วันอาทิตย์ที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2556

พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร


 พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร เกิดเมื่อวันอาทิตย์ ขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๙ ปีกุน ตรงกับวันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๔๔๒ ที่บ้านม่วงไข่ ตำบลพรรณา อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร ในตระกูล “สุวรรณรงค์” เจ้าเมืองพรรณานิคม

บิดาของท่านคือ เจ้าไชยกุมมาร (เม้า) ผู้เป็นหลานปู่ของ พระเสนาณรงค์ (นวล) และหลานอาของ พระเสนาณรงค์ (สุวรรณ์) เจ้าเมืองพรรณานิคมคนที่ ๒ และที่ ๔ ตามลำดับ

มารดาของท่านชื่อ นุ้ย เป็นบุตรีของหลวงประชานุรักษ์

พี่น้องร่วมบิดามารดา มีอยู่ทั้งหมด ๘ คน ถึงแก่กรรมแต่ยังเล็ก ๒ คน ส่วนอีก ๖ คน ได้แก่

๑. นางกองแก้ว อุปพงศ์
๒. ท้าวกุล
๓. นางเฟื้อง
๔. พระอาจารย์ฝั้น
๕. ท้าวคำพัน
๖. นางคำผัน
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ทุกคนสู่สุคติภพไปสิ้นแล้ว ยังเหลือแต่ลูกหลานที่สืบสกุลอยู่ทุกวันนี้เท่านั้น
เมื่อบุตรทุกคนเจริญวัยเป็นท้าวเป็นนางแล้ว เจ้าไชยกุมาร (เม้า) ผู้บิดา ได้อพยพพร้อมกับครอบครัวอื่น ๆ อีกหลายครอบครัว ออกจากบ้านม่วงไข่ ไปตั้งบ้านใหม่ขึ้นอีกหมู่หนึ่ง ให้ชื่อว่าบ้านบะทอง เพราะที่นั่นมีต้นทองหลางใหญ่อยู่ต้นหนึ่ง แต่ปัจจุบันต้นทองหลางใหญ่ดังกล่าวได้ตายและผุพังไปสิ้นแล้ว สาเหตุที่อพยพออกจากบ้านม่วงไข่ก็เพราะเห็นว่า สถานที่ใหม่อุดมสมบูรณ์กว่า เหมาะแก่การทำนา ทำสวน เลี้ยงสัตว์ เช่นวัว ควาย และเหมาะอย่างยิ่งสำหรับการเลี้ยงไหม เพราะเป็นพื้นที่ซึ่งมีลำห้วยขนาบอยู่ถึงสองด้าน ด้านหนึ่งคือ ลำห้วยอูนอยู่ทางทิศใต้ ส่วนอีกด้านหนึ่ง คือลำห้วยปลา อยู่ทางทิศเหนือ

ก่อนอพยพจากบ้านม่วงไข่ เจ้าไชยกุมาร (เม้า) บิดาของพระอาจารย์ฝั้น ได้เป็นผู้ใหญ่บ้านปกครองลูกบ้านให้อยู่เย็นเป็นสุขมาก่อนแล้ว ครั้นมาตั้งบ้านเรือนกันใหม่ที่บ้านบะทอง ท่านก็ได้รับความไว้วางใจให้เป็นผู้ใหญ่บ้านต่อไปอีก เพราะลูกบ้านต่างให้ความเคารพนับถือในฐานะที่ท่านเป็นคนที่มีความเมตตาอารี ใจคอกว้างขวางและเยือกเย็นเป็นทีประจักษ์มาช้านาน

สำหรับพระอาจารย์ฝั้น เมื่อครั้งยังอยู่ในวัยรุ่น มีความประพฤติเรียบร้อย อ่อนโยน อุปนิสัยในคอเยือกเย็นและกว้างขวาง เช่นเดียวกับบิดา ทั้งยังมีความขยันหมั่นเพียร อดทนต่ออุปสรรค หนักเอาเบาสู้ ช่วยเหลือกิจการงานของบิดามารดาและญาติพี่น้อง โดยไม่เห็นแก่ความลำบากยากเย็นใด ๆ ทั้งสิ้น

ส่วนในด้านการศึกษานั้น พระอาจารย์ฝั้นได้เริ่มเรียนหนังสือมาตั้งแต่ครั้งยังอยู่ที่บ้านม่วงไข่ โดยเข้าศึกษาที่วัดโพธิชัย แบบเรียนที่เขียนอ่านได้แก่ มูลบทบรรพกิจเล่ม ๑ – ๒ ซึ่งเป็นแบบเรียนที่วิเศษสุดในยุคนั้น ผู้ใดเรียนจบจะแตกฉานในด้านการอ่านเขียนไปทุกคน ผู้เป็นอาจารย์สอนหนังสือแก่ท่านในครั้งนั้น ได้แก่พระอาจารย์ตัน (บิดาของ พันตรีนายแพทย์ตอง วุฒิสาร) กับนายหุ่น (บิดาของ นายบัวดี ไชยชมภู ปลัดอำเภอพรรณานิคม)

