วันพุธที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2557

ปราสาทศีขรภูมิ หรือ ปราสาทระแงง


  ปราสาทศีขรภูมิ คือ ปราสาทที่งดงามที่สุดในจังหวัดสุรินทร์ ตั้งอยู่ข้างวัดบ้านปราสาท บ้านปราสาท ตำบลระแงง อำเภอศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์ โดยปราสาทศีขรภูมิประกอบด้วยปรางค์ อิฐ 5 องค์ องค์กลางเป็นปรางค์ประธาน ก่อด้วยอิฐขัดมัน อยู่บนฐานเดียวกัน 5 องค์ ฐานก่อด้วยแลง มีบันไดอยู่ทางทิศตะวันออก-ทิศตะวันตก ปรางค์ประธานองค์ใหญ่อยู่กลาง มีปรางค์บริวารอยู่ 4 มุม ปรางค์ประธานยอดหักเหลือเพียงบัวเชิงบาตร 3 ชั้น สูง 12 เมตร ฐานกว้าง 10.60 เมตร มีประตูทางทิศตะวันออกทำด้วยหินทรายสีเทา ท้องไม้ของประตูทางด้านหน้า จำหลักลายและรูปอัปสร ถือดอกบัว
        โดยด้านข้างจำหลักลายและรูปทวารบาลยืนกุมกระบองกับอัปสร ศิลาทับหลังประตูกลางจำหลักเป็นรูปเทพสิบกรอยู่อยู่บนแท่นมีหงส์แบก 3 ตัว อยู่บนเศียรเกียรติมุข มีมือทั้งสองจับเท้าสิงห์ข้างละ 1 ตัว รูปสิงห์อยู่ในท่ายืนด้วยสองขาหลัง และอุ้งเท้าของสองหน้ากุมดอกบัวบานออก เกสรเป็นลำพวงมาลัยโค้ง ภายใต้วงโค้งของพวงมาลัย จำหลักเป็นรูปพระคเณศ พระพรหม พระวิษณุ และนาง ปารพตี และมีรูปโยคีสกัดอยู่ทั้งหัวแถวท้ายแถว อยู่เหนือปทุมอาศน์
     ศิลาทับหลังของปราสาทศีขรภูมิ แกะสลักเป็นรูปเทพเจ้าตามหลักศาสนาฮินดูอยู่หลายองค์ ซึ่งปราสาทศีขรภูมิแห่งนี้ เดิมเป็นเทวสถานในศาสนาฮินดูที่บูชาพระศิวะเป็นใหญ่ เทพสิบกรนั่นก็คือพระ ศิวะกำลังร่ายรำ หรือ เรียกกันว่า “ศิวะนาฏราช” โดยมีเทพอีก 4 องค์ร่วมบรรเลงด้วย กล่าวคือ ไล่เรียงจากทางด้านขวามือในขณะที่แหงนหน้ามอง ภายใต้วงโค้งของมาลัยนั้นพระคเณศถือดอกบัว และชูงวง คล้ายร่ายรำ ถัดมาคือพระพรหม ในที่นี้จะเห็นเพียง 3 หน้า แต่มี 4 กร กำลังตีฉิ่งและถือดอกบัว

        ถัดมาทางด้านซ้ายจะเป็นพระนารายณ์ 4 กร สองมือบนถืออาวุธประจำตัวคือจักรและสังข์ (รายละเอียดสูญหายบางส่วน) ส่วนสองมือล่างดูเหมือนอยู่ในท่ารำ ส่วนองค์สุดท้ายก็คือนางปารพตี บ้างก็ เรียก พระอุมา หรือ บรรพตี ซึ่งเป็นมเหสีของพระศิวะ มือหนึ่งถือคฑาส่วนอีกมือหนึ่งนั้นรายละเอียดก็สูญหายเช่นกัน ส่วนรายละเอียดอื่นๆ นั้นมีเหล่าเทวดา ฤษี หงส์ และสัตว์อีกหลายชนิด เป็นที่ ยอมรับจากนักโบราณคดีว่า ศิลาทับหลังของปราสาทศีขรภูมิแห่งนี้ สมบูรณ์และสวยงามที่สุดในประเทศไทย

        ปราสาทศีขรภูมิ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ ตามหนังสือทะเบียนโบราณวัตถุทั่วราชอาณาจักร พ.ศ.2516 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 52 ตอนที่ 75 ลงวันที่ 8 มี.ค.2478 ตามเอกสารได้กล่าวถึงลักษณะของปราสาทศีขรภูมิ ดังนี้ (กรมศิลปากร, 2516)

        การเดินทางไปปราสาทศีขรภูมิ หรือ ปราสาทระแงง ตั้งอยู่ที่ตำบลระแงง ห่างจากตัวเมืองสุรินทร์ ประมาณ 34 กิโลเมตร ตามเส้นทางหมายเลข 226 โดยอยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอไปอีก ประมาณ 1 กิโลเมตร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น