วันพฤหัสบดีที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ลวดลายของเซียนพระ


 พระอาจารย์ กล่าวถึงวงการพระเครื่องว่า "มีพวกเซียนพระบางคนเล่นเฉพาะพระเนื้อทองคำ เขายืนยันว่าอย่างไรเขาก็มีกำไร มีอยู่รายหนึ่งได้พระเป็นมรดกจากพ่อ ๓๐๐ กว่าองค์ อยากจะได้เงินไปลงทุนทำธุรกิจ ก็เลยเอาพระไปให้เซียนเขาดู ปรากฏว่าปลอมทุกองค์ แต่พอแกะกรอบไปขายแล้วได้มาเกือบ ๓ ล้านบาท เพราะพ่อเลี่ยมทองไว้ทุกองค์เลย แสดงว่าพ่อรักพระจริง พระ ๓๐๐ กว่าองค์เลี่ยมทองนี่ปาไปเท่าไรแล้ว ตีเสียอย่างน้อยทอง ๑๕๐ บาทแล้ว สรุปว่าพระปลอมแต่ทองแท้ ได้เงินไปลงทุนจนได้
จะว่าไปแล้วคำว่าปลอมหรือไม่ปลอมอยู่ที่ตัวเราเอง ถ้ากำลังใจเราเห็นเป็นรูปพระพุทธเจ้า มีความเคารพเป็นปกติ ต่อให้ปลอมแค่ไหนก็เป็นของจริง แต่ถ้าหากว่าไม่มีความเคารพพระ คิดอยู่แต่เรื่องของการค้าขายเอากำไรอย่างเดียว จริงแค่ไหนก็เหมือนกับปลอม เพราะว่าไม่ได้ประโยชน์จากพระเลยนอกจากขายเอาเงินมาใช้

วงการพระเครื่องเป็นวงการของเสือสิงห์กระทิงแรด หาคนที่ซื่อสัตย์จริงใจยากมาก ใครที่มีของต่อให้แท้แค่ไหน เข้าไปถ้าเจอพวกขี้โกงก็กลายเป็นของปลอม เขาจะมีพวกเขาอยู่ ๘ - ๑๐ คน พอเขาบอกว่าปลอม ส่งต่อไป ทำท่าไม่สนใจ รายที่ ๒ ก็บอกปลอม รายที่ ๓ ก็บอกปลอม รายที่ ๔ ก็บอกปลอม พอเจ้าของหมดกำลังใจ เก็บพระลงกระเป๋าทำท่าจะกลับ “พี่ๆ ปลอมได้เจ๋งมากเลย ขอซื้อไว้ดูเป็นตัวอย่างหน่อยเถอะ พี่จะเอาเท่าไร ?”

ต้องขายให้เขาถูกๆ เขาจะเอาเป็น "องค์ครู" ว่าอย่างนั้น ใช้คำว่าซื้อความรู้ แต่ถ้าขายเมื่อไรเราเองจะกลายเป็นฝ่ายซื้อความรู้ ซื้อแพงด้วย เพราะมารู้ทีหลังว่าโดนหลอก"

"มีพระบางรุ่นเขาตีว่าแท้ สร้างประวัติขึ้นมา พอคนฮือฮาก็ขายต่อในราคาสูง คนรับช่วงก็จุกไปตามระเบียบ หรือไม่ก็เที่ยวไปกว้านซื้อพระใหม่นี่แหละ สมมติว่าเป็นพระของ วัดท่าขนุน ก็แล้วกัน ไปถึงก็กว้านซื้อ พระปิดตามหาเศรษฐีเงินล้าน รุ่น ๒ ไว้ พอถึงเวลากว้านซื้อไปเยอะๆ เข้า คนเห็นว่าเซียนใหญ่กว้านซื้อต้องมีราคาแน่ ก็วิ่งไล่ซื้อเอาบ้างจนราคาสูงไปเรื่อยๆ

พอสูงได้ระดับที่เขาต้องการ เขาก็ปล่อยที่ซื้อมา คนที่รับช่วงต่อไปก็จุกสนิท เพราะราคาสูงจนกระทั่งคนเขาไม่ตามกันแล้ว ก็เลยมีอนาคตแน่ๆ เพียงแต่เป็นอนาคตลงดิ่งเหว วงการนี้เขี้ยวลากดิน ไม่จำเป็นอย่าเข้าไป หลวงพ่อวัดท่าซุง ท่านไม่คบพวกนี้เลย

ประมาณปี ๒๕๑๘ อาจจะหลังจากปีนั้นหน่อยหนึ่งก็ได้ หลวงพ่อท่านสร้าง พระปิดตา ตชด. เป็นปิดตาลักษณะเดียวกับพระปิดตามหาเศรษฐีเงินล้านที่อาตมาทำองค์เล็กนั่นแหละ เพียงแต่ของท่านตัดมุมเป็นเหลี่ยม ไม่ได้ทำมุมมนแบบพระปิดตามหาเศรษฐีเงินล้าน ท่านสั่ง ๓๐,๐๐๐ องค์ ปรากฏว่าเขาทำเกินเก็บไว้ถึง ๒๐,๐๐๐ องค์ พอเอาพระไปส่ง หลวงพ่อท่านสั่งเก็บเลย ท่านบอกว่าทางโรงงานผลิตเกิน จะว่าปลอมก็ไม่ได้เพราะเนื้อก็ใช่ พิมพ์ก็ใช่

ตอนนั้นหนังสือลานโพธิ์เขาไปลงว่า “ฤๅษีลิงดำรู้ด้วยญาณ โรงงานโกง สร้างพระเกินจำนวนที่สั่งไว้ ระงับการพุทธาภิเษก” หลังจากนั้นหลายปี พอเรื่องซาลงแล้ว ไม่มีใครใส่ใจแล้ว หลวงพ่อท่านค่อยเอาออกมาแจก ไม่อย่างนั้นทันทีที่ออกท้องตลาด เขาก็จะวางขายตามไปเลย

แบบเดียวกับ พระขรรค์โสฬสวัดท่าขนุน ขนาดทำสัญญารัดกุมมากเลยว่าห้ามทำซ้ำ เขาก็ยังทำหน้าตาเฉย เพียงแต่เขาลดขนาดลง เขาทำเล็กกว่าของทางวัดหน่อยหนึ่ง เพียงแต่ชื่อเดียวกัน วัดเดียวกัน โรงงานเดียวกันอีกต่างหาก แล้วที่แสบกว่านั้นคือมีการถวายวัดมาอีก ๒๐๐ เล่ม เขาจะดูว่าวัดปล่อยออกมาราคาเท่าไร เขาจะได้ใช้ราคานั้นเป็นหลัก

อาตมาก็เลยให้โยมไปถามว่าที่โรงงานเขาออกราคาเท่าไร เขาบอกว่าโรงงานออก ๑๙๙ บาท จึงให้ทางวัดออก ๒๐๐ บาท ให้กำไรเขา ๑ บาท ในเมื่อเขาให้มา เราก็เลยช่วยเขาหน่อย ช่วยให้เขาได้กำไรไป ๑ บาท หลังจากนั้นมาอาตมากับโรงงานนี้ก็เลิกคบกัน ความดีเขาเยอะเกินไป ถ้าคบต่อไปเดี๋ยวจะดีตามไปด้วย..!"


สนทนากับพระครูวิลาศกาญจนธรรม (พระอาจารย์เล็ก สุธมฺมปญฺโญ)
เก็บตกจากบ้านวิริยบารมี ต้นเดือนมีนาคม ๒๕๕๕

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น