โดย พระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤาษีลิงดำ) วัดท่าซุง จ.อุทัยธานี
(เทศนา ณ วันจันทร์ที่ ๖ เมษายน ๒๕๒๔)
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ(๓ จบ)
“ธัมโม หเว รักขติ ธัมมจาริง ติ”
ณ โอกาสบัดนี้อาตมาภาพจะแสดงพระธรรมเทศนาในธัมมิกคาถา คำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อเป็นเครื่องโสรจสรงองคศรัทธาบารมี มีบรรดาท่านนริศราทานบดีทั้งหลายได้มาพร้อมใจกันบำพ็ญกุศลประจำของวันตรุษ เป็นวันที่ ๓ วันนี้ซึ่งตรงกับวันขึ้น ๒ ค่ำ เดือน ๔ การที่ท่านบรรดาพุทธบริษัทั้งหลายโดยถ้วนหน้าตั้งใจมาบำเพ็ญกุศลจรรยาสัมมาปฏิบัติตามนัยที่องค์สมเด็จพระทรงสวัสดิโสภาคย์ทรงแนะนำ ทั้งนี้เพราะว่าพระพุทธเจ้ามีความปรารถนาให้เกิดความสุขแก่บรรดาท่านพุทธบริษัท โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาท่านพุทธบริษัทชายหญิง เข้ามาในวัด นอกจากจะมานมัสการพระไตรสรณคมน์ทั้ง ๓ ประการ คือ พระพุทธรัตนะ พระธรรมรัตนะ พระสังฆรัตนะแล้ว ก็ได้ปฏิบัติตามคำแนะนำขององค์พระประทีปแก้ว คือมีความสนใจในธรรม
อันดับแรก คือท่านพุทธบริษัทตั้งใจสมาทานศีล ศีลนี้ถือว่าเป็นธรรมะส่วนหนึ่งที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแนะนำว่า “บุคคลใดต้องการความสุข บุคคลนั้นให้ปฏิบัติในศีล” คำว่า “ศีล” นี้ถ้าแปลเป็นภาษาไทยก็แปลว่าปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวันนี้บรรดาท่านพุทธบริษัทได้สมาทานศีล ๕ ประการ ศีล ๕ ประการมีความหมายว่า
ข้อที่ ๑ พระพุทธเจ้าทรงแนะนำว่า จงละเว้นจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต คำว่า “สัตว์” หมายถึง คนด้วยและก็สัตว์ด้วย
ข้อที่ ๒ องค์สมเด็จพระธรรมสามิสร ทรงแนะนำว่า จงอย่าลักและอย่าขโมย ยื้อแย่งทรัพย์สินของบุคคลอื่นมาเป็นของตนโดยไม่ชอบธรรม
ข้อที่ ๓ ทรงแนะนำว่า จงเว้นจากการยื้อแย่งความรักของบุคคลอื่น
ข้อที่ ๔ ทรงแนะนำว่า วาจาใดที่เป็นวาจาดีคือ วาจาสัตย์จริง ขอให้พูดตามนั้น
ข้อที่ ๕ องค์สมเด็จพระภควันต์บรมศาสดาทรงแนะนำว่า ให้ละเว้นจากการดื่มสุราเมรัย เพราะเป็นผลที่ตั้งแห่งความประมาท
