บันทึกความทรงจำ การเดินทางท่องเที่ยว แหล่งท่องเที่ยว คอมพิวเตอร์ การทำ SEO แหล่งความรู้ทุกแขนงถูกเก็บรวบรวมไว้ที่นี่ให้ทุกคนได้ศึกษา ได้เก็บเกี่ยวความรู้จากความทรงจำอันดีงาม ให้เช่าวัตถุมงคล พระเครื่อง พระบูชา รับตรงจากวัด แจกรูปฟรี
วันอังคารที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2556
หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน
หลวงตา ถือกำเนิดในครอบครัวชาวนาแห่งสกุล “โลหิตดี” ณ ตำบลบ้านตาด อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี เมื่อวันอังคารที่ ๑๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๕๖ ตรงกับวันขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน ๙ ปีฉลู บิดาชื่อ “นายทองดี” มารดาชื่อ “นางแพง” ได้ให้มงคลนามว่า “บัว”
วัยเด็ก
ขณะที่แม่ตั้งครรภ์นั้น ได้ปรารภขึ้นในครอบครัวและหมู่ญาติว่า “ธรรมดาทารกในครรภ์ เมื่อเติบใหญ่ขึ้นมา ต้องดิ้นบ้างไม่มากก็น้อยพอให้แม่รู้สึก แต่กับลูกคนนี้แปลกกว่าคนอื่น ตรงที่นอนนิ่งเงียบเหมือนไม่มีลมหายใจ จนบ่อยครั้งทำให้แม่คิดตกอกตกใจว่า “ไม่ใช่ตายไปแล้วหรือ? ทำไมจึงเงียบผิดปกตินัก” ครั้นเวลาจะดิ้น ก็ดิ้นผิดทารกทั่วๆไป คือดิ้นเสียจนแม่เจ็บในท้อง ครั้นพอถึงระยะจะคลอด ก็เจ็บท้องอยู่ถึง ๓ วัน ก็ไม่เห็นว่าจะคลอดแต่อย่างใด ตอนเจ็บท้องอยู่นั้น ก็ชนิดจะเอาให้ล้มตายไปเลย เสร็จแล้วก็หายเงียบไป จนกระทั่งคิดว่า ไม่ใช่ตายไปอีกแล้วหรือ? แล้วก็กลับดิ้นขึ้นมาอีก...”
คุณตาของท่านทายถึงอุปนิสัยของทารกในครรภ์ว่า “ถ้าหากเป็นชาย ชอบไปทางไหน เรียกว่า ขาดเลยทีเดียว เป็นคนจิตใจหนักแน่น ลงได้ทำอะไรแล้ว ต้องจริงทุกอย่าง ไม่มีเหลาะๆแหละๆ” เมื่อทารกคลอดออกมา มีสายรกพาดเฉวียงบ่าออกมาด้วย คุณตาเห็นดังนั้น จึงพูดขึ้นว่า “สายบาตรๆ” แล้วทำนายไว้เป็น ๓ อย่าง คือ
๑.สายบาตร ถ้าเป็นนักปราชญ์จะเหยียบแผ่นดินสะเทือน
๒.สายกำยำ ถ้าเป็นนายพราน ก็จะมีความชำนาญลือลั่นสะท้านป่า
๓.สายโซ่ ถ้าเป็นโจร ก็เป็นประเภทคุกตารางแตก
การศึกษา
ท่านเป็นเด็กที่เรียนหนังสือเก่ง มีความขยัน อดทน และ มีความรับผิดชอบสูง จะเห็นได้จากผลการเรียนอันดีเยี่ยม โดยสอบได้ที่สองในชั้นประถมปีที่ ๑ พอขึ้นชั้นประถมปีที่ ๒, ที่ ๓ ก็สอบได้ที่หนึ่งมาโดยตลอด เมื่อเรียนจบชั้นประถมปีที่ ๓ ซึ่งเป็นการศึกษาภาคบังคับสูงสุดในสมัยนั้นแล้ว ท่านก็ไม่ได้เรียนต่อในชั้นใดอีกเลย
อุปนิสัย
ท่านมีอุปนิสัยถือความสัตย์ความจริง ทำอะไรก็ทำจริง เวลาทำการทำงานจะไม่อยากให้คนรู้คนเห็น แม้ในยามบวชเป็นพระแล้ว เวลาทำความเพียร ท่านไม่ยอมให้ใครเห็นได้ง่ายๆ ทำทางจงกรมหลบอยู่ในป่า และในยามค่ำคืนต้องรอจนหมู่คณะขึ้นกุฏิหมดแล้ว ท่านจึงจะลงเดินจงกรม และที่เด่นมาก ก็คือ มีความทรหดอดทนเป็นเลิศ สังเกตได้จากการทำงานของท่าน จะทำไปเรื่อยๆจนเสร็จงาน ถ้าไม่มืด หรือไม่ใช่เวลากินข้าวกลางวัน ก็ไม่ยอมเลิก จนพวกน้องๆพากันมาบ่นให้พ่อแม่ฟังว่า “ถ้าพ่อแม่ไม่ไปทำงานด้วย พี่ชายทำงานไม่ยอมเลิกยอมหยุด ยังกับว่า จะเอาให้น้องๆตายไปข้างหนึ่งเลยทีเดียว”
มูลเหตุแห่งการบวช
เมื่อท่านมีอายุครบสมควรจะบวชได้แล้ว พ่อได้ปรารภเรื่องนี้ขึ้น ในขณะที่กำลังรับประทานอาหารว่า มีลูกชายหลายคน แต่ไม่มีลูกคนใดคิดบวชให้ พอให้ได้เห็นผ้าเหลืองก่อนตาย ได้ตายอย่างเป็นสุข หายห่วง ลูกคนอื่นๆพ่อไม่สนใจพอจะอาศัยใคร มีแต่ท่านเท่านั้นที่พอจะอาศัยได้
พ่อชมท่านว่า ลงได้ทำการทำงานอะไรแล้วพ่อไว้ใจได้ทุกอย่าง พ่อทำยังสู้ไม่ได้ แต่พอพ่อขอให้บวชให้ทีไร ท่านไม่เคยตอบ ไม่เคยพูดเลย เหมือนไม่มีหูไม่มีปาก บทเวลาพ่อตายแล้ว จะไม่มีใครฉุดลากขึ้นมาจากหม้อนรก พ่อพูดว่า ถ้าพ่ออาศัยท่านไม่ได้แล้ว พ่อก็หมดหวัง เพราะลูกชายหลายคน พ่อหวังใจอาศัยท่านเท่านั้น
“พอพ่อว่าอย่างนั้น น้ำตาพ่อร่วงปุ๊บปับ แม่เอง พอมองไปเห็นพ่อน้ำตาร่วง แม่ก็เลยน้ำตาร่วงเข้าอีกคน เราเห็นอย่างนั้น เกิดอาการสะเทือนใจทนดูอยู่ไม่ได้ ก็โดดออกจากวงรับประทานอาหาร ปุ๊บปับหนีไปเลย นั่นแหละ เป็นต้นเหตุให้เราตัดสินใจบวช...”
