วันเสาร์ที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2557

วัดพระธาตุสุโทน จ.แพร่



ออกจะเป็นเรื่องแปลก และน่าอัศจรรย์ หากใครได้มาเห็นวัดพระธาตุสุโทน ที่อ.เด่นชัย จ.แพร่ แล้วมีคนบอกว่าทั้งหมดที่เห็นนี้เป็นฝีมือของเจ้าอาวาสที่อายุเพียง 30 กว่าปี ชื่อหลวงพ่อมนตรี หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าครูบาน้อย

บางคนบอกว่าเป็นเรื่องเหลือเชื่อ ว่าเป็นไปได้ยังไงที่อดีตของพระรูปนี้เป็นลูกชาวนาในพื้นที่ อ.เด่นชัย เคยเลี้ยงวัวเลี้ยงควาย และเรียนหนังสือแค่ชั้นประถมปีที่ 7 จากนั้นก็ต้องออกด้วยเหตุผลเพราะต้องการบวช

จนถึงปี 2521( อายุ 18) ก็เริ่มก่อสร้างวัด จากนั้นอีก 17 ปี ก็แล้วเสร็จและกลายเป็นวัดที่สวยงามแห่งหนึ่งของภาคเหนือ ชนิดที่ใครมาเห็นแล้วอาจคื่นตะลึงกับความสวยงาม ว่าไม่เคยเห็นที่ใดจะอลังการเท่าวัดนี้

วัดพระธาตุสุโทน ประกอบพิธีฝังลูกนิมิตเมื่อปี 2540 โดยสมเด็จพระบรมฯเสด็จแทนพระองค์ เป็นที่ปลาบปลึ้มให้กับประชาชนชาวอำเภอเด่นชัย และชาวจังหวัดแพร่เป็นอย่างยิ่ง

วัดพระธาตุสุโทนมงคลคีรี เป็นวัดที่สวยงามตามลักษณะของสถาปัตยกรรมล้านนาแบบผสมผสาน ที่หลวงพ่อมนตรีได้จำลองรูปแบบมาจากวัดสำคัญๆของภาคเหนือ และจากประเทศอื่นได้แก่ พม่า จีน และลาว โดยเลือกเอา จุดเด่นของแต่ละแห่งมารวบรวมไว้ที่วัดนี้

เป็นการผสมผสานที่ลงตัว ทำให้มีลักษณะต่างจากวัดทั่วไป นอกจากจะนำเอาสุดยอดงานด้านพุทธศิลป์ของล้านนา ที่มีชื่อเสียงมารวมกันไว้ที่เดียวแล้ว ยังระดมช่างฝีมือชั้นยอดที่เรียกว่า"สล่า"ของภาคเหนือมาร่วมกัน

ก่อสร้างจนแล้วเสร็จ โดยมีหลวงพ่อมนตรีควบคุม ออกแบบ และลงมือก่อสร้างด้วยตัวเองในส่วนที่เป็นงานชิ้นสำคัญๆ

บ่อยครั้งที่มีผู้พบเห็นหลวงพ่อกำลังทำงานบนนั่งร้านหลังคาโบสถ์ หรือกำลังปั้นโครงพระพุทธรูปก่อนที่จะให้ช่างฝีมือดำเนินการต่อ ความสามารถในงานพุทธศิลป์ ได้รับการกล่าวขานจากผู้พบเห็นเป็นอันมาก

แม้แต่เจ้าหน้าที่จากกรมศิลปากรก็เคยมาเห็น และต่างทึ่งในฝีมือเป็นอันมาก โดยเฉพาะการเขียนลวดลายต่างๆ ไม่มีต้นแบบ ไม่มีแบบร่าง เมื่อจรดดินสอบนกระดาษก็วาดลายได้ทันที ต่างกับหลักการร่างลายไทยโดยทั่วๆไป

หลวงพ่อมนตรีมีความรู้ในเชิงช่างมาจากไหน และทำไมถึงเก่งขนาดนี้.....
   
               
ประวัติ
หลวงพ่อมนตรี เดิมชื่อเด็กชายมนตรี บุญมี เกิด พ.ศ. 2503 มีความสนใจ
พุทธศาสนา และสนใจงานปั้นมาแต่เด็ก ชอบปั้นพระมาตั้งแต่อายุ 5 ขวบ
เมื่ออายุได้ 9 ปี เคยปั้นพระหน้าตักกว้าง 3 ศอก ไว้กลางทุ่งนาแถวบ้านป่าหวาย อ.เด่นชัย โดยใช้เวลาปั้นแค่วันเดียว เมื่อบวชเรียนก็ศึกษางานปั้นจากช่างอาวุโส ที่สอนหล่อพระหล่อระฆัง จากคุณตาหมื่น บุญยเวทย์ วัย 85 และคุณตาอยู่คะณา วัย 80 ปี จากบ้านเตว็จ จังหวัดสุโขทัย จากนั้นก็ได้รับการถ่ายทอดการ ปั้นพระและสร้างวิหาร จากครูบาคัมภีระปัญญา วัดเฟือยลุง จ.น่าน

