วันอาทิตย์ที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2556

พระสุทธิธรรมรังสีคัมภีรเมธาจารย์ (ลี ธมมฺธโร)


พระสุทธิธรรมรังสีคัมภีรเมธาจารย์(31 มกราคม พ.ศ. 2449 —26 เมษายน พ.ศ. 2504) ท่านเป็นพระนักวิปัสสนากรรมฐานสายหลวงปู่มั่นที่สำคัญยิ่งใน ประเทศไทย ซึ่งเป็นศิษย์ที่ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต โปรดปรานมากที่สุด และท่านเป็นผู้ที่ริเริ่มสร้างวัดอโศการาม จังหวัด สมุทรปราการ ให้เป็นวัดกรรมฐานสายหลวงปู่มั่นวัดแรกในเมืองหลวง และเพราะจากจุดเริ่มต้นที่ท่านเริ่มต้นนี้เอง ที่ทำให้ชาวเมืองหลวงได้รู้จักการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานสายพระป่าเป็นครั้งแรก

และท่านนี้เอง เป็นผู้ที่ได้ริเริ่มการจัดงานฉลองอันยิ่งใหญ่ในสายพระป่ากรรมฐาน คือ งานฉลองกึ่งพุทธกาล25 พุทธศตวรรษ วัดอโศการามได้อย่างยิ่งใหญ่สมศักดิ์ศรีที่เมืองไทยเป็นเมืองพระพุทธศาสนา เพื่อให้ประชาชนทุกคนมาร่วมในงานบุญกุศลอันยิ่งใหญ่ ในงานนี้มีคณะพระป่ากรรมฐานมาในงานนี้กันมากมาย เช่น หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม หลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม หลวงปู่ฝั้น อาจาโร เป็นต้น
ท่านจึงเป็นผู้ที่ท่านพระอาจารย์มั่นเมตตาและให้การยกย่องว่า “มีพลังจิตสูง เป็นผู้เด็ดเดี่ยวอาจหาญ เฉียบขาด ถึงพร้อมด้วยศีลด้วยธรรม”

ท่านเกิดในวัน พฤหัสบดี ที่31 มกราคม พ.ศ. 2449 ณ บ้านหนองสองห้อง ตำบลยางโยภาพ อำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี เวลา ๒๑.๐๐ น. เดือนยี่ แรม ๒ ค่ำ ปีมะเมีย เป็นบุตรของนายปาว และนางพ่วย นารีวงศ์ มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันรวม ๙ คน เป็น ชาย ๕ คน เป็นหญิง ๔ คน

ท่านเล่าว่า “...เมื่อเกิดมาได้ ๙ วัน เกิดมีอาการรบกวนพ่อแม่เป็นการใหญ่ ไม่มีใครสามารถเลี้ยงให้ถูกใจได้ เป็นเกิดที่เลี้ยงยากที่สุด มักร้องไห้เอาแต่ใจเสมอ เมื่อโยมแม่ออกไฟได้ ๓ วัน เราเกิดเจ็บป่วยด้วยโรคบนศีรษะไม่ยอมกินไม่ยอมนอนเป็นเวลาหลายวัน

พออายุได้ ๑๑ ปี จิตคิดขึ้นเองว่า “ไม่มีอะไรที่จะทำไม่ได้ ในเรื่องที่จะตอบแทนบุญคุณข้าวป้อนของพ่อแม่” แต่มีอยู่เรื่องหนึ่งที่ทำไม่ได้จึงพูดกับแม่ว่า “แม่...มีอยู่เรื่องเดียวที่ลูกจนใจที่สุดก็แต่เลือดในอกที่ดื่มเข้าไปเท่านั้นที่หามาตอบแทนพ่อแม่ไม่ได้”ฯ

อายุ ๑๒ ปี ได้เรียนหนังสือไทยพออ่านออกเขียนได้ เรียนก็ไม่เก่ง สอบชั้นประถมก็ตกเสียอีกคิดว่า “ช่างหัวมันปะไร” ถึงจะสอบตกแต่จะไปเรียนจนครูให้ออก

อายุ ๑๕ ปี ท่านมีคติธรรมฝังแน่นในหวัใจ ๓ อย่างคือ

๑. ในจำนวนคน ๘๐ หลังคาเรือน ในหมู่บ้านเดียวกันนี้ ท่านจะไม่ยอมให้ใครมาเหยียบหัวแม่ตีนเป็นอันขาด

๒. ในบรรดาคนที่เกิดปีเดียวกัน ท่านจะไม่ยอมแพ้ใครในเชิงหาเงิน

๓. ถ้าอายุไม่ถึง ๓๐ ปี ท่านจะไม่ยอมมีเมียจะต้องมีเงินอยู่ในกระเป๋าของตัวเองให้พอเสียก่อนจะไม่ยอมแบมือขอใครกิน ถ้าจะมีเมียต้องเป็นผู้เลือกเอง ใครจะมาข่มเหงคลุมถุงชนไม่ได้ และผู้ที่จะเป็นเมียจะต้องมีพร้อมทั้งรูปสมบัติ คุณสมบัติ และสกุลสมบัติ

ชีวิตสมณะ การแสวงหาธรรม และปฏิปทา
ปีพุทธศักราช ๒๔๖๘ อายุครบ ๒๐ ปี ท่านได้ออกบวชเมื่อวันที่ ๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๘ ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ตรงกับวันวิสาขบูชา ณ พัทธสีมาวัดบ้านหนองสองห้องโดยมี หลวงปู่อ้ม เจ้าอาวาสวัดบ้านหนองสองห้องเป็นพระอุปัชฌาย์

