วันเสาร์ที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2555

Papaya Power พลังของมะละกอ


มะละกอเป็นผลไม้ที่อุดมไปด้วย วิตามินเอ, ซี และอี เป็นผลไม้ที่มีสารแอนติออกซิแดนท์และช่วยบำรุงสุขภาพ  มะละกอมีเอนไซม์ที่เรียกว่า ‘papain’   Papain มีประโยชน์ต่อสุขภาพเป็นเครื่องช่วยย่อยอาหารจากธรรมชาติ อาหารเสริม papain ได้รับความนิยมและช่วยการย่อยอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในผู้ที่ร่างกายผลิตน้ำย่อยในกระเพาะและเอนไซม์ไม่เพียงพอ เช่น ผู้สูงอายุและผู้ป่วยพักฟื้น
นอกจากนี้มะละกอมีคุณสมบัติต่อต้านแบคทีเรียและต่อต้านกับจุลชีพที่ทำให้เกิดโรคได้หลายอย่าง ทั้ง E coli , Staphylococcus aureus และ ซาลโมเนลล่า และมีคุณสมบัติต่อต้านการอักเสบจึงสามารถนำมาใช้ในครีมทาเพื่อรักษาแผลไหม้, ผื่นคัน และอาการผิวหนังอื่นๆ

ในมะละกอมี beta-cryptoxanthin ซึ่งเป็นแคโรทีนอยด์ชนิดหนึ่งที่ร่างกายสามารถเปลี่ยนเป็นวิตามินเอ ซึ่งสารเหล่านี้ดูเหมือนจะป้องกันร่างกายจากมะเร็ง โดยเฉพาะความเสียหายที่เกิดจากอนุมูลอิสระจากการสูบบุหรี่ มีการศึกษาในการใช้เพื่อช่วยลดความเสี่ยงของโรคมะเร็งปอด

เพื่อให้ได้คุณประโยชน์จากสารอาหารให้มากที่สุดให้รับประทานสดๆ หรือคั้นน้ำมาดื่ม การนำไปแช่แข็งหรือบรรจุกระป๋องทำให้แคโรทีนอยด์บางส่วนสูญเสียไป

ผลดีต่อสุขภาพ
มะละกอมีไขมันอิ่มตัว คอเลสเตอรอล และเกลือโซเดียมต่ำ เป็นแหล่งที่ดีของเส้นใยอาหาร ธาตุโพแทสเซียม วิตามินเอ ซี และโฟเลต แต่ร้อยละ 92 ของพลังงานจากมะละกอสุกมาจากคาร์โบไฮเดรต ผู้ที่ควบคุมอาหารแป้งและน้ำตาลจึงไม่ควรกินมะละกอมากเกินไป

สีแดงอมส้มที่พบในมะละกอสุกแสดงว่า มะละกอสุกมีสารไลโคพีนซึ่งเป็นสารช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมากอีกด้วย


มะละกอสุกอุดมด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ ได้แก่ แคโรทีน วิตามินซี สารฟลาโวนอยด์ สารโฟเลต กรดแพนโทเทนิก ธาตุโพแทสเซียม แมกนีเซียม และเส้นใยอาหาร สารอาหารเหล่านี้บำรุงสุขภาพของระบบหัวใจและหลอดเลือด และป้องกันการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่อีก ด้วย นอกจากนี้มะละกอมีเอนไซม์ปาเปน สามารถนำมาใช้ด้านการแพทย์เพื่อรักษาอาการบาดเจ็บทางการกีฬา

นอกจาก นี้นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยอินสบรุ๊ค ประเทศออสเตรีย พบว่ามะละกอมีสารต้านอนุมูลอิสระสูงสุดเมื่อสุกงอม เนื่องจากคลอโรฟิลล์สีเขียวเปลี่ยนเป็นสารไม่มีสีที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ อย่างเยี่ยมยอดอีกชนิดหนึ่ง เรียก NCCs (nonfluorescing chlorophyll catabolytes) สะสมบริเวณเปลือกผลและใต้ผิวเปลือก เวลาปอกมะละกอสุกจึงไม่ควรกรีดริ้วบริเวณใต้เปลือกเพราะจะสูญเสียคุณค่าอาหารนี้ไป

