วันจันทร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

วัดถ้ำขาม อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร


        วัดถ้ำขาม หรือ ภูขาม ชาวบ้านมักเรียกว่า ภูคำขาม อยู่ในเขตบ้านคำป่า ตั้งอยู่บนภูขาม ซึ่งเป็นเขาลูกหนึ่งบนเทือกเขาภูพาน การเดินทาง ใช้เส้นทางสายสกลนคร-อุดรธานี เส้นทางหลวงหมายเลข 22 ไปประมาณ 22 กิโลเมตร มีทางแยกซ้ายเข้าทางเดียวกับพระธาตุภูเพ็กไปอีกประมาณ 10 กิโลเมตร ก่อนที่จะตรงขึ้นไปพระธาตุภูเพ็กมีทางแยกขวาไปประมาณ 30 กิโลเมตร
วัดถ้ำขามนี้เดิมเป็นที่ปฏิบัติธรรมของ พระอาจารย์ฝั้นอาจาโร ท่านได้จำพรรษาอยู่ที่วัดนี้จนถึงประมาณ พ.ศ. 2507 ท่านอาพาธจึงได้ไปจำพรรษาที่วัดป่าอุดมสมพร นอกจากนี้ยังเป็นวัดหนึ่งที่เก็บอัฐิของพระอาจารย์เทศก์ เทศรังสี ซึ่งมีผู้คนยังเดินทางมาสักการะบูชาอยู่เป็นประจำ

วัดถ้ำขาม เป็นวัดที่พระอาจารย์ฝั้น อาจาโรเป็นผู้สร้างขึ้นตั้งอยู่บนเทือกเขาภูพาน ตำบลไร่ อำเภอพรรณานิคม จังหวัดหนองคาย ตามเส้นทางสายสกลนคร-อุดรธานี (ถนนนิตโย) ก่อนถึงอำเภอพรรณานิคมเล็กน้อย มีทางเข้าได้หลายเส้นทางเช่น เส้นทางเข้าพระธาตุภูเพ็ก หรือทางบ้านไร่

วัดถ้ำขามกับความเป็นมา
           ในปี พ.ศ. ๒๔๙๖ พระอาจารย์ฝั้น  ยังคงจำพรรษาอยู่ที่วัดป่าภูธรพิทักษ์ ติดกับถนนเลี่ยงเมือง ทางไปจังหวัดกาฬสินธุ์และอำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม และวัดป่าภูธรพิทักษ์ยังติดอยู่กับวัดพระธาตุนารายณ์เจงเวงซึ่งตั้งอยู่ในเขตอำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร

           ในระหว่างตอนกลางพรรษา พระอาจารย์ฝั้น ได้ปรารภกับลูกศิษย์ท่านได้นิมิตเห็นถ้ำอยู่ทางทิศตะวันตกของเทือกเขาภูพาน ภายในถ้ำนั้นมีแสงสว่างเท่า ๆ กับตะเกียงเจ้าพายุ ๒ ดวง อากาศดี สงบ ถ้าได้ไปวิเวกที่ถ้ำแห่งนี้ เหมือนได้อยู่อีกโลกหนึ่งทีเดียว

