สุริยพงษ์ โทร. 0 5477 3047
หอการค้าจังหวัดน่าน โทร. 0 5477 4499
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น