สู่ร่มกาสาวพัสตร์
ท่านได้บรรพชาอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ วัดโยธานิมิตร บ้านหนองขอนกว้าง ตำบลหนองบัว อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี เมื่อวันอังคารที่ ๑๒ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๗๗ ตรงกับวันขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๗ ปีจอ พระอุปัชฌาย์คือ ท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) วัดโพธิสมภรณ์ อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี ได้ให้ฉายานามว่า “ญาณสมฺปนฺโน” แปลว่า “ผู้ถึงพร้อมด้วยญาณ”
ด้วยความที่เป็นคนมีอุปนิสัยจริงจัง คิดว่า “พอบวชแล้ว เราจะตั้งหน้าบวชให้สมบูรณ์แบบ ไม่ให้ตำหนิติเตียนเจ้าของได้ในหลักธรรมหลักวินัยข้อใดเลย เราจะเอาจริงเอาจังจนกระทั่งวันสึก กะไว้อย่างนาน ๒ ปี จะทำหน้าที่บวชให้สมบูรณ์ที่สุด จะเรียนหนังสืออะไรๆก็แล้วแต่เถอะ จะทำหน้าที่ให้สมบูรณ์”
แม้เรียนปริยัติ ก็ไม่ทิ้งเรื่องภาวนา
ท่านได้ไปถามคำภาวนาจากท่านพระครู “กระผมอยากภาวนา จะให้ภาวนายังไง?” “เออ! ให้ภาวนา พุทโธ นะ เราก็ภาวนา พุทโธ เหมือนกัน ท่านได้ฝึกหัดภาวนาอย่างไม่ลดละ แรกๆจิตใจก็ไม่สงบเท่าใดนัก แต่เมื่อทำอยู่หลายครั้งหลายหน จิตก็เริ่มสงบตัวลงไปโดยลำดับ จนกระทั่งเห็นความอัศจรรย์ของจิต
“เมื่อเรียนธรรมะไปตรงไหน มันสะดุดใจเข้าไปเรื่อยๆ นับตั้งแต่ นวโกวาท ที่เป็นพื้นฐานแห่งการศึกษาเบื้องต้น ยิ่งได้อ่านพุทธประวัติ ทำให้เกิดความสลดสังเวช สงสารพระพุทธองค์ ในเวลาที่ทรงลำบาก เพราะทรมานพระองค์เองก่อนตรัสรู้ธรรม จนถึงกับน้ำตาร่วงไปเรื่อยๆ พออ่านจบ เกิดความสลดใจอย่างยิ่ง ในความพากเพียรของพระองค์ซึ่งเป็นกษัตริย์ทั้งองค์ ทรงสละราชสมบัติออกทรงผนวช เป็นคนขอทานล้วนๆ ซึ่งสมัยนั้นไม่มีศาสนา คำว่าการให้ทานได้บุญอย่างนั้น การรักษาศีลได้บุญอย่างนี้ ไม่เคยมี พระองค์ก็ต้องเป็นคนอนาถา และขอทานเขามาโดยตรง และฝึกอบรมพระองค์เต็มพระสติกำลังทุกวิถีทาง เป็นเวลา ๖ ปี ถึงได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าขึ้นมา
ในขณะที่อ่านประวัติของพระพุทธเจ้าที่ได้ตรัสรู้ธรรม รู้สึกอัศจรรย์อย่างยิ่ง ถึงกับน้ำตาร่วงเช่นเดียวกัน เมื่อได้อ่านประวัติของพระสาวกอรหันต์ทั้งหลาย ที่ท่านออกมาจากสกุลต่างๆกัน ตั้งแต่พระราชามหากษัตริย์ มหาเศรษฐี กุฎุมพี พ่อค้า ประชาชน ตลอดคนธรรมดา ท่านกล่าวว่า
“...องค์ไหนออกมาจากสกุลใด หลังจากได้รับพระโอวาทจากพระพุทธเจ้าแล้ว ต่างก็ไปบำเพ็ญในป่าในเขาอย่างเอาจริงเอาจัง เดี๋ยวองค์นั้นสำเร็จเป็นพระอรหันต์อยู่ที่นั่น องค์นั้นสำเร็จอยู่ในป่านั้น ในเขาลูกนั้น ในถ้ำนั้น ในทำเลนี้มีแต่ที่สงบสงัด ก็เกิดความเชื่อเลื่อมใสขึ้นมา ทำให้ใจหมุนติ้ว เรื่องภายนอกก็ค่อยจืดไปจางไป...”