เมื่อท่านออกบวชได้ ๒ พรรษาจึงตั้งใจอธิษฐานให้ได้พบครูบาอาจารย์ที่ทรงคุณธรรมว่า “เวลานี้ข้าพเจ้ามุ่งหวังเอาดีทางพระศาสนาขอจงให้ได้พบครูบาอาจารย์ที่ประพฤติดีปฏิบัติชอบภายใน ๓ เดือน”

ด้วยแรงอธิษฐานของท่าน ในปีพุทธศักราช ๒๔๖๙ ท่านได้พบพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ที่วัดบูรพาราม อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี สมความตั้งใจ ท่านพระอาจารย์มั่น ท่านได้สอนให้บริกรรมภาวนา “พุทโธ” เพียงคำเดียวเท่านั้น ขณะนั้นท่านกำลังอาพาธ ท่านจึงแนะนำให้ไปพักอยู่เสนาสนะป่าบ้านท่าวังหิน ซึ่งเป็นสถานที่เงียบสงัดวิเวกดี มีพระญาณวิศิษฏ์สมิทธิวีราจารย์ (สิงห์ ขนฺตยาคโม) พระมหาปิ่น ปญฺญาพโล เป็นพระพี่เลี้ยง

ท่านขอญัตติใหม่ในคณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุตที่วัดบูรพาราม อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ในวันที่ ๒๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๐ โดยมี ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต เป็นผู้ให้ไตรสรณคมน์ และศีล พระปัญญาพิศาลเถร (หนู ฐิตปญฺโญ) เป็น พระอุปัชฌาย์ พระอธิการเพ็ง เป็นพระกรรมวาจารย์

ได้ฉายานามว่า “ธมฺมธโร” แปลว่า “พระผู้ทรงศีลธรรม”

ปีพุทธศักราช ๒๔๗๐ จำพรรษาที่เสนาสนะป่าช้าบ้านหัวงัว ตำบลกำแมด อำเภอกุดชุม จังหวัดยโสธร มี พระอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ พระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ พระอาจารย์สาม อกิญฺจโน ร่วมจำพรรษา

ปีพุทธศักราช ๒๔๗๑-๒๔๗๓ จำพรรษาที่ วัดปทุมวนาราม อำเภอปทุมวัน กรุงเทพมหานคร

ปีพุทธศักราช ๒๔๗๔ จำพรรษาที่วัดเจดีย์หลวง ตำบลพระสิงห์ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ จำพรรษาร่วมกับพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต

ในคราวที่จำพรรษวัดเจดีย์หลวงนั้น ท่านพระอาจารย์มั่น ได้สั่งให้ท่านพ่อลี ไปปฏิบัติกรรมฐาน ในที่อันมงคลสถาน ๓ แห่ง คือ

๑. ดอยขะม้อ จังหวัดลำพูน ๒. ถ้ำบวบทอง จังหวัดเชียงใหม่ ๓. ถ้ำเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่

ปีพุทธศักราช ๒๔๗๕-๒๔๗๖ จำพรรษาที่ เสนาสนะป่าช้าบ้องชี (ปัจจุบัน วัดป่าธรรมิการาม) อำเภอกระโทก (โชคชัย) จังหวัดนครราชสีมา

ปีพุทธศักราช ๒๔๗๗ จำพรรษาที่เสนาสนะป่าบ้านตะกร้อ อำเภอประจันตคาม จังหวัดปราจีนบุรี

ปีพุทธศักราช ๒๔๗๘-๒๔๙๒ จำพรรษาที่เสนาะป่าช้าผีดิบคลองกุ้ง อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี

ปีพุทธศักราช ๒๔๙๓ จำพรรษา ที่ป่าอิสิตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี ประเทศอินเดีย

ปีพุทธศักราช ๒๔๙๔ จำพรรษาที่วัดควนมีด อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

ปีพุทธศักราช ๒๔๙๕ จำพรรษา ที่เสนาะป่าบ้านผาแด่น ตำบลป่ายาง อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่

ปีพุทธศักราช ๒๔๙๖-๒๔๙๘ จำพรรษาที่วัดบรมนิวาส อำเภอปทุมวัน กรุงเทพ

ปีพุทธศักราช ๒๔๙๙-๒๕๐๔ จำพรรษาที่วัดอโศการาม ตำบลท้ายบ้าน อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ

ท่านมรณภาพด้วยอาการอันสงบ ณ วัดอโศการามในวันที่ ๒๖ เมษายน พ.ศ. ๒๕๐๔ เวลาประมาณ ๐๒.๐๐ น. สิริอายุ ๕๕ ปี ๓๓ พรรษา

หลังจากท่านมรณภาพ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฐายี) มีพระบัญชาให้เก็บศพท่านไว้ยังไม่ถวายเพลิง เอาอย่างพระมหากัสสปะเถระ ที่ในวันหนึ่งในอนาคตกาลจะมีพระศรีอริยเมตไตรย มาเผาศพพระมหากัสสปะ อย่างสมศักดิ์ศรี

นัยของท่านพ่อลีก็ขอให้เอาเยี่ยงอย่างนี้เป็นอุทาหรณ์ว่า “ผู้มีบุญกรรมที่เกี่ยวข้องกับท่านในวันข้างหน้า จะได้มาถวายเพลิงสรีระร่างของท่านอย่างสมศักดิ์ศรี”

และท่านมีบัญชาอีกว่า ในบำเพ็ญกุศลและสวดมนต์อุทิศถวายท่านพ่อลีทุกคืนบรรดาบรรพชิตและคฤหัสถ์ ซึ่งเป็นคณะศิษย์ของท่านพ่อลีได้ปฏิบัติตามมาโดยตลอด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น