เมื่อออกพรรษาพระอาจารย์ฝั้นได้เดินทางไปยังถ้ำตามที่ได้นิมิตแต่มิได้ตรงไปยังถ้ำ ท่านได้เดินทางไปกับพระภิกษุและสามเณรเพียง ๓ รูปเท่านั้น ท่านไปพักที่วัดป่าอุดมสมพร เพื่อพาคณะญาติโยมบำเพ็ญกุศลแก่บุพพาการี เมื่อเสร็จจึงออกเดินทางไปพักที่วัดป่ากลางโนนภู่ (วัดป่าบ้านภู่) เพื่อบำเพ็ญกุศลครบรอบวันฌาปนกิจของพระอาจารย์ภู่ ธัมมทินโน จากนั้นได้เดินทางไปพักที่ป่าช้าข้าง ๆวัดไฮ่ ๒ คืน แล้วเดินทางไปยังบ้านคำข่า พอไปถึงญาติโยมได้พาพระอาจารย์ฝั้นไปพักในป่าข้างหมู่บ้าน ชาวบ้านเรียกว่าดงวัดร้าง พระอาจารย์ฝั้น  ได้ถามญาติโยมในหมู่บ้านนี้ว่า ภูเขาแถบนี้มีถ้ำบ้างหรือไม่ พวกญาติโยมบอกว่ามีหลายแห่ง ทั้งถ้ำเล็กและถ้ำใหญ่ ในวันต่อมาพระอาจารย์ฝั้นได้พาญาติโยมขึ้นไปดูถ้ำแต่ไม่ตรงกับในนิมิตสักแห่งเดียว พระอาจารย์ฝั้น จึงได้กลับลงมาพักที่หมู่บ้าน ต่อมาพวกญาติโยมได้บอกกับพระอาจารย์ฝั้นว่ายังมีอีกถ้ำหนึ่งอยู่บนยอดเขา เป็นถ้ำใหญ่มากชาวบ้านเรียกว่า “ถ้ำขาม” เมื่อถึงวันสงกรานต์ ชาวบ้านจะขึ้นไปทำบุญ และสรงน้ำพระบนถ้ำนั้น เป็นประจำทุกปี

     ในวันรุ่งขึ้นชาวบ้านได้พาพระอาจารย์ฝั้น เดินทางไปยังถ้ำขาม เป็นเส้นทางที่ลำบากต้องปีนไต่ไปตามไหล่เขาเต็มไปด้วยขวากนาม เมื่อขึ้นไปถึงถ้ำขาม “พระอาจารย์ฝั้น ได้เดินสำรวจดูรอบบริเวณ แล้วท่านได้เอ่ยปากว่าถ้ำนี้แหละที่ได้นิมิตเห็น ท่านจึงให้ญาติโยมทำแคร่นอนขึ้นในถ้ำเพื่อจะได้พักค้างคืนที่นี่แต่ความไม่พร้อมจึงได้ลงมาพักที่หมู่บ้านที่เดิม และพร้อมให้ญาติโยมทำทางลงมาด้วยจะได้ขึ้นได้สะดวกในวันหลัง

      เช้าวันรุ่งขึ้นของวันใหม่ เมื่อพระอาจารย์ฝั้นได้ฉันเสร็จเรียบร้อย ได้เดินทางขึ้นถ้ำขามอีกครั้งพร้อมญาติโยมและเสบียงอาหาร เพราะถ้ำขามอยู่ห่างจากหมู่บ้านมาก และการออกบิณฑบาตไม่สะดวก การขึ้นถ้ำขามในครั้งนี้ พระอาจารย์ฝั้นพร้อมด้วยพระภิกษุ สามเณรได้เตรียมการเป็นที่เรียบร้อย พร้อมที่จะพักอยู่บนถ้ำขามและในเดือน มีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๗ พระอาจารย์ฝั้น ได้จำพรรษาอยู่บนถ้ำขามมีพระภิกษุ ๓ รูป เมื่อออกพรรษาพระอาจารย์ฝั้นได้พาญาติโยมชาวบ้านพัฒนาถ้ำขามและมีเส้นทางไปมาหาสู่ระหว่างชาวบ้านกับถ้ำขามสะดวกขึ้น พอถึงหน้าแล้งในปี พ.ศ.๒๔๙๘ พระอาจารย์ฝั้น ได้ชวนชาวบ้านและญาติโยมช่วยกันสร้างศาลาโรงธรรม กุฏี สระน้ำ จนเสร็จเรียบร้อย จนปรากฏเห็นอยู่ทุกวันนี้ และในเวลาต่อมาถนนได้เริ่มต้นสร้างขึ้นถ้ำขามในปี พ.ศ.๒๕๐๗ ทำให้รถยนต์ได้วิ่งขึ้นถ้ำขามได้สะดวกจนถึงทุกวันนี้

            ในปี พ.ศ. ๒๔๙๙ พระอาจารย์ฝั้น  ได้ลงจากถ้ำขามไปจำพรรษาอยู่ที่วัดป่าภูธรพิทักษ์ เมื่อออกพรรษา พระอาจารย์ฝั้น  ได้กลับขึ้นถ้ำขาม พร้อมทั้งพัฒนาถ้ำขามอย่างไม่หยุดยั้ง

