วันเสาร์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2556

150 ปี วันประสูติ สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์


สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ "สมเด็จครู นายช่างใหญ่แห่งสยาม" ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับพระสัมพันธวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงพรรณราย ประสูติเมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ.2406 พระนามเดิม "พระองค์เจ้าจิตรเจริญ"

สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงรับราชการหลายตำแหน่งทั้งด้านการช่าง การทหาร และการบริหาร กล่าวคือ หลังจากการทรงศึกษาเบื้องต้นโดยทรงศึกษาภาษาไทย ภาษามคธ และภาษาเขมร แล้วทรงผนวชสามเณรอยู่หนึ่งพรรษาและเมื่อมีพระชนมายุครบผนวช โปรดให้ทำพิธีผนวช จำพรรษาที่วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อพุทธศักราช 2427

การรับราชการนั้นได้ทรงรับราชการเป็นนักเรียนนายร้อยในกรมทหารมหาดเล็ก เมื่อทรงสำเร็จการศึกษาแล้วทรงรับราชการเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติและแสดงถึงพระปรีชาสามารถมากดังปรากฏพระเกียรติคุณเป็นอย่างยิ่ง เริ่มจากทรงรับราชการเป็นนายทหารมหาดเล็ก แล้วเลื่อนเป็นราชองครักษ์ในกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ เป็นเสนาบดีกระทรวงกลาโหม เสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ เสนาบดีกระทรวงวัง จนถึงพุทธศักราช 2452 ทรงลาออกจากราชการเนื่องจากประชวรด้วยโรคพระหทัยโต แต่ก็มิได้ทรงละทิ้งงานเสียทั้งหมด ทรงปฏิบัติงานช่างอยู่เสมอ และทรงรับเป็นกรรมการฝ่ายต่างๆ เช่น กรรมการสภาการคลัง กรรมการตรวจแก้ร่างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ งานของหอพระสมุดและวรรณคดีสโมสร
ต่อมาทรงกลับเข้ารับราชการอีกครั้งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงดำรงตำแหน่งอภิรัฐมนตรีทำหน้าที่ปรึกษาราชการแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นสมาชิกสภาการคลัง และเมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่อพุทธศักราช 2476 โปรดให้ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ จนเมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัติในพุทธศักราช 2477 สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ก็ทรงลาออกจากราชการ

สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงปฏิบัติหน้าที่ทั้งด้านการบริหารและด้านการสร้างสรรค์งานศิลปกรรมอย่างยอดเยี่ยมจนได้รับการยกย่อง เป็นนายช่างใหญ่แห่งสยาม ผลงานการออกแบบที่แสดงพระอัจริยภาพของพระองค์อย่างยิ่งคือ การออกแบบพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม พระอุโบสถวัดราชาธิวาส พระอุโบสถวัดพระปฐมเจดีย์ อนุสาวรีย์ทหารอาสาสงครามโลกครั้งที่ 1 และแบบพระเมรุเจ้านายหลายพระองค์ เช่น พระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระเมรุมาศสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระเมรุสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เป็นต้น

งานด้านเขียนภาพต่างๆ ได้ทรงเขียนภาพที่ทรงคุณค่าไว้มากมาย เช่น ภาพมัจฉาชาดกที่หอพระคันธารราษฎร์ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ภาพพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ภาพร่างเรื่องเวสสันดรชาดกที่พระอุโบสถวัดราชาธิวาส ภาพประกอบพระราชพงศาวดารสมัยอยุธยา และยังทรงออกแบบสิ่งของต่างๆ เช่น แบบธง แบบพระราชลัญจกร เครื่องราชอิสริยาภรณ์ เหรียญที่ระลึก ตาลปัตรและลายพัด เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังทรงมีความรู้ความสามารถด้านดนตรี ทั้งดนตรีไทยและดนตรีสกล โดยเฉพาะดนตรีไทย ทรงเล่นเครื่องดนตรีได้หลายชนิด ทรงพระนิพนธ์เพลงไว้หลายเพลง ที่มีชื่อเสียงมากคือเพลงเขมรไทรโยค และยังมีเพลงออกทะเล เพลงมหาชัย พระนิพนธ์บทละครดึกดำบรรพ์เรื่องสังข์ทอง เรื่องคาวี เรื่องสังข์ศิลป์ชัย เป็นต้น

สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงพระนิพนธ์งานวรรณกรรมไว้จำนวนมากที่สำคัญ เช่น โคลงประกอบภาพจิตรกรรมพระราชพงศาวดาร โคลงประกอบเรื่องรามเกียรติ์ คราวฉลองพระนครครบร้อยปี พระนิพนธ์สำคัญคือ จดหมายเวรตอบโต้กับสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ โดยทรงแสดงความรู้ด้านต่างๆ ทั้งขนบธรรมเนียมประเพณี ศิลปะ วัฒนธรรม รวบรวมพิมพ์เป็นหนังสือ "สาส์นสมเด็จ" อันเป็นหนังสือที่ทรงคุณค่าอย่างยิ่ง นอกจากนี้ ยังทรงมีลายพระหัตถ์ประทานความรู้แก่บุคคลต่างๆ เช่น จดหมายตอบโต้กับพระยาอนุมานราชธน ลายพระหัตถ์กราบทูลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเรื่องรามเกียรติ์ เป็นต้น

สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 10 มีนาคม พุทธศักราช 2490 พระชนมายุ 84 ชันษา ต่อมาในพุทธศักราช 2406 องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ได้ยกย่องพระองค์เป็นบุคคลสำคัญของโลก ในโอกาสครบร้อยปีแห่งวันประสูติ

กรมศิลปากร จัดนิทรรศการ “150 ปี วันประสูติสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์” จัดแสดงพระประวัติและพระกรณียกิจของพระองค์ท่าน ณ ห้องโถงกลาง สำนักหอสมุดแห่งชาติ ถนนสามเสน กรุงเทพฯ จัดแสดงจนถึง 30 มิถุนายน 2556 เปิดวันจันทร์ - ศุกร์ เวลา 09.00-18.00 น.วันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 09.00-17.00 น. ปิดวันหยุดนักขัตฤกษ์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น