ปรากฏว่า ท่านมีความหมั่นเพียรในการศึกษาเป็นอันมาก สามารถเขียนอ่านได้รวดเร็วกว่าเด็กอื่น ๆ ถึงขนาดได้รับความไว้วางใจจากอาจารย์ให้เป็นครูสอนเด็ก ๆ แทน ในขณะที่อาจารย์มีกิจจำเป็น

ต่อมาพระอาจารย์ฝั้น ได้ไปศึกษาต่อกับนายเขียน อุปพงศ์ พี่เขยที่เป็นปลัดขวา อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ซึ่งต่อมาได้ย้ายไปเป็นปลัดขวา อำเภอกุดป่อง จังหวัดเลย

เมื่อจบการศึกษา อ่านออกเขียนได้อย่างแตกฉานแล้ว พระอาจารย์ฝั้นมีความตั้งใจที่จะเข้ารับราชการ เพราะเป็นงานที่มีหน้ามีตา ได้รับความเคารพนับถือจากผู้คนในสมัยนั้น แต่ภายหลังได้เปลี่ยนความตั้งใจเดิมเสียโดยสิ้นเชิง

สาเหตุที่ท่านเกิดไม่ชอบงานราชการนั้น ก็เพราะเมื่อครั้งไปเล่าเรียนกับพี่เขยที่ขอนแก่น พี่เขยไห้ใช้เอาปิ่นโตไปส่งให้นักโทษอยู่เสมอ นักโทษคนหนึ่งคือ พระยาณรงค์ฯ เจ้าเมืองขอนแก่นนั้นเอง ท่านต้องโทษฐานฆ่าคนตาย จึงถูกคุมขังตามกระบิลเมือง นอกจากนี้ยังมีข้าราชการถูกจำคุกอีกบางคน เช่น นายวีระพงศ์ ปลัดซ้าย เป็นต้น ต่อมาพี่เขยได้ย้ายไปเป็นปลัดขวาที่อำเภอกุดป่อง จังหวัดเลย ครั้นเมื่อท่านเดินทางไปเยี่ยม ก็พบพี่เขยต้องหาฆ่าคนตายเข้าอีก เมื่อได้เห็นข้าราชการใหญ่โตได้รับโทษ ไม่เว้นแม้แต่ผู้ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นถึงพระยานาหมื่นดังกล่าว ท่านจึงเปลี่ยนใจ ไม่อยากเข้ารับราชการเหมือนกับคนอื่น ๆ  รีบลาพี่เขยกลับสกลนครทันที ซึ่งสมัยนั้นการคมนาคมมีทางเดียวคือทางบก จากจังหวัดเลยผ่านอุดรธานีถึงสกลนคร ท่านต้องเดินเท้าเปล่าและต้องนอนค้างกลางทางถึง ๑๐ คืน

ปรากฏว่า สภาพของบรรดานักโทษที่ท่านประสบมาทั้งโทษหนักโทษเบา ได้มาเป็นภาพติดตาท่านอยู่เสมอตั้งแต่นั้น นับได้ว่าเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ท่านรู้จักปลง และประจักษ์ถึงความไม่แน่นอนของชีวิต

 เมื่อกลับมาจากจังหวัดเลยมาถึงบ้านแล้ว ใน (ปี พ.ศ. ๒๔๖๑ เมื่อท่านอายุได้ ๑๙ ปี) ท่านได้บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดโพนทอง บ้านบะทอง ขณะที่ยังเป็นสามเณรอยู่นั้น ท่านเอาใจใส่ศึกษาและเคร่งครัดในพระธรรมวินัยเป็นอันมาก ถึงขนาดคุณย่าของท่านได้พยากรณ์เอาไว้ว่า

ในภายภาคหน้า ท่านจะเข้าไปอาศัยอยู่ในป่าขมิ้น จนตลอดชีวิต ระหว่างนั้นจะสร้างแต่คุณความดีอันประเสริฐเลิศล้ำค่า จะเป็นผู้บริสุทธิ์ผ่องใส ประชาชนทุกชั้นตั้งแต่สูงสุดจนต่ำสุด ทุกเชื้อชาติศาสนาที่ได้ฟังพระธรรมเทศนาของท่าน จะบังเกิดความเลื่อมใสในตัวท่านและรสพระธรรมที่ท่านเทศนาเป็นอันมาก