“...ทีแรกก็คิดจะไปสวรรค์ ไปพรหมโลก พออ่านประวัติพระสาวกมากๆเข้า มันไม่อยากไปล่ะสิ อยากไปนิพพาน สุดท้ายก็อยากไปแต่นิพพานอย่างเดียว อยากเป็นพระอรหันต์อย่างเดียวเท่านั้น ไม่มีเปอร์เซ็นต์อื่นเข้ามาเจือปนเลย ทีนี้จิตมันก็พุ่งลงตรงนั้น ลงช่องเดียว ความตั้งใจเดิมว่าจะบวชเพียง ๒ พรรษา แล้วละสิกขาลาเพศไปนั้น ค่อยจืดจางลงไปทุกขณะ กลับเพิ่มพูนความยินดีในเพศนักบวชมากเข้าไปทุกที เรื่องธรรมะก็รู้สึกดูดดื่มยิ่งขึ้นเรื่อยๆ จิตใจก็เปลี่ยนแปลงไป...”
ด้วยเหตุนี้เอง ในระยะต่อมาท่านจึงได้ออกจากบ้านตาด ไปศึกษาเล่าเรียนในที่ต่างๆ จนกระทั่งได้ตั้งสัจจอธิษฐานไว้เลยว่า “เมื่อจบเปรียญ ๓ ประโยคแล้ว จะออกปฏิบัติโดยถ่ายเดียวเท่านั้น ไม่มีข้อแม้ ไม่มีเงื่อนไข เพราะอยากพ้นทุกข์เหลือกำลัง อยากเป็นพระอรหันต์นั่นเอง”
แต่ถึงกระนั้น ก็ยังอดสงสัยไม่ได้ว่า “เวลานี้มรรคผลนิพพาน จะมีอยู่เหมือนครั้งพุทธกาลหรือไม่?” ท่านได้เก็บความสงสัยนี้ฝังอยู่ภายในใจ เพราะไม่สามารถจะระบายให้ผู้ใดฟังได้ เป็นเหตุให้ท่านมุ่งหวังอยากพบ ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ซึ่งท่านเคยได้ยินชื่อเสียงมานาน และเชื่อมั่นอยู่ภายในใจลึกๆว่า ท่านพระอาจารย์มั่น จะสามารถแก้ข้อสงสัยนี้ได้
ในปี พ.ศ. ๒๔๘๔ ท่านเรียนจบปริยัติที่วัดเจดีย์หลวง นับได้ ๗ พรรษาพอดี โดยสอบได้ทั้งนักธรรมเอก และเปรียญ ๓ ประโยค ในปีเดียวกัน ท่านเล่าว่า “ในช่วงเรียนปริยัติ อยู่ ๗ ปี การปฏิบัติไม่ค่อยเต็มที่เท่าใดนัก เป็นเพียงสงบเล็กๆน้อยๆธรรมดาๆ มีเพียง ๓ หน ที่จิตลงถึงขนาดอัศจรรย์เต็มที่ คือ ลง กึ๊ก เต็มที่แล้วอารมณ์อะไรขาดหมดในเวลานั้น เหลือแต่รู้อันเดียว กายก็หายเงียบเลย..”
ครั้นเมื่อเรียนจบแล้ว ท่านระลึกถึงคำสัตย์ที่ตั้งไว้แต่ต้น จึงเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อหาโอกาสกราบลาพระเถระผู้ใหญ่ อาจารย์ของท่าน พอดีท่านรับนิมนต์ไปต่างจังหวัด จึงถือโอกาสนั้นเข้านมัสการกราบลาสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ติสโส อ้วน) ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดบรมนิวาสในขณะนั้น ท่านก็ยินดีอนุญาตให้ไปได้
ออกปฏิบัติเต็มตัว เป็นตายฝากไว้กับธรรม
ท่านออกเดินทางมุ่งสู่จังหวัดนครราชสีมา โดยพกหนังสือปาฏิโมกข์เพียงเล่มเดียวติดย่ามไปเท่านั้น และเข้าจำพรรษาที่วัดในอำเภอจักราช เป็นปีพรรษาที่ ๘ ท่านเร่งทำความเพียรทั้งวันทั้งคืน ตั้งแต่มาถึงทีแรกจนตลอดพรรษา
“คราวนี้จะเอาให้เต็มเม็ดเต็มหน่วย เต็มเหตุเต็มผล เอาเป็นเอาตายเข้าว่าเลย อย่างอื่นไม่หวังทั้งหมด หวังความพ้นทุกข์อย่างเดียวเท่านั้น จะให้พ้นทุกข์ในชาตินี้แน่นอน ขอแต่เพียงท่านผู้หนึ่งผู้ใด ได้ชี้แจงให้เราทราบ เรื่องมรรคผลนิพพาน ว่า มีอยู่จริงเท่านั้น เราจะมอบกายถวายชีวิตต่อท่านผู้นั้น และมอบกายถวายชีวิตต่ออรรถต่อธรรม ด้วยข้อปฏิบัติอย่างไม่ให้อะไรเหลือหลอเลย ตายก็ตายไปกับข้อปฏิบัติ ไม่ได้ตายด้วยความถอยหลัง จิตปักลงเหมือนหินหัก”
