วันเสาร์ที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2556

คติธรรม คำสอน สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก


         "อำนาจของกรรมใหญ่ยิ่งที่สุดในโลก แม้อำนาจของกรรมดี ก็ไม่อาจทำลายอำนาจของกรรมชั่ว และอำนาจของกรรมชั่ว ก็ไม่อาจทำลายอำนาจของกรรมดี มีเมตตาต่อเขาผู้เป็นทุกข์นั้นดีนัก แต่อย่าลืมเมตตาตน"

               คำว่า "กรรม" แปลว่า "การกระทำ" สิ่งใดที่ถูกกระทำไปแล้วมิอาจลบล้างได้ แม้เคยทำความชั่วเพียงเล็กน้อยในอดีต ความดีที่พยายามทำทั้งชีวิต ก็ไม่สามารถลบล้างความชั่วในอดีตได้เลย เว้นเสียแต่ว่าจะย้อนเวลาไปในอดีต แล้วไปหยุดการกระทำชั่วในอดีตนั้น

                แต่จะมีประโยชน์อันใดที่จะย้อนกลับไปแก้ไข เพราะประการแรก เป็นที่ทราบกันดีว่า การย้อนเวลานั้นทำไม่ได้อยู่แล้ว หรืออาจจะทำได้ก็ได้ แต่คงใช้เวลาอีกยาวนาน แล้วจะรอวันนั้นหรือ? ก็คงไม่อยากรอเป็นแน่ ประการต่อไปคือ จะย้อนไปแก้ทำไม ในเมื่อมนุษย์มีศักยภาพในการทำความดีได้ไม่จำกัด หากจิตใจผู้ปฏิบัติลืมความชั่วทั้งหมด นำความดีใส่ไปแทน กำลังใจตั้งมั่นในความดี แล้วจะกลับไปแก้ไขอดีตทำไม ในเมื่อกำลังใจอยู่ในความดีได้แล้ว เป็นอันว่าเรื่องความชั่วในอดีตก็ไม่ต้องคิดกัน

               เมื่อบรรดาพุทธบริษัทมีโอกาสนั่งภาวนา ลองพิจารณาดูว่า "ความเมตตา" นั่นดีหรือไม่ดี สมมุติเราเจอสุนัขตัวหนึ่ง การนำอาหารไปให้ กับการเดินเข้าไปทำร้าย อย่างไหนจะได้รับผลดีมากกว่ากัน หรือเวลาเจอคนกำลังเดือดร้อน การเข้าไปช่วยเหลือ กับการหัวเราะเยาะเย้ย คิดว่าจะได้รับผลอย่างไรกลับมา

               แล้วลองมองกลับกันดู หากตัวเองกำลังเดือดร้อน แล้วมีคนเข้ามาช่วยเหลือ คิดว่าตัวเองจะมีความสุขหรือมีความทุกข์ ผู้ช่วยและผู้ถูกช่วยจะเป็นมิตรกันหรือเป็นศัตรูกัน หากมนุษย์ทุกคนมีความเมตตาแล้ว สังคมจะมีความสุขหรือความทุกข์ หากพิจารณาจนเข้าใจแล้ว จะเห็นความหมายที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ว่า "เมตตาธรรมค้ำจุนโลก"

                แล้วไม่เฉพาะเมตตาคนอื่นเท่านั้น ต้องเมตตาตัวเองด้วย แล้วทำไมต้องเมตตาตัวเองด้วย? ก็ลองถามใจตัวเองว่าต้องการความสุขหรือความทุกข์ ถ้าต้องการความทุกข์ ก็เป็นอันว่าเลิกอ่านธรรมะกันไป แต่ถ้าต้องการความสุข ย่อมเข้าใจว่า แม้การเมตตาต่อผู้อื่น ก็ยังทำให้ผู้อื่นมีความสุข แล้วการเมตตาต่อตนเอง ก็ต้องทำให้ตัวเองมีความสุขด้วยเช่นกัน

               การเมตตาตัวเองทำอย่างไรล่ะ? นั่นก็คือการตั้งใจรักษาศีล 5 ให้บริสุทธิ์ การรักษาศีลนี้ เมื่อทำแล้วได้ประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย ผู้อื่นก็มีความสุข ตัวเองก็มีความสุข ตายแล้วเกิดมาก็ยังมีความสุขด้วยอำนาจของศีลนี้เอง

                แต่ถ้าจะให้ดีถึงที่สุดก็ปฏิบัติ ทาน ศีล ภาวนา ให้ครบถ้วนไปเลย เพื่อเข้าถึงที่สุดของความเมตตา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น