วันพุธที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2555

เคล็ดลับเลือกอาหารให้ผู้สูงวัย


ผู้สูงอายุมีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายหลายอย่างที่มีผลต่อภาวะโภชนาการ เช่น การสูญเสียฟัน ทำให้เคี้ยวอาหารไม่ละเอียด ไม่เจริญอาหาร การย่อยและการดูดซึมอาหารของกระเพาะลำไส้ลดลง ท้องอืดท้องเฟ้อง่าย ร่างกายนำสารอาหารไปใช้ประโยชน์ไม่ค่อยเหมาะสม เช่น นำโปรตีนไปใช้ได้น้อยแต่กลับสะสมไขมันได้มาก ทำให้อ้วนง่าย ในขณะเดียวกันร่างกายกลับนำน้ำตาลไปใช้ได้ช้า ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นมากหลังอาหาร

คำแนะนำเรื่องการทานอาหารสำหรับผู้สูงอายุจึงแตกต่างออกไป ดังนี้

1. ผู้สูงอายุต้องการพลังงานน้อยลง เพราะ ไม่ค่อยมีกิจกรรมที่ต้องใช้พลังงานมากนัก ดังนั้น จึงควรทานอาหารประเภทแป้งให้น้อยลง และควรหลีกเลี่ยงการกินน้ำตาลในรูปต่างๆ เช่น น้ำอัดลม ขนมหวาน หรือผลไม้ที่หวานจัด เช่น มะม่วงสุก ทุเรียน ลำไย เพราะจะทำให้อ้วนและเป็นโรคเบาหวานได้ง่าย
2. ผู้สูงอายุต้องการอาหารประเภทโปรตีนเท่าๆ กับคนหนุ่มสาว แต่ต้องเป็นโปรตีนที่คุณภาพดีและย่อยง่าย เช่นเนื้อปลา หรือเนื้อสัตว์ไม่ติดมัน สำหรับผู้สูงอายุที่ฟันไม่ดี อาจต้องสับเป็นชิ้นเล็กๆ ต้มหรือตุ๋นให้เปื่อย นอกจากนั้น ถั่วเมล็ดแห้ง ไข่ ก็เป็นแหล่งโปรตีนที่ดีและราคาถูก โดยผู้สูงอายุควรดื่มธัญพืช สำหรับผู้สูงอายุที่ไม่มีปัญหาเรื่องไขมันในเลือดสูง ไม่ควรกลัวการทานไข่มากเกินไป โดยสามารถทานไข่ได้สัปดาห์ละ 3-5 ฟอง ส่วนผู้ที่มีไขมันในเลือดสูง ควรเลี่ยงการทานไข่แดง แต่ยังทานไข่ขาวได้
3. ผู้สูงอายุต้องการไขมันน้อยลง ควรหลีกเลี่ยงไขมันและน้ำมันจากสัตว์ โดยใช้น้ำมันจากพืช เช่น น้ำมันรำข้าวและจมูกข้าว น้ำมันงา น้ำมันมะกอก เป็นต้น ควรลดอาหารที่ทอดในน้ำมันและอาหารใส่กะทิ เพราะทำให้ท้องอืดและอ้วนง่าย
4. ผู้สูงอายุต้องการแร่ธาตุ โดยเฉพาะธาตุเหล็กและแคลเซียมเพิ่มขึ้น เพื่อป้องกันโรคโลหิตจางและกระดูกโปร่งบาง โดยธาตุเหล็กมีมากในเนื้อสัตว์และเครื่องในสัตว์ ส่วนแคลเซียมมีมากใน ธัญพืช พืชตระกูลถั่วและผักใบเขียว
5. ผู้สูงอายุควรทานผลไม้และผักชนิดต่างๆ ทุกวัน เพื่อให้ได้รับวิตามินและเกลือแร่เพียงพอ นอกจากนั้น ผักและผลไม้ยังให้กากใยอาหารเพื่อกระตุ้นการทำงานของลำไส้ ทำให้ท้องไม่ผูก
6. ผู้สูงอายุควรดื่มน้ำสะอาดวันละ 6-8 แก้ว โดยอาจแบ่งดื่มครั้งละ 1 แก้ว หลังอาหารทุกมื้อ และระหว่างมื้ออาหาร เพื่อให้ร่างกายสดชื่นและท้องไม่ผูก

สุดท้่ายผู้สูงอายุควรทานอาหารให้ครบทั้ง 3 มื้อ โดยเน้นมื้อเช้าและกลางวัน มื้อเย็นควรทานเบาๆ เป็นการพักกระเพาะ ลำไส้ ควรทานอาหารว่างระหว่างมื้อด้วย โดยยึดหลักทานแต่ละมื้อให้น้อยลงแต่ทานบ่อยขึ้น เลี่ยงอาหารรสเค็มและรสจัด เลี่ยงการดื่มสุรา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น