ท่านออกเดินทางจากจังหวัดนครราชสีมา มุ่งหน้าไปจังหวัดอุดรธานี ตั้งใจว่าจะไปจำพรรษากับท่านพระอาจารย์มั่น ที่วัดป่าโนนนิเวศน์ แต่ก็ไม่ทันท่าน เพราะท่านรับนิมนต์ไปจังหวัดสกลนครเสียก่อน ท่านจึงไปพักที่วัดทุ่งสว่าง จังหวัดหนองคาย พอดีมีพระมาจากวัดบ้านโคกนามน เล่าให้ฟังว่า “ท่านพระอาจารย์มั่นดุมาก ไม่เพียงแต่ดุเท่านั้น พอไล่ได้ ก็ไล่หนีเลย”
ท่านฟังแล้วรู้สึกถึงจิตถึงใจกับความเด็ดของท่านพระอาจารย์มั่น และแอบคิดอยู่แต่ผู้เดียวในใจว่า “...อาจารย์องค์นี้ล่ะ จะเป็นอาจารย์ของเรา ต้องให้เราไปเห็นเอง ท่านจะดุแบบไหน ครูบาอาจารย์ชื่อเสียงโด่งดังทั่วประเทศไทยมานานขนาดนี้ จะดุด่าขับไล่ไสส่งโดยหาเหตุผลไม่ได้นี้ เป็นไปไม่ได้...”
พบท่านพระอาจารย์มั่น
ท่านพักอยู่ที่วัดทุ่งสว่าง ประมาณ ๓ เดือน พอถึงเดือนพฤษภาคม ๒๔๘๕ เป็นพรรษาที่ ๙ ของท่าน ก็ออกเดินทางจากหนองคาย ไปสกลนคร เพื่อมุ่งสู่ท่านพระอาจารย์มั่น ซึ่งพักอยุ่ที่บ้านโคก ตำบลตองโขบ อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร
พอได้โอกาสจึงได้เข้ากราบเรียนถวายตัวเป็นศิษย์ และเรียนให้ท่านทราบถึงที่มาที่ไปพอท่านได้รู้จัก พอกราบเรียนเสร็จ ก็ครุ่นคิดวิตกกังวลอยู่ภายในใจ “ไม่อยากได้ยินเลย คำที่ว่า ที่นี่เต็มแล้ว รับไม่ได้แล้ว กลัวว่าหัวอกจะแตก...” สักครู่หนึ่ง ท่านพระอาจารย์มั่นก็พูดว่า “นี่ พอดีนะนี่ เมื่อวานนี้ท่านเนตรไปจากนี้ แล้ววันนี้ท่านมหาก็มา ไม่เช่นนั้นก็ไม่ได้อยู่ กุฏิไม่ว่าง” ท่านพระอาจารย์มั่นพูดธรรมดาๆ ถึงจะเมตตารับท่านไว้แล้วก็ตาม แต่ก็ทำให้ท่านรู้สึกหวาดเสียวอดใจหายใจคว่ำไม่ได้ เพราะเกรงว่าจะไม่ได้อยู่
ถามทางชาวบ้านเดินลัดเลาะไปตามทางด่าน ถึงวัดพอดีมืดค่ำ ก็ไปเห็นศาลาหลังหนึ่ง เกิดสงสัยขึ้น “ถ้าเป็นศาลา มันก็ดูว่าเล็กไป ถ้าว่าเป็นกุฏิ ก็จะใหญ่ไป” พอดีท่านพระอาจารย์มั่น กำลังเดินจงกรมอยู่ที่ข้างศาลา ท่านก็เดินไปพบท่านพระอาจารย์มั่นบนทางจงกรม ท่านพระอาจารย์มั่นจึงถามขึ้นว่า “ใครมานี่?” ท่านกราบเรียนว่า “ผมครับ” ท่านพระอาจารย์มั่นก็กล่าวขึ้นอย่างดุๆ พร้อมกับใส่ปัญหาให้คิดในทันทีว่า “...อันผมๆนี้ ตั้งแต่คนหัวล้านมันก็มีผม ตรงที่มันไม่ล้าน...” พอได้ยินดังนั้น ท่านรู้สึกว่า พลาดไปอย่างถนัดใจ จึงกราบเรียนขึ้นใหม่ทันทีว่า “ผม ชื่อ พระมหาบัวครับ” “เออ! ก็ว่าอย่างนั้นสิ มันถึงจะรู้เรื่องกัน อันนี้ว่า ผม ผม ใครมันก็มี ผมเต็มหัว ทุกคน”
สิ้นกังขาใน มรรค ผล นิพพาน
ท่านพระอาจารย์มั่น พูดเหมือนจะล่วงรู้วาระจิตของท่าน จึงพูดจี้เอาตรงๆในคืนแรกนี้เลยว่า ท่านพระอาจารย์มั่น แสดงเรื่องมรรคผลนิพพาน ชนิดที่ถอดออกมาจากใจท่านแท้ๆ ทำให้ท่านเกิดความมั่นใจ และเชื่อแน่ว่า มรรคผลนิพพานมีอยู่จริง ความสงสัยในเรื่องนี้ที่เคยค้างคามาแต่เดิมก็หมดสิ้นไป
“...ท่านมาหามรรคผลนิพพาน มรรคผลนิพพานอยู่ที่ไหน? ดินเป็นดิน น้ำเป็นน้ำ ลมเป็นลม ไฟเป็นไฟ ฟ้าอากาศเป็นฟ้าอากาศ แร่ธาตุต่างๆเป็นของเขาเอง เขาไม่ได้เป็นมรรคผลนิพพาน เขาไม่ได้เป็นกิเลส”
“กิเลสจริงๆ มรรคผลนิพพานจริงๆอยู่ที่หัวใจ ขอให้ท่านกำหนดจิตจ่อด้วยสติที่หัวใจ ท่านจะเห็นความเคลื่อนไหวของทั้งธรรม ของทั้งกิเลสอยู่ภายในใจ แล้วขณะเดียวกัน ท่านจะเห็นมรรคผลนิพพานไปโดยลำดับลำดา...”