นี่แหละบรรดาท่านพุทธบริษัท สมเด็จพระบรมโลกนาถตรัสว่า ถ้าบรรดาบุคคลทั้งหลายปฏิบัติได้อย่างนี้แล้ว สมเด็จพระประทีปแก้วตรัสเป็นอานิสงค์ว่า สีเลนะ สุคติง ยันติ ซึ่งแปลเป็นใจความว่า ถ้าปฏิบัติได้อย่างนี้มีชีวิตอยู่ก็มีความสุข ตายไปชาติหน้าไปเกิดใหม่ก็มีความสุข สีเลนะ โภคสัมปทา ถ้าปฏิบัติได้อย่างนี้ ทรัพย์สินทั้งหลายที่มีมา ถ้าหามาได้ก็ไม่สิ้นเปลือง โดยไร้ประโยชน์ โทษจากการขาดจากความเป็นมีทรัพย์ก็ไม่เกิดขึ้น ตายไปแล้วก็กลายเป็นคนมีทรัพย์ สีเลนะ นิพพุติง ยันติ บุคคลผู้ปฏิบัติความดีอย่างนี้แล้ว มีชีวิตอยู่ก็มีความสงบ ตายไปแล้วก็มีความสุขอาจถึงซึ่งพระนิพพาน คือเป็นความหมายที่องค์สมเด็จพระพิชิตมารบรมศาสดาตรัส ขอขยายความสักนิดหน่อยเวลามันน้อย คำว่า ปาณาติบาต อทินนา กาเมสุมิจฉา มุสาวาท สุรา ก็ดี ทั้งหมดนี้ องค์สมเด็จพระชินศรีไม่ได้ทรงดำริตั้งขอวัตรปฏิบัติขึ้นมาใหม่ คำว่า “ศีล” นี้ก็แปลว่า ปกติ ฉะนั้น องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาทรงนำเอาความปรารถนาเป็นปกติของคนและสัตว์โลกมาแนะนำบรรดาท่านพุทธบริษัท ที่ตามพระบาลีกล่าวว่า ธรรมะมีประจำโลกอยู่แล้ว สมเด็จพระประทีปแก้วทรงนำมารวบรวมเข้าไว้เป็นความจริงให้เห็นว่า บรรดาท่านพุทธบริษัทคนทั้งโลก ชายและหญิง ไม่มีใครคนใดทั้งหมดไม่ต้องการให้ใครมาทำร้ายร่างกายเรา หรือว่าไม่ต้องการให้ใครมาเข่นฆ่าเรา เมื่อเรามีความรู้สึกอย่างนี้ เหมือนคนอื่นเขาก็รู้สึกเช่นนั้นเหมือนกัน ปกติของคนและสัตว์เป็นอย่างนี้ ประการที่ ๒ ทรัพย์สมบัติที่เราหามาได้ก็ดี จะมีมากหรือมีน้อยก็ตามที เราต้องการใช้ทรัพย์สมบัติเหล่านั้นให้เป็นประโยชน์กับเรา พร้อมกับใช้ทรัพย์สมบัติเหล่านั้นเป็นคุณประโยชน์ตามที่เราหามาได้ เราไม่ต้องการให้บุคคลใดมายื้อแย่งทรัพย์สมบัติของเราฉันใด บรรดาคนและสัตว์ทั้งหลายก็มีความรู้สึกในทรัพย์สินของเขาเช่นนั้นเหมือนกัน เขาหามาได้ เขาต้องการใช้สอยของเขาเองเหมือนกัน ไม่ต้องการให้ใครมายื้อแย่ง ประการที่ ๓ ตามปกติของคนมีความรักก็ไม่อยากให้ใครมาแย่งของรัก อยากจะทะนุถนอมความรักเฉพาะบุคคลของตัวเท่านั้น ข้อนี้มีอุปมาฉันใด คนอื่นเขาก็คิดเช่นนั้นเหมือนกัน ประการที่ ๔ องค์สมเด็จพระภควันต์ทรงกล่าวว่า บุคคลใดรักความจริง จงพูดแต่ความจริง อันนี้พุทธบริษัทชายหญิงก็คงเห็นว่า วาจาใดที่เรากล่าวแล้วหวังประโยชน์ วาจานั้นก็ต้องการวาจาสัตย์จริง ไม่ต้องการวาจาเท็จ นอกจากเป็นการพูดล้อเล่นสนุกสนานอย่างนี้ไม่ถือว่าเป็นการขาดศีล ประการที่ ๕ องค์สมเด็จพระบรมศาสดาทรงแนะนำว่า จงอย่าดื่มสุราและเมรัย เพราะว่าคนเราเกิดมาในโลกแล้วต้องการเป็นคนดีทุกคน ไม่มีใครต้องการทำตนเป็นคนบ้า คนเมาสุราเมรัย เรียกคนบ้าตามปกตินี่เอง ฉะนั้น คนทุกคนต้องการความดีเช่นนี้ องค์สมเด็จพระชินศรีบรมศาสดาทรงกล่าวว่า