             ในพรรษาปี พ.ศ. ๒๕๐๐ จนถึง พ.ศ. ๒๕๐๕ มีพระภิกษุและสามเณรจำพรรษาอยู่กับพระอาจารย์ฝั้นที่ถ้ำขาม เมื่อออกพรรษาในปี พ.ศ.๒๕๐๕ พระอาจารย์ฝั้นได้ลงจากถ้ำขามมาพักอยู่ที่วัดป่าอุดมสมพรในหน้าแล้งของปี พ.ศ.๒๕๐๕ พระอาจารย์ฝั้นได้พาญาติโยมพัฒนาเส้นทางถนนจากโรงเรียนบ้านม่วงไข่ไปบ้านหนองโดก อย่างใกล้ชิด ๕-๖ วัน ทำให้พระอาจารย์อาพาธอย่างหนัก เข้าพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลในจังหวัดสกลนคร เมื่ออาการดีขึ้นจึงได้มาพักฟื้นที่วัดป่าภูธรพิทักษ์และได้จำพรรษาที่วัดนี้ด้วย

           ในปี พ.ศ. ๒๕๐๖ ในพรรษานี้ พระอาจารย์ฝั้น  ยังคงจำพรรษาอยู่ที่วัดป่าภูธรพิทักษ์ เพราะได้รับการขอร้องจากคณะแพทย์และศิษย์กลัวว่าท่านพระอาจารย์จะขึ้นถ้ำขามเพราะต้องออกกำลังกายมาก มีอายุมากขึ้น ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพและมีญาติโยมไปกราบนมัสการท่านอาจารย์ตลอดมาทำให้ไม่ค่อยได้พักผ่อน เป็นอันตรายต่อสุขภาพ

         ในปี พ.ศ. ๒๕๐๗ พระอาจารย์เทสก์ เทสรังสี ได้กลับมาจากทางจังหวัดภูเก็ต เพราะได้เผยแผ่ศาสนาให้กับประชาชนในภาคใต้นานถึง ๑๕ ปี พระอาจารย์เทสก์ ได้กลับมาอีสานและได้มาเยี่ยมพระอาจารย์ฝั้นที่อำเภอพรรณานิคม ในวันหนึ่งพระอาจารยเทสก์ ได้ขึ้นไปถ้ำขาม เมื่อได้เห็นสภาพถ้ำขามจึงชอบมาก จึงได้จำพรรษาอยู่ที่ถ้ำขาม

           ในปี ต่อมา พระอาจารย์ฝั้น ยังคงไป ๆ มา ๆ ระหว่างวัดป่าอุดมสมพรกับวัดป่าภูธรพิทักษ์และถ้ำขาม พระอาจารย์ฝั้น เป็นพระเถระผู้ใหญ่รูปหนึ่งและเป็นศิษย์ของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ที่ผู้คนทั่วไปเคารพนับถือ พระอาจารย์ฝั้นทำให้ถ้ำขามกลายสภาพเป็นที่ปฏิบัติธรรมสำหรับพระภิกษุ สามเณรและประชาชนโดยทั่วไป
           ในปัจจุบันถ้ำขามได้รับการจัดตั้งเป็น “วัด”  มีชื่อว่าวัดถ้ำขาม ตั้งอยู่ที่ตำบลไร่ อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร และยังเป็นที่ตั้งเทสกเจดีย์ เทสรังสีอนุสรณ์ เป็นเจดีย์ที่สร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี หรือพระราชนิโรธรังสี คัมภีรปัญญาวิศิษฎ์ ที่ได้มาละสังขาร ณ วัดถ้ำขาม สมกับดั่งคำที่ได้ยกย่องหลวงปู่เทสก์ท่านว่า “ดวงประทีปแห่งลุ่มแม่น้ำโขง” มา ณ บัดนี้ ดวงประทีปดวงนี้ได้ลับไปจากขอบฟ้าแม่น้ำโขงไม่หวนกลับมาอีกแล้ว คงเหลือไว้แต่ความทรงจำที่ดีกับหลวงปู่ผู้ได้ทำให้โลกสว่างไสวตลอดไปกับความงดงามของหลวงปู่เทสก์






















ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น