 ครั้นถึงอายุ ๒๐ ปี ท่านได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พระอุโบสถวัดสิทธิบังคม ที่บ้านไฮ่ ตำบลไร่ อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร โดยพระครูป้อง (นนทะเสน) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์สัง กับ พระอาจารย์นวล เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ระหว่างจำพรรษาอยู่ที่วัดสิทธิบังคม ท่านได้ท่องบ่นเจ็ดตำนานจนจบบริบูรณ์ ขณะเดียวกันพระอุปัชฌาย์ของท่านก็ได้สอนให้รู้จักวิธีเจริญกัมมัฏฐานตลอดพรรษาด้วย

ออกพรรษาปีนั้น ท่านได้กลับมาอยู่ที่วัดโพนทอง ซึ่งมีท่านอาญาครูธรรม เป็นเจ้าอาวาส (ภายหลังได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสกลสมณกิจ เจ้าคณะจังหวัดสกลนคร) ท่านอาญาครูธรรมชอบฝึกกัมมัฏฐานให้พระลูกวัดเสมอ หลังออกพรรษาระหว่างเดือนอ้ายถึงเดือน ๔ ท่านได้ชักชวนพระลูกวัดออกเที่ยวธุดงค์ ไปฝึกหัดภาวนาเจริญกัมมัฏฐานตามเขาลำเนาไพร ตามถ้ำตามป่าช้าต่าง ๆ ที่เป็นที่วิเวก ซึ่งพระอาจารย์ฝั้นก็ได้ติดตามไปด้วย

การฝึกหัดภาวนาในสมัยนั้น มีวิธีฝึกใจให้สงบโดยอาศัยการนับลูกประคำ กล่าวคือ เอาลูกมะแทน ๑๐๘ ลูก ร้อยเป็นพวงคล้องคอ หรือพันข้อมือไว้ เวลาเจริญพุทธานุสติกัมมัฏฐานจะด้วยการนั่ง การนอน หรือจะยืน จะเดินก็ดี เมื่อบริกรรมว่า พุทโธ ๆ จะต้องนับลูกมะแทนไปด้วยทีละลูก คือนับ พุทโธ ๑๐๘ เท่าลูกมะแทน เมื่อถึงบทธัมโมและสังโฆ ก็ต้องนับเช่นเดียวกัน หากนับพลั้งเผลอ แสดงว่าจิตใจไม่สงบ ต้องย้อนกลับไปตั้งต้นใหม่ที่พุทโธ ๑ อีก เป็นการฝึกที่ดูเผิน ๆ น่าจะง่าย แต่เมื่อปฏิบัติอย่างจริงจัง จะเห็นว่าไม่ง่ายดั่งใจนึก เพราะต้องบริกรรมอยู่ตลอดเวลาด้วยจิตที่เป็นสมาธิ เว้นไว้แต่เวลาที่นอนหลับ และเวลาที่ฉันจังหันเท่านั้น

 ใน พ.ศ. ๒๔๖๓ เดือน ๓ ข้างขึ้น เป็นระยะเวลาที่พระอาจารย์ฝั้นได้พบพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต และได้ปวารณาตนขอเป็นศิษย์พระอาจารย์มั่น ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

สาเหตุที่พบกันมีอยู่ว่า ระยะเวลาดังกล่าว พระอาจารย์มั่น พร้อมด้วยพระภิกษุสามเณรอีกหลายรูป ได้เที่ยวธุดงค์ไปพักที่วัดป่าภูไทสามัคคี บ้านม่วงไข่ ตำบลพรรณา อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร ญาติโยมทั้งหลายในบ้านม่วงไข่ ได้พากันไปนมัสการ และขอฟังพระธรรมเทศนาของท่าน สำหรับพระภิกษุที่ไปร่วมฟังด้วย มีท่านอาญาครูดี พระอาจารย์กู่ และพระอาจารย์ฝั้น

พระอาจารย์มั่น ได้แสดงพระธรรมเทศนาเบื้องต้นในเรื่องการให้ทาน รักษาศีล และการบำเพ็ญภาวนา ตามขั้นภูมิของผู้ฟัง ว่าการให้ทานและการรักษาศีลภาวนานั้น ถ้าจะให้เกิดผลานิสงส์มากจะต้องละจากความคิดเห็นที่ผิดให้เป็นถูกเสียก่อน ท่านยกตัวอย่างที่ใกล้ตัวชาวบ้านมากที่สุดขึ้นอ้างว่า ชาวบ้านม่วงไข่นั้นส่วนใหญ่นับถือภูตผีปีศาจ ตลอดจนเทวดาและนางไม้เป็นสรณะ ซึ่งเป็นเรื่องที่เหลวไหล ไร้เหตุผล ท่านได้แสดงข้อเท็จจริงขึ้นหักล้างหลายประการ และได้แสดงพระธรรมเทศนาอันลึกซึ้ง จนกระทั่งชาวบ้านเห็นจริง ละจากมิจฉาทิฏฐิ เลิกนับถือภูตผีปีศาจตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น