ถ้าเราไม่ต้องการให้ใครเขามาทำร้ายร่างกายเรา จงคิดถึงชีวิตของคนอื่นว่า เขาก็ไม่ต้องการให้ใครมาทำร้ายร่างกายเขาเหมือนกัน เมื่อต่างคนต่างเป็นมิตรที่ดี ไม่ทำร้ายร่างกายซึ่งกันและกัน แทนที่จะโกรธขึ้งเป็นศัตรู มีความคิดอยู่เสมอว่าเรากับเขาเป็นมิตรกัน เห็นหน้ากัน ยิ้มแย้มซึ่งกันและกันอย่างนี้ ก็รวมความว่า ทุกคนก็มีความสุข ไม่มีศัตรู ประการที่ ๒ ทรัพย์สินของใครเราไม่ลักขโมย ประการที่ ๓ คนรักของใครเราไม่ยื้อแย่ง ประการที่ ๔ เราพูดด้วยความจริง ประการที่ ๕ เราเป็นคนไม่บ้า เพราะการดื่มสุราและเมรัย ทั้งหมดนี้ ย่อมเป็นที่ยอมรับนับถือของคนทั้งโลก ทุกคนต่างปรารถนาความเป็นมิตรซึ่งกันและกัน เมื่อความดีอย่างนี้ปรากฏขึ้นในใจพุทธบริษัททุกท่าน ผลที่ท่านจะพึงได้ก็คือ สีเลนะ สุคติง ยันติ เราไปที่ไหนมีมิตร มีแต่คนที่รักเราก็มีความสุข สีเลนะ โภคสัมปทา ในเมื่อจิตใจคนตั้งอยู่ในระเบียบวินัย ทั้ง ๕ ประการนี้แล้ว สมเด็จพระประทีปแก้วทรงกล่าวว่า ทรัพย์สินนั้นก็ไม่จ่ายไปโดยไร้ประโยชน์ ไม่เสียไปเปล่า สิ่งที่เป็นโทษเราก็ไม่จ่าย จ่ายแต่สิ่งที่ดี จึงมีทรัพย์สมบัติบริบูรณ์ สีเลนะ นิพพุติง ยันติ ในเมื่อความดีทั้ง ๕ ประการนี้ครบถ้วน จิตใจของเราสงบปราศจากศัตรู มีแต่มิตรทุกคนต่างมีความรักซึ่งกันและกัน นี่คือผลอานิสงค์ของศีลทั้งในชาติปัจจุบัน เมื่อท่านปฏิบัติในศีลก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้ทรงธรรม
นอกจากนั้น บรรดาท่านพุทธบริษัททุกท่านมาวันนี้ ก็ยังมีความต้องการฟังธรรม ฟังพระปริตร ซึ่งเรียกว่า “พรพระ” ที่พระสวดในตอนเช้าทั้งหมดนี้ย่อมมีประโยชน์แก่บรรดาท่านพุทธบริษัท การฟังพระปริตรก็เป็นบุญมาก เป็นการกล่าวสรรเสริญคุณความดีขององค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า พระธรรม และพระอริยสงฆ์ ให้จิตไปปักอยู่ตรงนั้น แสดงว่าเป็นผู้เข้าถึงพุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ ถ้าจิตใจต้องการฟังธรรมด้วยความเคารพก็คือ เป็นผู้มีความเคารพในธรรม ที่พระพุทธเจ้าทรงกล่าวว่า “ธัมมกาโม ภวัง โหติ” แปลเป็นใจความว่า ผู้ใคร่ธรรมเป็นผู้เจริญ หมายความว่า คำว่า “ธรรม” นี้แปลว่า ความดี ความดีทั้งหมดนี้ปรากฎมีอยู่ในโลก ทำอะไรก็ตามที ถ้าจะพูดก็ไม่เสียดสีแสลงใจคน เราจะทำอะไรก็ไม่เบียดเบียนตนและคนอื่นให้เดือดร้อน อย่างนี้ก็ได้ชื่อว่า เป็นผู้ประพฤติธรรม
สำหรับวันนี้บรรดาท่านพุทธบริษัทที่ต้องการธรรมะเป็นพิเศษ ตามคำแนะนำขององค์สมเด็จพระบรมโลกเชษฐ์ ๓ ประการคือ
(๑) ทานมัย บุญสำเร็จด้วยการบริจาค ท่านนำวัตถุทานมาถวายแด่พระสงฆ์ ท่านได้กระทำแล้ว
(๒) สีลมัย บุญสำเร็จด้วยการรักษาศีล บรรดาท่านพุทธบริษัทก็ทำแล้ว
(๓) ภาวนามัย บุญสำเร็จด้วยการเจริญภาวนา คำว่า “ภาวนา” แปลว่า คิดกันด้านของความดี
เวลานี้ บรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายกำลังฟังพระธรรมเทศนาคำสอนขององค์สมเด็จพระชินศรี ก็ถือว่า เป็นคุณอันวิเศษ ฉะนั้นขอนำบุคคลตัวอย่างที่เป็นผู้ใคร่ในธรรม ในสมัยที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ สำหรับเรื่องของคนนี้ ที่บนธรรมาสน์เทศน์มาหลายครั้ง แต่ว่าวันนี้ก็ขอนำมาเทศน์ซ้ำทวนความจำของท่านว่า คนที่ใคร่ในธรรมจริงๆ ในสมัยที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงปรารภถึงฆราวาสผู้หนึ่ง ซึ่งมีนามว่า “ธัมมิกอุบาสก” คำว่า “ธัมมิกอุบาสก” นี่ไม่ใช่เป็นชื่อ แต่เป็นจริยวัตรของท่าน ชื่อจริงก็ไม่รู้ว่าชื่ออะไร ตามพระบาลีไม่ได้บอก คำว่า “ธัมมิก” แปลว่า ผู้ใคร่ในธรรม ผู้ประกอบในธรรม คำว่า “อุบาสก” ก็แปลว่า ผู้ใกล้พระพุทธศาสนา มีความเคารพในพระพุทธเจ้าจริง ในพระธรรมจริง ในพระอริยสงฆ์จริง มีศีล ๕ บริสุทธิ์จริง
สำหรับท่านธัมมิกอุบาสก ในสมัยที่พระพุทธเจ้าทรงมีชีวิตอยู่ ท่านเกิดทันสมัยขององค์สมเด็จพระบรมครู ท่านพอใจในการฟังธรรมของพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลาย จนกระทั่งจิตใจมีความสนใจในธรรม ต่อมาภายหลังท่านมีชีวิตแก่แล้ว เมื่ออายุแก่มากแล้วก็มีการป่วยไข้ไม่สบาย โอกาสที่จะไปฟังเทศน์จากองค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาก็ไม่มี แล้วโอกาสที่จะไปฟังเทศน์จากพระอรหันต์ทั้งหลายก็หาได้ยาก ครานั้นพระสงฆ์หายาก สมัยพระผู้มีพระภาคเจ้าก็อยู่เป็นหย่อมๆ พระอรหันต์ส่วนมากชอบอยู่ในถ้ำบ้าง ป่าบ้าง เขาบ้าง อยู่ในที่สงัด พระไม่เกลื่อนกล่นเหมือนเวลานี้ ต่อมาท่านธัมมิกอุบาสก คนนี้ก็ป่วยหนัก เวลานั้นกาลบังเอิญ สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประทับอยู่ในเมืองนั้นด้วย อยู่ไม่ไกลจากบ้านนัก วันหนึ่งท่านมีความปรารถนาที่จะฟังพระสวดมนต์ที่เรียกว่า “พระปริตร” แบบสวดมนต์เย็นที่สวดกันนั้นเรียกว่า “พระปริตร” ให้ท่านมีจิตใคร่ในธรรม ทำให้ท่านคิดว่า เราไม่มีโอกาสได้ฟังเทศน์ ทำให้อยากฟังพระปริตร ความจริงพระปริตรที่พระสวดเมื่อกี้นี้ถ้าฟังแปลเป็นภาษาไทยนี้จะดีมาก ทั้งนี้เพราะคนสมัยนั้นเป็นคนภาษาเดียวกัน เขาเป็นชาวมคธก็ฟังรู้เรื่อง จิตใจก็ชื่นใจเหมือนกับฟังเทศน์ แกจึงได้สั่งให้ลูกสาว ลูกชายไปอาราธนาองค์สมเด็จพระบรมโลกเชษฐ์คือพระพุทธเจ้าขอให้มาแสดงธรรม คือสวดพระปริตร ถ้าพระพุทธเจ้าไม่สามารถจะมาได้ ก็ขอพระสงฆ์คณะหนึ่งเอามาสวดพระปริตร องค์สมเด็จพระธรรมสามิสรก็ส่งพระสงฆ์มาสวดเป็นคณะไม่ทราบว่ากี่องค์ แต่ในจำนวนนั้นมีพระอานนท์เป็นหัวหน้า ต้องการฟังพระมาสวดมนต์ ไม่ต้องการฟังเทศน์ เวลาที่พระมาถึงพอดี เวลานั้น ท่านธัมมิกอุบาสก ขณะที่ก่อนจะตายท่านก็เป็นคนใคร่ในธรรม เวลาป่วยหนักเข้ามาทุกทีจิตใจก็มักอยู่ในธรรมมากขึ้น อารมณ์แห่งทิพพจักขุญาณก็ปรากฎ อันนี้เป็นของธรรมดาท่านพุทธบริษัท เพราะธรรมทำให้จิตสะอาด แต่จิตใจของบุคคลผู้ใดข้องอยู่ในธรรมจริงๆ สนใจในธรรมจริงๆ จิตของบุคคลนั้นสะอาด ในเมื่อจิตมีสภาพสะอาด จิตก็สามารถจะเป็นทิพย์ มีอารมณ์เป็นทิพย์ จิตก็สามารถเห็นภาพที่เป็นทิพย์ได้ และก็สามารถได้ยินเสียงที่เป็นทิพย์ ที่เราไม่สามารถเห็นสิ่งที่เป็นทิพย์ได้ เพราะว่าจิตของเราสกปรกจากนิวรณ์ ๕ และสกปรกจากกิเลส ถ้าหากเราสามารถระงับนิวรณ์ ๕ ได้ชั่วคราว จิตก็เป็นทิพย์ จิตสะอาด ตัดนิวรณ์ ๕ ให้ขาดไป ตัดกิเลสให้ขาดไป จิตสะอาดเป็นปกติ
สำหรับท่านธัมมิกอุบาสกก็เช่นเดียวกัน จิตนี้ใคร่อยู่ในธรรมเป็นปกติ จิตก็สะอาด เมื่อองค์สมเด็จพระบรมโลกนาถส่งพระไปสวดพระปริตร หรือจะเรียกว่า สวดมนต์เย็น สวดมนต์เช้า พอไปถึงก็เป็นการพอดี พอพระขึ้น นโม ตัสสะ ภควโต สวดไปได้ไม่ทันจบบท บรรดาเทวดาทั้งหลายใน ๖ ชั้นคือ
(๑) ชั้นจตุมหาราช
(๒) ชั้นดาวดึงส์
(๓) ชั้นยามา
(๔) ชั้นดุสิต
(๕) ชั้นนิมมานรดี
(๖) ชั้นปรนิมมิตวสวัตดี
๖ ชั้นด้วยกัน ก็นำเอารถทิพย์พร้อมด้วยขบวนเทวดาเป็นอันมากมาเพื่อจะรับ เพราะว่ากาลเวลาที่ท่านทำมิกอุบาสกจะอยู่ในเมืองมนุษย์ไม่ได้ ถึงเวลาที่จะต้องไป การจะไปก็ไปอย่างเทวดาเชิญ อันนี้เป็นธรรมดาของบุคคลทุกคน พวกเราเวลานี้ก็เหมือนกัน เวลาไหนก็เหมือนกัน ถ้าบุคคลใดก่อนจะตาย ก็ถือว่าเป็นแขกรับเชิญ ถ้าจิตของเราตกอยู่ในด้านของความดีนึกถึงบุญกุศลอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นเครื่องประจำใจ อย่างที่องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาทรงสอนให้เราเจริญภาวนาเป็นสมถภาวนา วิปัสสนาภาวนา นึกถึงความดีเป็นปกติ อย่างนี้ถ้าจะตาย เทวดา พรหม เขาจะมาเชิญ เขาจะแห่กันเป็นขนานใหญ่ มีความสวยสดงดงามเต็มจักรวาล แต่ว่าถ้าเราทำความชั่ว จิตเป็นบาปอกุศล เขาก็จะเชิญเหมือนกัน แต่ว่าพระยายมส่งให้เทวดาสี่ท่านเชิญมาลงนรก แต่ทว่ามาไม่มากแค่ ๔คน ถ้า ๔ คนนุ่งแดงห่มแดงล่ะก็มีหวังแน่นอน มีหวังว่าต้องลงนรกแน่นอน คนจะตายจะเห็นภาพแบบนี้ทุกคน ทว่าที่บอกไม่ได้เพราะว่าเวลานั้นประสาททางปากมันใช้ไม่ได้ เคยถามหลายคนแล้วที่มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ดีว่า เห็นอะไรไหม ก็บอกว่าเห็นทุกคน บางคนเห็นกองไฟก็บอกว่าไฟนรก บางคนเห็นเทวดาบ้าง เห็นสิ่งที่เป็นกุศลบ้าง อย่างนี้ไปสวรรค์ ดังนั้นคนควรนึกถึงสิ่งที่เป็นกุศลไว้เป็นประจำ คนประเภทนี้จะเห็นเทวดามามากมายต่างก็ชักชวนไปสวรรค์ชั้นนั้น สวรรค์ชั้นนี้ สำหรับท่านธัมมิกอุบาสก ก็เช่นเดียวกัน พอพระเริ่มสวดจิตก็เริ่มเป็นธรรมะ เป็นสมาธิ ความจริงการฟังพระสวดก็ดี การสวดมนต์เองก็ดี ฟังสวดมนต์ก็ดี ฟังเทศน์ก็ดี เวลานี้ที่จิตเป็นอุปจารสมาธิ ถ้าตั้งใจฟังด้วยความจริงใจ เมื่อจิตเป็นอุปจารสมาธิ จิตก็เป็นทิพย์พอดี เวลานั้นท่านธัมมิกอุบาสก จิตก็เป็นทิพย์ ก็มองเห็นเทวดา ต่างคนต่างก็เชิญประกาศตนว่าเป็นเทวดาชั้นนั้นชั้นนี้ ขอเชิญขึ้นรถทิพย์ของฉันไปอยู่สวรรค์ชั้นนั้นชั้นนี้ เสียงเทวดาเซ็งแซ่ จนกระทั่งไม่มีโอกาสได้ฟังพระสวดมนต์ ท่านจึงได้ยกมือห้ามว่า หยุดก่อน หยุดก่อน หยุดก่อน ห้ามเทวดาว่าหยุดก่อน แล้วยกมือ แต่คนทุกคนที่ไปเวลานั้นไม่มีใครเห็นเทวดา แม้แต่พระที่ไป สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าก็ไม่ได้ส่งพระที่มีทิพพจักขุญาณไป เป็นพระปกติที่ไป ไม่สามารถเห็นเทวดาเหมือนกัน อย่างนี้สมเด็จพระภควันต์คงจะมีความหมายของท่าน เพราะท่านรู้ ในเมื่อท่านธัมมิกอุบาสกยกมือพร้อมทั้งร้องเสียงอันดัง หยุดก่อน หยุดก่อน หยุดก่อน บรรดาพระทั้งหลายตกใจคิดว่าท่านธัมมิกอุบาสกคงไม่สบาย ถ้าเราสวดไปเขาไม่ตั้งใจฟังก็ไม่เกิดประโยชน์ นี่พระตาไม่ดีเท่าคนจึงได้พากันหยุด แล้วมานั่งนึกว่าถ้าเขาไม่ต้องการฟัง เราก็ไม่ควรอยู่ ดังนั้นบรรดาสาวกของพระบรมครูที่ไปวันนั้นมีแต่ตาเนื้อ ไม่มีตาทิพย์ก็กลับหมด พอพระกลับหมด กว่าเทวดาจะหยุด พระก็กลับไปนานแล้ว เมื่อเทวดาหยุดส่งเสียง ก็ลืมตาขึ้นมาตั้งใจจะฟังพระสวด ก็ปรากฏว่าพระไม่มี จึงถามลูกชายลูกสาวว่าพระไปไหน ลูกตอบว่า “พ่อไม่ต้องการฟังน่ะสิ ท่านก็ไป พ่อบอกว่า หยุดก่อนๆ” ท่านพ่อก็บอกว่า “พ่อไม่ได้บอกให้พระหยุด บอกให้เทวดาหยุด เพราะว่าฟังเสียงพระสวดไม่ได้ยิน” บรรดาลูกหญิงลูกชายก็เสียใจ พ่อเคยเป็นคนดี มีความเคารพในองค์สมเด็จพระชินศรี วันนี้เพ้อไปเสียอีกแล้ว เลยหาว่าพ่อไม่ดีเสีย พ่อยืนยันว่าเป็นความจริง ขอให้ลูกนำพวงมาลัยมา เมื่อลูกสาวลูกชายนำพวงมาลัยมา ๑ พวงแล้ว จึงถามว่า สวรรค์ทั้ง ๖ ชั้นคือ
(๑) ชั้นจาตุมหาราช
(๒) ชั้นดาวดึงส์
(๓) ชั้นยามา
(๔) ชั้นดุสิต
(๕) ชั้นนิมมานรดี
(๖) ชั้นปรนิมมิตวสวัตดี
เทวดาทั้ง ๖ ชั้นนี้ ชั้นไหนดีที่สุด บรรดาลูกหญิงลูกชายก็บอกว่าพระพุทธเจ้าทรงบอกว่า ชั้นดุสิตดีที่สุด เพราะชั้นดุสิตเข้าอยู่ยากต้องเป็นพุทธมารดา พุทธบิดา หรือว่าเป็นพระโพธิสัตว์มีบารมีเป็นปรมัตถบารมี หรือพระอริยเจ้าตั้งแต่ชั้นพระโสดาบันขึ้นไป วันนั้นเทวดามาเชิญทั้ง ๖ ชั้น แสดงว่าท่านธัมมิกอุบาสกเป็นพระอริยเจ้า ท่านยังบอกว่า “ถ้าอย่างนั้นพ่อจะโยนพวกมาลัยให้คล้องในงอนรถของเทวดาชั้นดุสิต” ท่านโยนมาลัยขึ้นไปก็คล้องในงอนรถของเทวดาชั้นดุสิต แต่ลูกไม่เห็น เห็นแต่พวกมาลัยลอยขึ้นไปในอากาศเฉยๆ ท่านยังบอกว่า นั่นแหละงอนรถของเทวดาชั้นดุสิต ก็ได้วาระพอดีถึงเวลาที่ต้องไป จิตจึงเคลื่อนออกจากร่างกาย กายทิพย์ได้ไปปรากฏอยู่บนรถของเทวดา ท่านจึงได้ไปอยู่ชั้นดุสิตต่อไป
นี่แหละบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย ความจริงเรื่องนี้ก็ได้เทศน์กันมามาก แต่ที่นำมากล่าวในที่นี้ก็เพราะว่าท่านใคร่ในธรรม การใคร่ในธรรมขอให้ใคร่กันจริงๆ ขอให้บรรดาพุทธบริษัทชายหญิงจงมีเหตุมีผล การใคร่ในธรรมนี้ ข้อแรกองค์สมเด็จพระทศพลทรงให้ข้อแรกก็คือ ศีลห้า ถ้าศีลห้าของเราไม่ทรงตัวเป็นปกติ การละเมิดศีลห้าข้อใดข้อหนึ่งเป็นปัจจัยให้เราเกิดในอบายภูมิ อบายภูมิน่ะมีสี่ คือ เป็นสัตว์นรก อสุรกาย เปรต สัตว์เดรัจฉาน ฉะนั้นการอาราธนาศีลว่า วิสุง วิสุง คือ ถือเป็นส่วน ขาดส่วนใดก็ทำให้ลงนรกได้เหมือนกัน ปาณาติบาต ถ้าเราทำลาย ปาณาติบาต ตายแล้วต้องลงนรกแน่นอน จากนรกก็เป็นเปรต เป็นอสุรกาย แล้วก็เป็นสัตว์เดรัจฉาน พอเกิดเป็นคนก็ไม่สมบูรณ์แบบ ป่วยไข้ร่างกายไม่สบายด้วยประการทั้งปวง อาการไม่ดี ทางร่างกายนี้เป็นเศษกรรมของโทษ ปาณาติบาตในอดีตชาติ
อทินนาทาน ถ้าละเมิดเมื่อไร ตายแล้วก็ลงนรกไล่มา พอเกิดเป็นมนุษย์เข้า ทรัพย์สมบัติก็สลายไป
(๑) จากไฟไหม้
(๒) ถูกโจรปล้นหรือโจรลัก
(๓) น้ำท่วม
(๔) ลมพัด
สมบัติก็สูญหายไปเพราะโทษอทินนาทานที่เราทำไว้
ข้อที่ ๓ คนในปกครองว่าไม่ได้ ไม่เชื่อฟัง ก็เพราะว่าเป็นโทษของ กาเมสุมิจฉาจาร ก็ต้องไล่มาจากนรก เปรต อสุรกายสัตว์เดรัจฉานเหมือนกัน ถ้าเกิดเป็นคน คนในปกครองของเรานั้นว่าไม่ได้ ดื้อด้านด้วยประการทั้งปวง
ข้อที่ ๔ การละเมิด มุสาวาท ไล่เบี้ยมาจากนรกอีกเหมือนกัน พอเกิดเป็นคนแล้ว องค์สมเด็จพระบรมโลกนาถทรงกล่าวว่า ถึงแม้วาจาที่เราจะพูดจริง ก็ไม่มีใครเขาอยากจะเชื่อ นี่เป็นโทษของการมุสาวาทในชาติอดีต
ข้อที่ ๕ การดื่มสุราเมรัย ก็ไปตั้งต้นมาจากนรกเหมือนกัน พอเกิดเป็นคน ก็เป็นคนโรคเส้นประสาทบ้าง เป็นคนบ้าใบ้บ้าง นี่แหละบรรดาท่านพุทธบริษัท ธรรมอันดับแรกที่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประทานคือ ศีลห้า ถ้าท่านทั้งหลายทรงศีลห้าไว้ไม่ได้ ธรรมอย่างอื่นก็ทรงตัวอยู่กับท่านไม่ได้เหมือนกัน เพราะท่านเป็นคนใจร้าย คำว่า “ใจร้าย” หมายความว่า ใจที่ปราศจากเมตตาปราณี อย่างนี้ความดีทุกอย่างมีไม่ได้ ดังนั้นบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายที่ประกาศตนว่า พุทธัง สรณัง คัจฉามิ ข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ ข้าพเจ้าขอถึงพระธรรมเป็นที่พึ่ง สังฆัง สรณัง คัจฉามิ ข้าพเจ้าขอถึงพระสงฆ์เป็นที่พึ่ง แล้วต่อไปพระก็บอกว่า ถ้าท่านต้องการเป็นที่พึ่งก็คือ ปาณาติบาต เวรมณี จงงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ พระพฤติผิดในกาม การพูดมุสาวาท ดื่มสุราเมรัย ถ้าทุกคนปฏิบัติได้อย่างนี้จะมีความสุข คือ สีเลนะ สุคติง ยันติ สีเลนะ โภคสัมปทา มีโภคสมบัติสมบูรณ์ ไม่ฝือเคืองโภคสมบัติ จิตใจสุขสงบไม่วุ่นวาย ได้แก่ สีเลนะ นิพพุติง ยันติ นี่แหละบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายโดยถ้วนหน้า เวลามันหมด หากว่าท่านตั้งใจต้องการให้องค์สมเด็จพระบรมสุคตเป็นที่พึ่งจริงๆ ขอบรรดาท่านพุทธบริษัทชายหญิง จงทำข้อแรกให้ได้คือ ศีลห้าประการ เทศน์มาก็ได้เวลา ๓๐ นาทีพอดี ขอยุติพระธรรมเทศนาไว้เพียงเท่านี้ ในที่สุดแห่งพระธรรมเทศนานี้ อาตมาภาพขอตั้งสัตยาธิษฐานอ้างคุณพระศรีรัตนตรัย มีพระพุทธรัตนะ พระธรรมรัตนะ และพระสังฆรัตนะ ทั้ง ๓ ประการ ขอจงอภิบาลพุทธบริษัททุกท่าน ให้มีความสุขสวัสดิ์พิพัฒนมงคลสมบูรณ์พูนผล และจงเจริญด้วยจตุรพิธพรชัยทั้ง ๔ ประการ มีอายุ วรรณะ สุขะ พละ และปฏิภาณ หากท่านมีความประสงค์สิ่งใดขอให้ได้สมความปรารถนาจงทุกประการ อาตมารับประทานวิสัชนามาในธัมมิกกถาขอยุติประธรรมเทศนาลงคงไว้แต่เพียงเท่านี้ เอวัง ก็มีด้วยประการฉะนี้.
ที่มา : นิตยสารธัมมวิโมกข์ ฉบับที่ ๓๑๓ ประจำเดือนเมษายน ๒๕๕๐
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น