วันเสาร์ที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2555

พระพิฆเนศใหญ่ที่สุดในโลก!เมืองนครนายก


      อุทยานพระพิฆเนศ ตั้งอยู่ที่ ต.สาริกา อ.เมือง จ.นครนายก เกิดจากแนวคิดของ "พระราชพิพัฒน์โกศล" หรือ "หลวงพ่อเณร" เจ้าอาวาสวัดศรีสุดารามวรวิหาร บางขุนนนท์ กรุงเทพฯ โดยท่านได้รับการถวายที่ดินจำนวน ๑๖ ไร่ จากลูกศิษย์หลวงพ่อภู อดีตเจ้าอาวาสวัดเวฬุราชิน ย่านบางยี่เรือ กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นที่ดินล้อมรอบด้วยคลองธรรมชาติ ปัจจุบันนี้ขยายพื้นที่เป็น ๒๓ ไร่

              เดิมทีนั้นพระราชพิพัฒน์โกศล หรือหลวงพ่อเณร เจ้าอาวาสวัดศรีสุดาราม บางขุนนนท์ กรุงเทพฯ ตั้งใจจะสร้างเป็นบ้านพักคนชรา แต่ต้องพับโครงการไปจนที่ดินถูกทิ้งร้างมาเป็นเวลานาน จนกระทั่งท่านเกิดแนวความคิดสร้างศูนย์ปฏิบัติธรรม พร้อมกับการสร้างพระพิฆเนศองค์ใหญ่ขนาดหน้าตักกว้าง ๙ เมตร สูง ๑๕ เมตร ซึ่งถือว่าใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ต่อมามีผู้ศรัทธาหลั่งไหลมาสักการะจำนวนมาก ท่านจึงคิดสร้างตำหนักเทพ เพื่อประดิษฐานเทพหลายองค์

              บริเวณทางเดินเข้าไปศาลาหอประชุมจัดเป็นสถานที่แสดงพิพิธภัณฑ์องค์พระพิฆเนศ ๑๐๘ ปาง ซึ่งทำเป็นอาคารทรงไทยสวยงาม ทางด้านในก็ประดิษฐานพระพิฆเนศปางต่างๆ มีหลายแบบหลายขนาดแต่ละแบบแต่ปางมีความสวยที่แตกต่างกันไป แต่ละองค์ถือว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ด้วยกันทั้งหมด ทางอุทยานจัดสถานที่ให้สำหรับกราบไหว้บูชาได้ด้วยเข้ามาในนี้แล้วได้กราบไหว้องค์พระพิฆเนศประจำวันเกิดของตนเอง และยังเป็นแหล่งศึกษาหาความรู้ได้อีกด้วย นอกจากนี้ยังมีหอมหาเทพ ซึ่งประดิษฐานมหาเทพสูงสุดทั้ง ๓ พระองค์คือ พระพรหม พระวิษณุ และพระศิวะ

              หลวงพ่อเณร บอกว่า พระพิฆเนศทั้ง ๒ องค์ ได้รับการยกย่องจากท่านสวามิ วิทยานานันท์ เลขาธิการศาสนสัมพันธ์ฮินดูโลก เมื่อครั้งที่ท่านเดินทางมาประชุมในประเทศไทย ท่านได้เดินทางไปกราบสักการะ พระพิฆเนศที่อุทยานพระพิฆเนศนครนายก ได้ชื่นชมและศรัทธามาก โดยได้กล่าวว่า เป็นพระพิฆเนศที่ใหญ่ที่สุดในโลกเท่าที่พบมา และมีมติว่าให้ผู้ที่นับถือศาสนาฮินดูมาร่วมกันจัดงานเทศกาลคเณศจตุรถี หรือวันเกิดพระพิฆเนศที่นี่ทุกๆ ปี โดยในปีนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ ๕ ระหว่างวันที่ ๑๙-๒๙ กันยายน ๒๕๕๕ โดยในวันสุดท้ายเวลา ๑๓.๐๐ จะมีพิธีอัญเชิญองค์พระพิฆเนศ ไปลอยลงแม่น้ำนครนายก ที่ท่าน้ำวัดเขานางบวช ซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณ ๒ กม.

              เทศกาลคเณศจตุรถี นับเป็นเทศกาลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของการบูชาพระพิฆเนศ จะกระทำในวันแรม ๔ ค่ำ เดือน ๙ และวันแรม ๔ ค่ำ เดือน ๑๐ ซึ่งถือว่าเป็นวันกำเนิดของพระพิฆเนศ เชื่อกันว่าพระองค์จะเสด็จลงมาสู่โลกมนุษย์เพื่อประทานพรอันประเสริฐสูงสุดแก่ผู้ศรัทธาพระองค์ท่าน เทศกาลนี้มีการจัดพิธีกรรมบูชาและการเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ทั่วอินเดียและทั่วโลก มีการจัดสร้างเทวรูปพระพิฆเนศขนาดใหญ่โตมโหฬาร เพื่อเข้าพิธีบูชา จากนั้นจะแห่องค์เทวรูปไปทั่วเมืองและมุ่งหน้าไปสู่แม่น้ำศักดิ์สิทธิ์สายต่างๆ ถนนหนทางทั่วทุกหนแห่งจะมีแต่ผู้คนออกมาชมการแห่องค์เทวรูปนับร้อยนับพันองค์ ผู้ศรัทธาทุกคนแต่งชุดส่าหรีสีสันสวยงาม ขบวนแห่จะไปสิ้นสุดที่แม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ เช่น แม่น้ำคงคา แม่น้ำสรัสวตี ฯลฯ แล้วทำพิธีลอยเทวรูปลงสู่แม่น้ำหรือทะเล