ป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด
มะละกออาจช่วยป้องกันโรคหลอดเลือดแข็งตัวและโรคหัวใจที่ มีสาเหตุจากโรคเบาหวานได้ดี มะละกอมีวิตามินซี วิตามินอีและวิตามินเอ (ในรูปของสารแคโรทีนอยด์) ซึ่งเป็นสารอนุมูลอิสระที่มีความสำคัญช่วยป้องกันการเกิดอนุมูลอิสระของคอเล สเตอรอล เชื่อว่าวิตามินซีและอีช่วยการทำงานของเอนไซม์พาราออกโซเนสซึ่งหยุดการเกิด อนุมูลอิสระของคอเลสเตอรอล

เส้นใยอาหารในมะละกอช่วยลดคอเลสเตอรอล ส่วนกรดโฟลิกใช้เปลี่ยนโฮโมซิสเทอีนเป็นกรดอะมิโนซิสเทอีนที่ไม่มีพิษภัยอะไร ถ้ามีโฮโมซิสเทอีนอยู่มากกรดอะมิโนนี้จะทำลายผนังหลอดเลือด เกิดความเสี่ยงของอาการหัวใจวายหรือหลอดเลือดสมองอุดตันได้

ช่วยระบบทางเดินอาหาร
สารอาหารในมะละกอช่วยป้องกันการเกิดโรคมะเร็ง ลำไส้ใหญ่ เส้นใยอาหารจากมะละกอสามารถจับกับสารพิษก่อมะเร็งในลำไส้ใหญ่และพาส่งออกทำให้เกิดการสัมผัสกับเซลล์ลำไส้ใหญ่น้อยที่สุด และสารโฟเลต บีตาแคโรทีน วิตามินซีและอี ที่พบในมะละกอ จะมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยลดการถูกทำลายของสารพันธุกรรมในเซลล์ดังกล่าวด้วยอนุมูลอิสระ

ฤทธิ์ต้านอักเสบ
มะละกอ มีเอนไซม์ปาเปนและไคโมปาเปนช่วยย่อยโปรตีน เอนไซม์เหล่านี้สามารถช่วยลดการอักเสบและกระตุ้นการสมานแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก ได้ งานวิจัยจากประเทศมาเลเซียพบว่า สารสกัดจากเปลือกผลมะละกอดิบเร่งอัตราเร็วของการสมานแผลในหนูทดลองได้เร็วกว่าการใช้ยาทา Solcoseryl ถึง 1 สัปดาห์

บีตาแคโรทีน วิตามินซีและอีในมะละกอก็มีฤทธิ์ลดการอักเสบเช่นกัน ดังนั้นผู้ป่วยโรคหอบหืด โรคข้อเสื่อม และข้ออักเสบรูมาตอยด์จะได้ประโยชน์จากการกินมะละกอเพื่อลดอาการของโรคดังกล่าว ปัจจุบันมีการใช้เอนไซม์จากมะละกอดังกล่าวผลิตเป็นยาเม็ด ลดอาการบวม การอักเสบจากบาดแผลหรือการผ่าตัดแล้ว

ช่วยระบบภูมิคุ้มกัน
ร่างกายมนุษย์สามารถเปลี่ยนบีตาแคโรทีนที่ได้จากมะละกอสุกเป็นวิตามินเอและซีได้ เนื่องจากร่างกายต้องการวิตามินทั้งสองเพื่อเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน ให้ทำหน้าที่ได้ราบรื่น จึงพบว่าการกินมะละกอ เป็นประจำอาจลดความถี่การเกิดไข้หวัดและการติดเชื้อในช่องหูได้