ทุกข์เพราะจิตเสื่อม
แต่ด้วยความเด็ดเดี่ยว ความมุ่งมั่นจริงจัง เพื่อที่จะครองชัยชนะในการต่อสู้กับกิเลสนี้ให้ได้ ท่านพูดเสมอว่า “ถ้ากิเลสไม่ตาย เราก็ต้องตายเท่านั้น จะให้อยู่เป็นสอง ระหว่างกิเลสกับเรานั้น ไม่ได้” ท่านได้รับอุบายจากท่านพระอาจารย์มั่นในตอนจิตเสื่อมว่า “ จงปล่อยความคิดถึงมันเสีย แล้วให้คิดถึงพุทโธติดๆกันอย่าลดละ พอบริกรรมพุทโธ ถี่ยิบติดๆกันเข้า มันวิ่งกลับมาเอง คราวนี้แม้มันกลับมาก็อย่าปล่อยพุทโธ มันไม่มีอาหารกิน เดี๋ยวมันก็วิ่งกลับมาหาเรา”
พรรษาที่ ๙ เป็นพรรษาแรกที่ท่านได้จำพรรษากับท่านพระอาจารย์มั่น ณ บ้านโคก จังหวัดสกลนคร ท่านตั้งคำมั่นสัญญาขึ้นว่า “...อย่างไรจะต้องนำคำบริกรรมพุทโธ มากำกับจิตตลอดเวลา ไม่ว่าเข้าสมาธิ ออกสมาธิ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน แม้ที่สุดปัดกวาดลานวัด หรือทำกิจวัตรต่างๆ จะไม่ยอมให้สติพลั้งเผลอจากคำบริกรรมนั้นเลย...” ด้วยความมุ่งมั่นจริงจัง จิตก็เป็นสมาธิ ไม่เสื่อมอีกต่อไป
เพราะเหตุทำกลด ทำให้สมาธิของท่านเริ่มเสื่อมลง “...เป็นสภาวะที่จิตรู้สึกเข้าสมาธิไม่ค่อยสนิทเหมือนที่เคยเป็นมา บางครั้งเข้าสงบได้ แต่บางครั้งเข้าไม่ได้ ภาวะเสื่อมนี้ มันถึงขนาดจะเป็นจะตายจริงๆ เพราะทุกข์มาก เหตุที่ทุกข์มาก เพราะได้เคยเห็นคุณค่าของสมาธิที่แน่นปึ๋งมาแล้ว และก็กลับเสื่อมเอาชนิดไม่มีอะไรติดเนื้อติดตัวเลย มีแต่ฟืนแต่ไฟเผาหัวใจตลอดเวลา ทั้งวันทั้งคืน ทั้งยืนทั้งเดิน ทั้งนั่งทั้งนอน จึงเป็นทุกข์ เพราะอยากได้สมาธินั้นกลับมา ก็เป็นมหันตทุกข์จริงๆ”
โหมเร่งความเพียรเต็มกำลัง นั่งสมาธิตลอดรุ่ง
พรรษาที่ ๑๐ จำพรรษาที่บ้านนามน จังหวัดสกลนคร เป็นปีที่ ๒ ของการไปอยู่กับท่านพระอาจารย์มั่น ในพรรษานี้ท่านเร่งความเพียรอย่างเต็มเหนี่ยวยิ่งกว่าธรรมดา หักโหมทั้งร่างกายและจิตใจ กลางวันไม่นอนเลย เว้นแต่วันที่นั่งสมาธิตลอดรุ่ง วันนั้นจึงจะยอมให้พักกลางวัน ถ้าวันไหนทำความเพียรธรรมดาๆ กลางวันท่านจะไม่ยอมพักเลย ในคืนที่นั่งสมาธิตลอดรุ่งนั้น ท่านจะไม่ยอมให้พลิกเปลี่ยน หรือขยับแข้งขาใดๆ ความทุกข์ทรมานที่ปรากฏนั้น ท่านเล่าว่า
“...เหมือนกับก้นมันพองไปหมด กระดูกเหมือนจะแตกทุกข้อทุกท่อน กระดูกมันต่อกันตรงไหน หรือแม้แต่ข้อมือเหมือนมันจะขาดจากกัน ทุกขเวทนาความเจ็บปวดเวลาขึ้น มันขึ้นหมดทุกอย่างทุกแง่ทุกมุมในร่างกายเลย...”
