วันจันทร์ที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2556

ค่าแรง 300 บาท พ่นพิษ ป.ตรี เงินเดือนขึ้นน้อยกว่า ปวช.



นักวิชาการชี้ค่าแรง 300 บาทพ่นพิษ ป.ตรี เงินเดือนเพิ่มต่ำกว่าเด็ก ปวช., ปวส. แนะอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นย้ายฐานการผลิตไปเวียดนามคุ้มค่ากว่า

เมื่อวานนี้ (22 มีนาคม) นายประพันธ์ ชัยกิจอุราใจ ผู้อำนวยการหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการทรัพยากรมนุษย์ วิทยาลัยบัณฑิตศึกษาด้านการจัดการ มหาวิทยาลัยศรีปทุม เปิดเผยผลสำรวจค่าจ้างและสวัสดิการ ประจำปี 2555/2556 จากสถานประกอบการ 343 แห่ง 23 กลุ่มอุตสาหกรรมทั่วประเทศพบว่า หลังการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน ทำให้สัดส่วนค่าจ้างระดับปริญญาตรีได้รับการปรับขึ้นเพียง 4.55% ต่ำกว่าระดับ ปวส. และ ปวช. เมื่อเทียบกับปี 2554/2555 โดย ปวช.มีการปรับค่าจ้างเพิ่มขึ้น 28.49% ขณะที่ ปวส.เพิ่มขึ้น 21.41% อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าในอีก 2 ปีข้างหน้าจะกลับสู่ภาวะที่ระดับปริญญาตรีมีอัตราการปรับขึ้นเงินเดือนที่สูงกว่า ปวช.และ ปวส.

ทั้งนี้ เมื่อเทียบอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของไทยกับประเทศในอาเซียน พบว่าค่าจ้าง 300 บาทของไทยสามารถจ้างแรงงานอินโดนีเซียได้ 2 คน สามารถจ้างแรงงาน สปป.ลาวได้ 3 คน จ้างเวียดนาม 4 คน จ้างกัมพูชา 5 คน และพม่าจ้างได้มากถึง 6 คน ดังนั้น ผู้ประกอบการโดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นจะต้องปรับตัวอย่างหนัก และอาจต้องย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะเวียดนามที่มีค้าจ้างถูกกว่าไทย ส่วนอุตสาหกรรมที่ยังจำเป็นต้องใช้แรงงาน ขณะนี้ต้องหันไปใช้แรงงานกัมพูชาแทนพม่าที่ลดลง หลังพม่าเปิดประเทศ ทำให้ภาคอุตสาหกรรมของไทยต้องปรับตัวไปใช้เทคโนโลยีผลิตแทนแรงงานคน และใช้แรงงานมีทักษะมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาจากอัตราค่าจ้างแล้วพบว่า ผู้สำเร็จการศึกษาระดับ ปวช., ปวส.สาขาวิชาชีพคหกรรมศาสตร์มีค่าจ้างมากที่สุดเดือนละ 9,372 บาท เนื่องจากธุรกิจบริการกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น ส่วนระดับปริญญาตรียังคงเป็นสาขาวิศวกรรมเดือนละ 15,588 บาท ในขณะที่สาขาเกษตรศาสตร์ค่าจ้างต่ำสุดที่เดือนละ 11,867 บาท และหากจำแนกตามพื้นที่พบว่า พื้นที่กรุงเทพฯ จ่ายค่าจ้างระดับ ปวช. และ ปวส.สูงสุด ส่วนปริญญาตรีค่าจ้างจ่ายสูงสุดที่ภาคตะวันออก ขณะที่ปริญญาโทและปริญญาเอกจ่ายค่าจ้างสูงสุดที่ภาคเหนือ

ส่วนผู้มีประสบการณ์พบว่า ค่าจ้างผู้บริหารขั้นต้น กลุ่มกฎหมายได้รับค่าจ้างสูงสุด ในขณะที่กลุ่มคลังสินค้าได้รับค่าจ้างต่ำที่สุดเมื่อเทียบสาขาอื่น หากจำแนกตามกลุ่มอุตสาหกรรม พบว่าผู้บริหารระดับสูงกลุ่มเคมีจ่ายค่าจ้างเฉลี่ยสูงสุดที่เดือนละ 182,210 บาท ระดับกลางเดือนละ 90,907 บาท กลุ่มโลจิสติกส์ ผู้บริหารระดับสูงจ่ายต่ำสุดเดือนละ 47,417 บาท ระดับกลางต่ำสุดที่เดือนละ 24,597 บาท ส่วนผู้บริหารระดับต้นจ่ายสูงสุดคือ กลุ่มพลังงานที่เดือนละ 43,178 บาท ในขณะที่กลุ่มอัญมณีจ่ายต่ำสุดที่เดือนละ 21,384 บาท

นายพงษ์เดช ศรีวชิรประดิษฐ์ รองประธานกรรมการบริหารสถาบันเสริมสร้างขีดความสามารถมนุษย์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) กล่าวว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของพนักงานเพิ่มมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และให้ทันกับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในอีกประมาณ 2 ปีข้างหน้า สำหรับค่าจ้างของผู้ที่ไม่มีประสบการณ์ ผลสำรวจก่อนการปรับค่าจ้างทั่วประเทศ 300 บาท พบว่า ผู้ที่สำเร็จการศึกษาระดับ ปวช. ปวส. มีจำนวนลดลง เพราะนิยมเรียนต่อในระดับการศึกษาที่สูงขึ้น เช่น ปริญญาตรี ทำให้นายจ้างหันไปจ้างปริญญาตรีมากขึ้น แม้เงินเดือนสูงกว่า แต่ก็ต้องดึงศักยภาพในการทำงานออกมาให้คุ้มค่าที่สุด ส่วนการจ่ายโบนัสในปี 2555 ทุกกลุ่มอุตสาหกรรมจ่ายเฉลี่ย 2.28 เดือน กลุ่มที่จ่ายสูงสุดคือ ชิ้นส่วนและอะไหล่จ่าย 8 เดือน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น