การป้องกันภาวะจอประสาทตาเสื่อม
งานวิจัยตีพิมพ์ในต่างประเทศกล่าวว่าการกินผลไม้ 3 ครั้งต่อวันอาจลดความเสี่ยงของอาการภาวะจอประสาทตาเสื่อมในผู้สูงอายุ อันเป็นสาเหตุของการเสียการมองเห็นในผู้สูงอายุ เนื่องจากคนไทยกินมะละกอ ทั้งดิบหรือสุกอยู่เป็นปกติ ดังนั้นเราจึงมีความเสี่ยงในการเกิดโรคดังกล่าวลดลงในยามชรา

ป้องกันโรคถุงลมปอดโป่งพองและมะเร็งปอด
งานวิจัยของมหาวิทยาลัยรัฐแคนซัส สหรัฐอเมริกาพบว่า สารก่อมะเร็งจากบุหรี่ (benzo(a)pyrene) ทำให้เกิดการขาดวิตามินเอในสัตว์ทดลองที่ได้รับอาหารปกติ และเกิดอาการถุงลมปอดโป่งพอง แต่สัตว์ที่ได้รับวิตามินเอปริมาณมากแต่ได้รับสารดังกล่าวไม่พบว่ามีอาการถุงลมปอดโป่งพอง

ผู้วิจัยจึงเชื่อว่าผู้ที่สูบบุหรี่หรือได้รับควัน บุหรี่เป็นนิตย์ควรป้องกันตนเองโดยการกินอาหารที่มีวิตามินเอสูงเป็นประจำ และมะละกอสุกก็เป็นหนึ่งในอาหารดังกล่าว

 

เมล็ดมะละกอใช้รักษามะเร็ง
ที่ประเทศอินเดียกล่าวสืบทอดกันมาแต่บรรพบุรุษ ว่าเมล็ดมะละกอใช้รักษาโรคมะเร็งได้ งานวิจัยจากประเทศญี่ปุ่นรายงานเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ.2550 นี้ว่า เมล็ดมะละกอมีเอนไซม์ไมโรซิเนส และสารเบนซิลกลูโคซิโนเลตในปริมาณมาก
สาร เบนซิลกลูซิโนเลตนี้ส่วนใหญ่พบในพืชวงศ์คะน้า มีฤทธิ์ขับไล่สัตว์กินพืชในธรรมชาติ แต่มนุษย์ย่อยสารนี้โดยใช้เอนไซม์ไมโรซิเนส ได้สารต้านมะเร็ง งานวิจัยยังพบว่าสารสกัดเฮกเซนของเมล็ดมะละกอมีฤทธิ์ยับยั้งการสร้างสาร ซูเปอร์ออกไซด์ และมีฤทธิ์ฆ่าเซลล์มะเร็งแบบอะป๊อปโทซิส จะเห็นว่าเมล็ดมะละกอมีฤทธิ์ต้านมะเร็งได้จริงตามภูมิปัญญาการแพทย์อินเดีย แต่ต้องใช้เวลาอีกมากกว่าจะมีการพัฒนาเป็นยาแผนปัจจุบันได้ต่อไป
จากมะละกอมาเป็นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ
มะละกอ นอก จากกินเป็นผลไม้ได้อร่อยแล้ว ยังนำไปทำเป็นน้ำมะละกอ หรือชามะละกอได้ น้ำมะละกอ สุกช่วยลดกรดในกระเพาะอาหาร ช่วยการทำงานของลำไส้  ทำความสะอาดไต  และยังเป็นยาระบายอ่อนๆอย่างดีอีกด้วย ส่วนชามะละกอดิบช่วยล้างระบบดูดซึมสารอาหาร คือ ล้างคราบไขมันที่ผนังลำไส้ซึ่งเกาะตัวที่ผนังลำไส้ ที่ขัดขวางการดูดซึมสารอาหารและวิตามินที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย มีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดด้วย

ปัจจุบันมีน้ำมะละกอหมักจำหน่ายแพร่ หลายในประเทศญี่ปุ่น ที่ทำเป็นผงบดแห้งก็มี แต่ประเทศไทยปลูกมะละกอได้ผลตลอดปีเรามาทำน้ำมะละกอสดดื่มกันเองดีกว่า