การโหมความเพียรหลายต่อหลายครั้ง นั่งสมาธิตลอดรุ่ง ๙ คืน ๑๐ คืน เช่นนี้ ทำให้ก้นของท่านถึงกับพอง และแตกเลอะเปื้อนใส่สบงเลยทีเดียว แต่ท่านได้เห็นความอัศจรรย์ของจิต ก็ตอนต่อสู้กับเวทนาจากการนั่งตลอดรุ่งนี่เอง ดังนั้น ท่านที่สามารถพิจารณาทุกขเวทนาจนถึงความจริงของกาย ของเวทนา ของจิตได้ ย่อมเห็นธรรมอย่างประจักษ์ใจ
ติดสมาธิอยู่ ๕ ปี
ในระยะนั้น สมาธิของท่านมีความแน่นหนามั่นคงมาก ถึงขนาดที่ว่า จะให้แน่วอยู่ในสมาธิสักกี่ชั่วโมงก็ได้ และเป็นความสุขอย่างยิ่ง ไม่อยากจะออกยุ่งกับอะไร มีความพอใจกับการที่จิตหยั่งลงสู่ความรู้อันเดียวแน่วแน่อยู่อย่างนั้น สุดท้ายก็นึกว่า ความรู้เด่นๆนี่เองจะเป็นนิพพาน ท่านติดสุขในสมาธิอยู่เช่นนี้ ถึง ๕ ปีเต็ม จนท่านพระอาจารย์มั่น ต้องใช้อุบายฉุดลากออกมา “ท่านจะนอนตายอยู่นั่นหรือ? ท่านรู้ไหม? สุขในสมาธิเหมือนเนื้อติดฟัน ท่านรู้ไหม? สมาธิของพระพุทธเจ้า สมาธิต้องรู้สมาธิ ปัญญาต้องรู้ปัญญา อันนี้มันเอาสมาธิเป็นนิพพานเลย มันบ้าสมาธินี่ สมาธินอนตายอยู่นี่หรือ? เป็นสัมมาสมาธิน่ะ”
เพลินทางด้านปัญญา
พอออกจากสมาธิด้วยอำนาจธรรมอันเผ็ดร้อนของท่านพระอาจารย์มั่นเข่นเอาอย่างหนัก ก็พิจารณาทางด้านปัญญาอย่างรวดเร็ว หมุนติ้วทั้งกลางวันกลางคืนไม่ได้หลับได้นอน ก็มาตำหนิสมาธิ ว่านอนตายอยู่เปล่าๆไม่ได้เรื่องได้ราวอะไร อันที่จริง ถ้าพอดี สมาธิก็เป็นเครื่องพักจิต เป็นเหมือนหินลับปัญญาให้แหลมคม ท่านพระอาจารย์มั่นจึงเข่นเอาอีกว่า “ นั่นละ มันบ้าสังขาร บ้าหลงสังขาร” เพราะใช้สังขารจนเลยเถิดเกินประมาณ สังขารก็กลายเป็นสมุทัย หากใช้ให้พอเหมาะพอดี สังขารจึงเป็นมรรคฆ่ากิเลส
พิจารณาผ่านกามราคะ
ท่านพิจารณาด้านอสุภะ มองดูคนมีแต่หนังห่อกระดูก มีแต่เนื้อแต่หนังแดงโร่ไปหมด ราคะนี้ไม่ปรากฏเลย ค่อยหมดไปๆ โดยไม่บอกกาล บอกเวลา บอกสถานที่ ว่าหมดไปขณะนั้น เวลานั้น ท่านจึงต้องพลิกเอาสุภะ เดินจงกรมเอารูปสวยๆงามๆเข้ามาบังคับติดแนบกับตัวเอง ท่านเอาวิธีการนี้มาปฏิบัติได้ ๔ วันเต็มๆ พอคืนที่ ๔ สัก ๓-๔ ทุ่มล่วงไปแล้ว มันมีลักษณะยุบยับภายในจิต เหมือนจะกำหนัดในรูปสวยๆงามๆ นั่น แสดงว่ายังไม่สิ้น จากนั้น ก็นั่งกำหนดอสุภะไว้ตรงหน้า ตั้งให้คงที่อยู่อย่างนั้น แล้วจิตเพ่งดูด้วยความมีสติจดจ่อ ดูว่า กองอสุภะนี้จะเคลื่อนที่หรือเปลี่ยนตัวไปไหนมาไหน พอกำหนดเข้าไป อสุภะที่ตั้งอยู่ตรงหน้านั้น มันถูกจิตกลืนเข้ามา อมเข้ามาหาจิต สุดท้ายเลยรู้เห็นว่า เป็นจิตเสียเองเป็นตัวอสุภะนั้นน่ะ จิตตัวไปกำหนดว่าอสุภะนั้นน่ะ มันกลืนเข้ามาๆ เลยมาที่จิตเสียเองไปเป็น สุภะ และ อสุภะ หลอกตัวเอง จิตก็ปล่อยผลัวะทันที ปล่อยอสุภะ ข้างนอกว่า เข้าใจแล้วทีนี้ เพราะมันขาดจากกัน มันต้องอย่างนี้สิ
มหาสติมหาปัญญา
