วันพุธที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2557

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เตรียมศึกษาข้อกฎหมายจดลิขสิทธิ์การจัดงานเทศกาลสงกรานต์และลอยกระทง


การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เตรียมศึกษาข้อกฎหมายจดลิขสิทธิ์การจัดงานเทศกาลสงกรานต์และลอยกระทง หวั่นกระทบต่างชาติเที่ยวงานเทศกาลในประเทศไทยระยะยาว

        จากกรณี สังคมออนไลน์มีการแชร์ภาพโฆษณาเชิญชวนเที่ยวงานประเพณีสงกรานต์ ชื่อว่า "สงกรานต์ 2014 " ซึ่งเป็นการจัดงานที่ประเทศสิงคโปร์ ระหว่างวันที่ 12-13 เม.ย.นี้ และถือเป็นการจัดงานสงกรานต์ที่ใหญ่ที่สุดในสิงคโปร์ ทำให้มีผู้แสดงความคิดเห็นกันอย่างมากมาย

        นางวิไลวรรณ ทวิชศรี รองผู้ว่าการฝ่ายสินค้าและธุรกิจท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือททท. เปิดเผยว่า เตรียมหารือร่วมกับกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวง วัฒนธรรม ศึกษาข้อกฎหมายการจดลิขสิทธิ์ทางปัญญาการจัดงานกิจกรรมต่างๆ อาทิ งานเทศกาลสงกรานต์ ลอยกระทง ป้องกันการนำแนวคิดการจัดงานที่เกี่ยวข้องกับศิลปะวัฒนธรรมไทยไปจัด งานยัง ประเทศใกล้เคียงในกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ เออีซี

        นางวิไลวรรณ กล่าวอีกว่า สำหรับการจัดงานดังกล่าวของสิงคโปร์ไม่กระทบต่อภาพรวมการท่องเที่ยวสงกรานต์ ในประเทศไทย แต่ในระยะยาวหากมีการจัดงานต่อเนื่องทุกปี อาจส่งผลต่อการตัดสิน ใจเข้าร่วมกิจกรรมของนักท่องเที่ยวคนไทย และต่างชาติที่จะเดินทางท่องเที่ยวประเทศไทยได้

        ขณะที่นายชาย นครชัย อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กล่าวว่า การจัดงานสงกรานต์ของสิงคโปร์เป็นสิ่งที่ทำได้เพราะเป็นประเพณีร่วมของหลาย ประเทศและไทยคงไม่สามารถฟ้องร้องอะไรได้

        ทั้งนี้ นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ผู้อำนวยการสำนักเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ให้ข้อมูลว่า ประเพณีสงกรานต์เป็นวัฒนธรรมร่วมของชาวอุษาคเนย์ซึ่งมีมานานแล้ว ส่วนมากจะนิยมกัน ในประเทศที่นับถือศาสนาพุทธและผูกพันกับสายน้ำ อาทิ ลาว พม่า เวียดนาม เขมร และไทย รวมถึงประเทศจีน แต่กระนั้นก็ตามประเทศใดที่เห็นว่าประเพณีนี้ดีงามน่าสนใจก็สามารถนำไปจัด กิจกรรมในสังคมของตนเองได้เช่นเดียวกัน

        เนื่องจากยังไม่มีประเทศใดไปขึ้นทะเบียนเอาไว้ว่าประเพณีสงกรานต์เป็น ประเพณีของประเทศตนแต่เพียงผู้เดียว แต่กระนั้นกรณีที่สิงคโปร์จะนำประเพณีดังกล่าวไปจัด โดยเท่าที่ทราบเป็นไปเพื่อ การท่องเที่ยว นำประเพณีไปบิดเบือน จึงเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากสงกรานต์ดั้งเดิมเป็นประเพณีที่ไม่ใช่แค่สาดน้ำ แต่ใช้น้ำเพื่อเชื่อมมิตรไมตรีของผู้คนในสังคม และเพื่อแสดงออกถึงความ กตัญญูต่อผู้มีพระคุณ ไม่ใช่เพื่อใช้เป็นกลยุทธ์ในการท่องเที่ยวอย่างที่สิงคโปร์กำลังทำ

        ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน เป็นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แต่ทางสำนักเฝ้าระวังทางวัฒนธรรมจะดำเนินการหาช่องทางตรวจสอบทั้งข้อกฎหมาย ระหว่างประเทศ และรูปแบบการจัดงานในวัน จริง เพื่อรวบรวมข้อมูลดำเนินการฟ้องร้องในฐานะประเทศที่มีวัฒนธรรมสงกรานต์นี้ ร่วมอยู่ด้วยกับประเทศเพื่อนบ้าน อื่นๆ ซึ่งต้องฟ้องกับบริษัทผู้จัดงานเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาระหว่างประเทศ เพราะถือ เป็นการทำลายคุณค่าอันดีงามและย่ำยีวัฒนธรรมร่วมของประเทศเพื่อน บ้าน โดยเฉพาะประเทศไทยที่ผู้คนผูกพันกับประเพณีนี้มากเป็นพิเศษ

        ด้านนายยุทธชัย สุนทรรัตนเวช นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ หรือ สทน. กล่าวว่า ถึงเวลาที่ประเทศไทยต้องจับตามองประเทศสิงคโปร์เกี่ยวกับแนวคิดการจัดงานส่งเสริมการท่องเที่ยว เพราะเป็นคู่แข่งที่มีความพร้อมและศักยภาพเหนือกว่าประเทศไทยทุกด้าน โดยเฉพาะนโยบายการส่งเสริมจากภาครัฐ เช่น งบประมาณ ซึ่งในระยะยาวหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านการท่องเที่ยวจำเป็น ต้องปรับแผน กลยุทธ์การตลาด กระบวนการคิด โดยเพิ่มจุดแข็งเรื่องสินค้าการบริการท่องเที่ยวที่หลากหลายของประเทศไทยนำ เสนอให้กับนักท่องเที่ยว

        สำหรับภาพรวมการเดินทางช่วงเทศกาลสงกรานต์มีสัญญาณการฟื้นตัวจากตลาด อินเดีย รัสเซีย ญี่ปุ่น จีน โดย ททท.คาดว่า มีนักท่องเที่ยว 4400,000 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา รายได้สะพัด 47,000 ล้านบาทเพิ่มขึ้นร้อยละ 14 เทียบจากปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 41,000 ล้านบาท

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น