 

น้ำมะละกอสุก

เลือกมะละกอที่สุกกำลังดี เนื้อไม่แข็ง หรือเละจนเกินไป เนื้อเนียน รสหวาน นำมะละกอสุกหั่นเอาแต่เนื้อครึ่งถ้วย น้ำเย็นจัด 1 ถ้วย ผง อบเชย 1/8 ช้อนชา เกลือป่น 1/4 ช้อนชา น้ำมะนาว 2 ช้อนชา ปั่นมะละกอกับน้ำเย็นจัด เกลือ น้ำมะนาวเข้าด้วยกัน รินใส่แก้ว โรยด้วยผงอบเชย ดื่มเย็นๆ ทันที
ชามะละกอจากผลมะละกอดิบ
ใช้มะละกอดิบไม่อ่อนเกินไปครึ่งผล ชาเขียว หรือชาจีน หรือชาใบหม่อน อย่างใดอย่างหนึ่ง เพิ่มดอกเก๊กฮวย ใบเตย หรือรากเตยไปด้วยถ้ามี

ดอกเก๊กฮวยและใบเตยมีสรรพคุณบำรุงหัวใจ ส่วนรากเตยช่วยฟื้นฟูตับอ่อนให้มีกำลัง
ปอกเปลือกมะละกอล้างน้ำให้สะอาด แล้วหั่นแบบชิ้นฟัก นำชิ้นมะละกอใส่หม้อ เติมน้ำ 3-4 ลิตร ตั้งไฟ (ใส่ดอกเก๊กฮวย หรือใบเตย หรือรากเตยตามชอบ) เมื่อน้ำเดือดสักพักหนึ่งยกหม้อลง ตักมะละกอ และดอกเก๊กฮวยออก ให้เหลือแต่น้ำ นำน้ำดังกล่าวไปชงชา ใส่ใบชาประมาณครึ่งกำมือ หลัง 5 นาทีกรองเอากากชาออก ทิ้งไว้ให้เย็นดื่มได้ทันที หรือบรรจุขวดเก็บไว้ในตู้เย็นได้ประมาณ 3 วัน

สูตรโบราณจากประเทศ อินเดียที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันให้เคี้ยวเมล็ดจากผลสุกสิบเมล็ดพร้อมกลืน ช่วยกระตุ้นระบบน้ำดี ย่อยไขมัน ล้างระบบทางเดินอาหาร และช่วยกระตุ้นการทำงานของตับ

มะละกอเสริมความงามผิวพรรณ
เอนไซม์ ปาเปนที่พบในมะละกอ ถูกนำมาใช้ในอุตสาหกรรมอย่างแพร่หลาย ทั้งด้านเภสัชกรรม โรงผลิตเบียร์ โรงงานเครื่องหนัง อุตสาหกรรมเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์สปา เอนไซม์ปาเปนถูกใช้ในเครื่องสำอางได้เนื่องจากเอนไซม์ดังกล่าวสามารถย่อย สลายคอลลาเจนได้ ช่วยเร่งการผลัดเปลี่ยนเซลล์ผิว จึงใช้ทดแทนสารสังเคราะห์ แอลฟาไฮดรอกซีแอซิด (alphahydroxy acids; AHA) ได้ และมีคุณสมบัติช่วยย่อยโมเลกุลของโปรตีนด้วย

ที่ผ่านมาประเทศไทยต้องนำเข้าเอนไซม์ปาเปนจากต่างประเทศ
ปัจจุบันสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติได้สนับสนุนภาคเอกชนไทยผลิตเอนไซม์ปาเปนจากมะละกอดิบ พัฒนาเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์สปา ทดแทนกรดผลไม้ที่มีค่าความเป็นกรดสูง พร้อมลดการนำเข้าจากต่างประเทศปีละกว่า 60 ล้านบาท

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น