ตอนที่จิตว่างเต็มที่ ความรู้อันนี้จะเด่นเต็มที่ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มันรู้รอบหมดแล้ว มันปล่อยของมันหมดไม่มีอะไรเหลือ เหลือแต่ความรู้นี้อย่างเดียว มันมีความปฏิพัทธ์อ้อยอิ่งอยู่อย่างละเอียดสุขุม มันมีความดูดดื่มอยู่กับความรู้อันนี้อย่างเดียว พออาการใดๆเกิดขึ้นพั๊บ มันก็ดับพร้อม ถ้าครั้งพุทธกาล เรียกว่า มหาสติมหาปัญญา แต่สมัยทุกวันนี้ เรียกว่า สติปัญญาอัตโนมัติก็เหมาะสมกันแล้ว จิตดวงนี้ถึงได้เด่น และสว่างไปหมด ท่านนำเรื่องนี้ไปเล่าถวายท่านพระอาจารย์มั่น ท่านก็พูดอย่างขึงขังตึงตังว่า “เอ้อ! ถูกต้องแล้ว ได้หลักได้เกณฑ์แล้ว อย่างนี้ละ... ผมเป็นที่ถ้ำสาริกา เป็นอย่างท่านมหานี่ละ เอาเลยได้การ”
ดับอวิชชาทำลายกรงขังแห่งวัฏฏะ
พรรษาที่ ๑๖ เป็นปีที่ ๙ แห่งการออกปฏิบัติ ณ วัดดอยธรรมเจดีย์ วันจันทร์ที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๔๙๓ คืนเดือนดับ แรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๖ เวลา ๕ ทุ่มตรง เป็นคืนแห่งความสำเร็จระหว่างกิเลสกับธรรมภายในใจตัดสินกันลงได้ ท่านได้เมตตาเล่าขณะจิตตอนนั้นว่า
พอสติปัญญาเริ่มหันความสนใจเข้ามาพิจารณาจิตดวงนี้ ความรู้ชนิดหนึ่งที่ไม่คาดไม่ฝันก็ผุดขึ้นมาภายในใจว่า “ความเศร้าหมองก็ดี ความผ่องใสก็ดี ความสุขก็ดี ความทุกข์ก็ดี เหล่านี้เป็นสมมุติทั้งสิ้น และเป็นอนัตตาทั้งมวลนะ” เท่านั้นแล สติปัญญาก็หยั่งทราบว่า จิตที่ถูกอวิชชาครอบงำอยู่นั้นว่า เป็นสมมุติที่ควรปล่อยวางโดยถ่ายเดียว ไม่ควรยึดถือเอาไว้
หลังจากความรู้ที่ผุดขึ้นบอกเตือนสติปัญญาผู้ทำหน้าที่ตรวจตราอยู่ขณะนั้นผ่านไปครู่เดียว จิตและสติปัญญา เป็นราวกับว่า ต่างวางตัวเป็นอุเบกขามัธยัสถ์ ไม่กระเพื่อมตัวทำหน้าที่ใดๆ ในขณะนั้นจิตเป็นกลางๆ ไม่จดจ่อกับอะไร ไม่เผลอส่งใจไปไหน ปัญญาก็ไม่ทำงาน สติก็รู้อยู่ตามธรรมดาของตนไม่จดจ่อกับสิ่งใด ขณะจิต สติ ปัญญา ทั้งสามเป็นอุเบกขามัธยัสถ์นั้นแล เป็นขณะที่โลกธาตุภายในจิต อันมีอวิชชาเป็นผู้เรืองอำนาจ ได้กระเทือนและขาดสะบั้นบรรลัยลงจากบัลลังก์คือใจ กลายเป็นวิสุทธิจิตขึ้นมาแทนที่
ฝึกตนเองดีแล้ว จึงฝึกผู้อื่น ชื่อว่า ทำตามพระพุทธเจ้า
หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน ถือเป็นปูชนียบุคคลที่สำคัญยิ่งในพระพุทธศาสนา เป็นผู้มีคุณูปการต่อชาวไทยอย่างใหญ่หลวง ข้อวัตรปฏิปทาอันหมดจดงดงามย่อมเป็นเนติแบบอย่างที่ดีแก่อนุชนรุ่นหลังได้เจริญรอยตาม การทำอัตตัตถจริยา คือ การบำเพ็ญประโยชน์ตน ก็ถึงที่สุดแล้ว โดยอยู่จบพรหมจรรย์เสร็จกิจในพระพุทธศาสนาบรรลุคุณธรรมขั้นสูงสุด การทำญาตัตถจริยา คือ การสงเคราะห์ญาติมิตร ก็ถึงที่สุดแล้ว โดยเทศนาอบรมพระเณร และโปรดโยมมารดา จนตั้งอยู่ในอริยภูมิ การทำโลกัตถจริยา คือ การบำเพ็ญประโยชน์ต่อโลก ก็ถึงที่สุดแล้ว ด้วยเมตตาธรรมอันเปี่ยมล้นแผ่ไปในเหล่าสรรพสัตว์ ดังเช่น การช่วยเหลือ โรงพยาบาล หน่วยงานราชการ โรงเรียนต่างๆ ผู้ด้อยโอกาส ผู้ประสบทุกข์ภัย การทำนุบำรุงพุทธศาสนา การจัดตั้งเครือข่ายสถานีวิทยุเสียงธรรมเพื่อประชาชน และที่สำคัญยิ่งคือ เทศนาธรรมที่ตรงแน่วต่อมรรคผลนิพพาน ถือเป็นธรรมสมบัติอันล้ำค่า ที่องค์หลวงตาได้มอบไว้แก่ปวงศิษย์ทุกคน