การสร้างวัด
หลวงพ่อมนตรี ได้นำเอาจุดเด่นของวัดหลายแห่งมาประยุกต์ไว้ที่วัดนี้ จากการ ี่ได้ตระเวณตามวัดต่างๆทางภาคเหนือและดินแดนล้านนาในมณฑลยูนนาน ประเทศจีน เมืองเชียงตุง พม่า และจากประเทศลาว เพื่อศึกษารูปแบบของ ศิลปะล้านนาที่บรรพบุรุษได้สรรสร้างไว้ ทั้งงานปั้น งานแกะสลัก รวมทั้ง จิตกรรมฝาผนัง พร้อมกันนี้ก็ได้เสาะหาช่างฝีมือเอกของล้านนามาร่วมงาน สร้างวัดพระธาตุสุโทน บนที่ดิน 25 ไร่ ของดอยม่อนทอง ี่ได้รับการบริจาคจากชาวบ้าน ซึ่งเคยเป็นพื้นที่ปลูกฝ้ายมาก่อน

สุดยอดของศิลปะล้านนาจำนวนถึง11 แห่ง ที่นำมาประยุกต์สร้างโบสถ์วิหาร และสิ่งปลูกสร้างต่างๆภายในวัดพระธาตุสุโทน ได้แก่

   ซุ้มประตูด้านหน้าโบสถ์ – จากวัดพระธาตุลำปางหลวง
   ซุ้มประตูด้านตะวันออก – จากวัดพระธาตุดอยสุเทพ
   ซุ้มประตูด้านตะวันตก – จากวัดพระธาตุหลวงเวียงจันทร์ซึ่งวัดนี้สร้าง
     จากช่างฝีมือเชียงใหม่ที่พระเจ้าชัยเชษฐาธิราชแห่งลาวเป็นผู้นำไปสร้าง
   ฐานพระอุโบสถรูปซิกแซก – วังประทับพระยามังราย จ.เชียงราย
   ประตูและหน้าต่างลวดลายแกะสลัก – วิหารลายคำวัดพระสิงห์ เชียงใหม่
   ปั้นลมลวดลายเก่าศิลปะทางเหนือ- จากวัดต้นเกวน อ.สเมิง เชียงใหม่
   นาค 7 เศียร แบบขอม / นางอัปสรปูนปั้น – จากวัดเจ็ดยอด เชียงใหม่
   หอไตร – วัดพระสิงห์ เชียงใหม่
   หอระฆัง – จากวัดพระธาตุหริภูญชัย
   กุฏิหลังใหญ่สร้างจากไม้สักทอง- บ้านไทยสิบสองปันนาประเทศจีน
   พระบรมธาตุ 30 ทัส ศิลปะเชียงแสน - วัดพระธาตุนอ(หน่อ)
     ของพระชนกพระเจ้าเม็งรายมหาราช จากแคว้นสิบสองปันนา

ทางธรรม
หลวงพ่อมนตรีได้ศึกษาบาลีและสมถะกรรมฐาน ณ วัดพระพุทธบาทตากผ้า
จ.ลำพูน และได้ศึกษาอักขระสมัยล้านนาจากครูบาบ้านก๋ง อ.ท่าวังผา จ.น่าน จนสามารถใช้ภาษาล้านนาได้

ได้รับการสถาปนาให้เป็น "พระครูบา"
ได้เข้าพิธีกรรมยกยอ-สถาปนาเถราภิเษก แต่งตั้งให้เป็นครูบาเมื่อปี 2541
ณ เมืองเชียงตุง ประเทศพม่า ตามราชประเพณีที่สืบทอดมาจากเมืองศรีลังกา

คำว่าครูบานี้ ผมเคยได้รับการอธิบายจากหลวงพ่อมนตรีเมื่อครั้งได้มาถ่ายภาพ ปี 2544 ท่านบอกว่าคำว่า ครูบา จริงๆแล้วไม่ไช่นึกอยากเรียกหรือจะขนาน นามกันได้ง่ายๆเหมือนที่ใช้เรียกกันอยู่ในปัจจุบัน "ครูบา" ไม่ได้หมายความว่า เป็นพระอาวุโส หรือเกจิอาจารย์อย่างที่เข้าใจ

คำว่า ครูบา ตามประเพณีของล้านนาแล้วจะได้รับการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการ ตามจารีตประเพณี โดยจะมีพระเถระเป็นกรรมการ พิจารณาความเหมาะสม ว่าสมควรได้รับสมณะครูบา นั่นก็คือจะต้องได้รับการยอมรับและผ่านความ เห็นชอบจากคณะสงฆ์ว่าได้ทำคุณประโยชน์ให้กับสังคม และนอกจากจะต้อง ได้รับความเห็นชอบจากสงฆ์แล้ว ยังต้องได้รับการยอมรับ เห็นพ้องจากสังคม ชาวบ้านด้วย ปัจจุบันการแต่งตั้งครูบาในเมืองไทยไม่มีแล้ว แต่ที่เชียงตุงยังสืบสานประเพณีโบราณนี้อยู่ และในปันั้นมีพระจากภาคเหนือและประเทศทางแถบ ล้านนาได้รับเลื่อนสมณะศักดิ์เป็นครูบาจำนวน 5 รูป

สถานที่ตั้งวัด
ตั้งอยู่บนถนนหมายเลข 101 เด่นชัย-ลำปาง ห่างจากสี่แยกเด่นชัยประมาณ 5 กม. อยู่ห่างจากจังหวัดแพร่ประมาณ 30 กม. ตั้งอยู่ ณ บ้านห้วยน้ำพริก หมู่ที่5 ต.เด่นชัย อ.เด่นชัย จ.แพร่ สถานที่ใกล้เคียง ได้แก่ กองพันทหารม้าที่ 12














ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น