              ในวันธรรมดาผู้คนน้อยหน่อย ถ้าเป็นวันหยุด คนจะมาก พระพิฆเนศถือกันว่าเป็นเทพเจ้าแห่งความสำเร็จ การกราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์อย่างที่สุดก็ทำให้จิตใจเบิกบาน ได้กราบไหว้ ได้ทำบุญ คล้ายๆ เข้าวัดฟังธรรม อุทยานแห่งนี้ ยังมีดีอะไรๆ หลายๆ อย่าง นอกจากขอพรแล้วที่ขาดไม่ได้ คือ โดยเพื่อความสัมฤทธิผลในสิ่งที่ขอกับพระพิฆเนศ ให้กระซิบที่ข้างหูหนูด้านซ้าย เอามือปิดหูหนูด้านขวา หรือกระซิบหูหนูด้านขวา เอามือปิดหูหนูด้านซ้าย ซึ่งหนูจะกราบทูลเตือนพระพิฆเนศ ให้ประทานความสัมฤทธิผลในสิ่งที่ขอทุกประการ

              จ.นครนายก มีที่ท่องเที่ยวหลายแห่ง โดยเฉพาะบริเวณเส้นทางสู่น้ำตกสาริกา เช่น วัดหลวงพ่อปากแดง และพุทธอุทยานพุทธชยันตรี สถานที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ หน้าตักกว้าง ๙ เมตร และสร้างพระอรหันต์ จำนวน ๑,๒๕๐ องค์   สอบถามเส้นทางได้ที่อุทยานพระพิฆเนศ อ.เมือง จ.นครนายก  โทร.๐๘-๘๔๐๐-๙๐๐๑-๘


ปางพระพิฆเนศ


              พระพิฆเนศในยุคแรกนั้นจะเป็นพระคเนศในรูปแบบของการยืนเสียเป็นส่วนใหญ่ จากนั้นจึงได้พัฒนาเป็นการนั่ง ซึ่งมีการนั่งถึง 4 ลักษณะ ในยุคแรกไม่นิยมการทรงเครื่องประดับต่อมาจึงเริ่มมีเครื่องทรงมากขึ้น เริ่มจากสายยัชโญปวีต (สายศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนาพราหมณ์ บางทีก็เป็นงูธรรมดา ส่วนผ้าที่นุ่งนั้น จะแตกต่างกันไปตามแต่ละท้องถิ่นที่สร้างรูปเคารพส่วนเครื่องทรงนั้นมีการเพิ่มเติมมากขึ้นเช่น มงกุฎ, สร้อยคอ, สร้อยข้อมือ, สร้อยข้อเท้า, สร้อยกระดิ่ง พาหนะ เท่าที่พบในปัจจุบันมีเพียง หนู นกยูง และสิงโตเท่านั้น

              ลักษณะทางประติมากรรมของพระพิฆเนศนั้นมีหลายปาง และมีให้เลือกสรรการบูชาตามความเหมาะสม แต่ภาพโดยสรุป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเศียรก็ดี สัตว์พาหนะ ตลอดจนถึงเครื่องประดับและอิริยาบถต่างๆ ก็ดี พอจะแยกได้ดังนี้

              เศียร พระคเนศมีตั้งแต่ 1 เศียรหรือพระพักตร์เดียว ไปจนถึง 2-5 เศียร ซึ่งปาง 5 เศียรนี้นิยมใช้ในปางเหรัมภะซึ่งแพร่หลายในอินเดียและเนปาล ส่วนพระคเนศในแบบของคนไทยนั้นจะมีเพียงเศียรเดียวเท่านั้นส่วนใหญ่แล้วพระคเนศจะมีเพียงสองตาเท่านั้น ส่วนตาที่ 3 บริเวณหน้าผาก (บ้างใช้เปลวไฟเป็นสัญลักษณ์แทน) นิยมใช้ในลัทธิตันตระที่ชัดเจนมากเห็นจะเป็นพระพิฆเนศในศิลปะแบบทิเบต

              นอกจากนี้บริเวณหน้าผากทั่วไป อาจจะเป็นรูปจันทร์เสี้ยว หรือเส้น 3 เส้นตามลักษณะของไศวะนิกาย หรือพระเศียรอาจจะสวมมงกุฎชนิดแบบราบ (กรัณฑมุกุฎ) หรือสวมชฎาทรงสูงก็ได้ ส่วนงานั้น จะมีเพียงงาเดียวข้างขวาเท่านั้นส่วนงาข้างซ้ายนิยมทำหักไว้

              งวง มีลักษณะที่ห้อยตรงแต่ส่ายปลายไปทางซ้ายหรือขวาแต่ที่นิยมคือหันงวงไปทางซ้าย และหยิบขนม บตะสะ (โมทกะ) จากถ้วยขนมที่ถืออยู่ในซ้ายมือหรือบางทีก็เป็นพวกผลไม้ป่า

              กร มีจำนวนกรตั้งแต่ 2-4 เรื่อยขึ้นไปถึง 10 กว่ากรหรือมากกว่านั้น สัญลักษณ์ที่ถือตามพระกรต่าง ๆเช่น งาหัก, ผลมะนาว, ผลไม้ป่า, มะขวิด, ลูกหว้า, หัวผักกาด, ขนมโมทกะ, ผลทับทิม ส่วนอาวุธนั้นมีมากมายอาทิ ขวาน, บ่วงบาศ, ดาบ, ตรีศูล ฯลฯ สิ่งอันเป็นมงคล เช่น สังข์, แก้วจินดามณี, ครอบน้ำ ฯลฯ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น