แม้ในวาระสุดท้าย ที่ดับขันธ์เข้าสู่พระนิพพาน กระแสแห่งเมตตาธรรมขององค์หลวงตา ยังคงแผ่ซ่านปกคลุมไปทั่วผืนแผ่นดินไทย หลวงตาเคยพูดไว้ “ศพของเราจะเผาด้วยฟืน ส่วนเงินให้เอาไปซื้อทองคำเข้าสู่คลังหลวง” พวกเราเคยได้ยินคำพูดเช่นนี่ที่ไหนบ้าง? ไม่เคยได้ยินใครพูดเช่นนี้มาก่อนเลย แต่หลวงตาซึ่งอยู่ในวัยอันชราภาพมากแล้ว กลับพูดได้อย่างองอาจกล้าหาญ และไม่สะทกสะท้าน
ท่านเป็นพระมหาเถระที่มีคุณูปการต่อประเทศชาติอย่างใหญ่หลวง มีลูกศิษย์ลูกหาเคารพนับถือมากมาย ใช่แต่เท่านั้น หลวงตา ยังเป็นท่านพ่อ “ของทูลกระหม่อมน้อย” เจ้าฟ้าหญิงจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ดังนั้น หากจะกระทำการใดๆ เพื่อความยิ่งใหญ่แบบโลกๆแล้ว จะให้ยิ่งใหญ่ขนาดไหนก็สามารถทำได้
แต่มาบัดนี้ สิ่งที่ปรากฏท้าทายต่อสายตาของพวกเราทุกคน กลับเป็นเชิงตะกอนแบบสมถะเรียบง่าย แต่สง่างามและภูมิฐานอยู่ในที จิตกาธานอันเป็นที่ตั้งสรีระสังขารขององค์หลวงตา จะกลายเป็นภาพความงามที่ประทับอยู่ในความทรงจำของปวงศิษย์ทุกคน และตรึงทุกสายตาให้หยุดนิ่ง เมื่อยามได้ประสบพบเห็น
หลวงตาได้ใช้สรีระสังขารของท่าน หล่อหลอมหัวใจของคนไทยทั้งชาติ ให้เป็นหนึ่งเดียว กลายเป็นทองคำศักดิ์สิทธิ์ ประดิษฐานในคลังหลวง เปล่งรัศมีเหลืองอร่ามงามตระการตา มอบเป็นของขวัญชิ้นสุดท้าย คือ “หัวใจทองคำ” แก่ลูกหลานชาวไทย ให้ช่วยกันปกป้องคุ้มครอง “คลังหลวง” ให้อยู่คู่ชาติไทย ไปตลอดอนันตกาล
บัดนี้ หลวงตาได้ละสังขาร เข้าสู่แดนอมตะมหานฤพาน ลาลับจากพวกเราไป ไปแล้วไปลับไม่หวนคืนกลับ พวกเรามาส่งท่าน ณ จุดสุดท้ายปลายแดน อันเป็นรอยต่อระหว่างสมมุติ กับ วิมุติ เมื่อหวนรำลึกถึงคำกล่าวขององค์หลวงตาที่ว่า
“เวลามีชีวิตอยู่นี้ เราจะทำความดีให้โลกทั้งหลายได้เป็นคติตัวอย่างอันดีงาม และทำด้วยความเมตตาสงสารต่อโลก เพราะหลังจากนี้แล้ว...เราตายแล้ว...เราจะไม่กลับมาเกิดในโลกนี้อีกต่อไป เป็นตลอดอนันตกาล”
นี้...ช่างเป็นคำกล่าวที่องอาจกล้าหาญ ดุจพระยาไกรสรสีหราชผู้เป็นจอมไพร บันลือสีหนาทด้วยอานุภาพอันยิ่งใหญ่ ภิกษุผู้เฒ่าในวัยอันชราภาพมากแล้ว ได้ประกาศแสนยานุภาพแห่งพระพุทธศาสนา ดัวยเมตตาธรรมอันบริสุทธิ์ล้ำค่าไม่มีประมาณ ก่อให้เกิดคุณูปการแผ่ไปในเหล่าสรรพสัตว์ เปรียบหยาดน้ำฝนตกจากนภากาศ รดราดผืนพสุธาอันแห้งผาก...ให้ชุ่มฉ่ำเย็น ฉะนั้น
พ่อแม่ครูอาจารย์... องค์หลวงตา...ของปวงศิษย์ทุกคน ผู้เปรียบประดุจ ร่มโพธ์แก้ว ร่มไทรทอง ที่ให้ความร่มเย็นแก่ปวงศิษย์มาช้านาน พลันมาละสังขาร ลาลับจากพวกเราไป ช่างยากเย็นยิ่งนัก ที่จะข่มจิตหักใจ หักห้ามน้ำตามิให้หลั่งไหล ศิษย์ทั้งหลายจะขอปฏิบัติบูชา ตามรอยบาทขององค์หลวงตา เข้าสู่พระนิพพานเมืองแก้วให้จงได้ พ่อแม่ครูอาจารย์...หลวงตา... ได้ดับขันธ์ปรินิพพานจากไปแล้ว เหลือไว้แต่พระคุณนามอันเพริศแพร้วบรรเจิดจ้า กิตติศัพท์อันงามเฟื่องฟุ้งทั่วไตรโลกา เปล่งรัศมีธรรมงามสง่า ให้โลกนี้ได้ร่ำลือว่า นี่คือ หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน ผู้เป็นมหาบุรุษรัฐอัศจรรย์ยิ่งใหญ่ ผู้ทรงคุณธรรมอันล้ำเลิศ มีคุณูปการแผ่ไปในไตรโลกธาตุไม่มีผู้ใดเสมอเหมือน ผู้เหยียบแผ่นดินสะท้านสะเทือน...
ป้ายกำกับ:
พระอรหันต์
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น