วันพฤหัสบดีที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ศูนย์ฯ ทุ่งควายกิน …จุดเรียนรู้ภูมิปัญญาหมอดิน


ศูนย์เรียนรู้การพัฒนาที่ดินตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงตำบลทุ่งควายกิน อ.แกลง จ.ระยอง มีนายอ๋า พรมไธสง เป็นหมอดินอาสาประจำศูนย์ฯ ซึ่งหมอดินอาสาผู้นี้ได้เป็นตัวอย่างให้กับเกษตรกรในพื้นที่ โดยเฉพาะเรื่องการพลิกฟื้นพื้นที่ทิ้งร้างให้สามารถนำกลับมาทำการเกษตรได้ อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนมีการนำความรู้จากการเป็นหมอดินอาสาของกรมพัฒนาที่ดิน มาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ในด้านต่างๆ จนได้รับการยอมรับจากเกษตรกรและคนในชุมชน…

ก่อนจะมาเป็นเกษตรกรเคยทำประมงมาก่อน ต่อมาได้เข้าร่วมโครงการอบรมเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงที่ธนาคารเพื่อการเกษตร และสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ร่วมกับสำนักสงฆ์สันติอโศกจัดขึ้น ซึ่งในครั้งนั้นเองที่ทำให้เขาได้รู้ว่าที่ดินคือต้นทุนสำคัญในการตั้งต้น ชีวิต  เขาจึงนึกถึงที่ดินรกร้างในตำบลทุ่งควายกินที่มีมากมาย  แต่ช่วงแรกที่ทำเกษตรนั้นไม่ได้ผลผลิตดีนักเพราะยังขาดความรู้และไม่มีทักษะ กระทั่งไปฝึกอบรมการเป็นหมอดินอาสากับสถานีพัