วันอาทิตย์ที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2559

คติธรรมคำสอน "หลวงปู่ทวด"



ธรรมประจำใจ : พูดมาก เสียมาก พูดน้อยเสียน้อย ไม่พูด ไม่เสีย นิ่งได้ "โพธิสัตว์"

ละได้ย่อมสงบ : ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกล้วนเคลื่อนที่ไปสู่ความเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกใบนี้เดินไปสู่การดับสลายทั้งสิ้น  ไม่ยึด ไม่ทุกข์ ไม่สุข ละได้ย่อมสงบ

สันดาน : ภูผาอาจถูกมนุษย์ทลายลงมาได้ แต่นิสัยของคนเรากลับนอนนิ่งอยู่ในก้นบึ้งของสันดาน แต่ละคนย่อมแตกต่างกัน ขัดเกลาให้ดีเหมือนกันได้ยาก
ชีวิตทุกข์ : การเกิดมาเป็นมนุษย์ นัยหนึ่งจะว่าประเสริฐก็ประเสริฐ จะว่าไม่ประเสริฐก็ไม่ประเสริฐ เช้าตื่นขึ้นมาก็มีความทุกข์เข้าครอบงำ ต้องล้างหน้า ล้างปาก ล้างฟัน ล้างมือ เสร็จแล้วก็ต้องกิน ต้องถ่าย นี่คือความทุกข์แห่งกายเนื้อ เมื่อเราจะออกจากบ้านก็ต้องพบความทุกข์ในหมู่คณะในหน้าที่การงาน ในสัมมาอาชีวะ การเลี้ยงตนชอบ นี่คือ คววามทุกข์ในการแสวงหาปัจจัย

บรรเทาทุกข์
: การที่เราจะไม่ต้องเป็นทุกข์มากนั้น เราต้องรู้ว่าเรานี้จะไม่เอาชีวิตไปฝากไว้กับสังคม เราต้องเป็นตัวของเราเอง จะต้องวินิจฉัยเหตุการณ์ที่จะเข้ามากระทบตัวเราว่าสิ่งใดควรทำสิ่งใดไม่ควรทำ

ใจสำคัญ : การทำบุญนั้น หากทำด้วยใจบริสุทธิ์ ทำด้วยความศรัทธาแล้วผลสะท้อนกลับมาจะเกิดขึ้นเกินความคาดหมาย

ยากกว่าการเกิด : การที่เราเกิดมา ชีวิตแห่งการเกิดนั้นง่าย แต่ชีวิตแห่งการอยู่นั้นยากยิ่ง เราจะทำอย่างไรให้อยู่อย่างสุขกายสบายใจ

ไม่สิ้นสุด : แม่น้ำ ทะเล มหาสมุทร ไม่มีวันสิ้นสุดของสายน้ำฉันใด กิเลสตัณหาของมนุษย์ ก็ย่อมไม่มีที่สิ้นสุด ฉันนั้น

มารยาทของผู้ใหญ่
: ผู้ใหญ่ไม่ใช่อยู่ที่เกิดก่อน ผู้ดีไม่ใช่อยู่ที่เรียนสูง มารยาทจรรยาของการเป็นผู้ใหญ่ ก็คือต้องสุขุมรอบคอบ และไม่ยึดติดเสียงเป็นหลัก คือ ต้องไม่หวั่นไหวกับคำนินทาและสรรเสริญ

ยึดจึงเดือดร้อน :  ทุกวันนี้ เกิดความทุกข์ ความเดือดร้อน ก็เพราะมนุษย์ไปยึดโนน่ ยึดนี่ ยึดพวกยึดพ้อง ยึดหมู่ยึดคณะ ยึดประเทศเป็นสรณะ โดยไม่คำนึงถึงธรรม สากลจักรวาลโลกมนุษย์นี้ ทุกคนมีกรรมจึงเกิดมาเป็นสัตว์โลก สัตว์โลกทุนคนต้องใช้กรรมตามวาระ ตามกรรม ถ้าทุกคนยึดถือเป็นอารมณ์ ก็จะเกิดการเข่นฆ่ากัน เกิดการฆ่าฟันกัน เพราะอารมณ์แห่งการยึดถืออายตนะ ฉะนั้น ต้องพิจารณาให้ถ่องแท้ว่า สิ่งใดทำแล้ว สัตว์โลกมีความสุข สิ่งนั้นควรทำ นี่คือ หลักความจริงของธรรมะ

อยู่ให้สบาย :  ในภาวะแห่งการที่จะอยู่อย่างสบายนั้น เราต้องอยู่กันอย่างไม่ยึด อยู่กันอย่างไม่ยินดี อยู่กันอย่างไม่ยินร้าย อยู่กันอย่างพยายามให้จิตวิญญาณของนามธรรมนั้นเหนืออารมณ์ เหนือคำสรรเสริญ เหนือนินทา เหนือความผิดหวัง เหนือความสำเร็จ เหนือรัก เหนือชัง

ธรรมารมณ์ : การอยู่อย่างมีธรรมารมณ์คือ การอยู่เหนือความรู้สึกทั้งปวง อยู่อย่างรู้หน้าที่การเป็นคน และรู้หน้าที่ในการงาน คือรู้ว่าสิ่งที่เราทำนั้น เป็นสิ่งที่เราต้องทำ ไม่ใช่ทำเพื่อหวังผลตอบแทน เพราะถ้าเราทำงานเพื่อหวังผลตอบแทนต่างๆแล้ว ถ้าสิ่งต่างๆไม่สัมฤทธิ์ผลตามความหวังนั้น เราย่อมเกิดความโทมนัส เสียใจน้อยใจ เป็นทุกข์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น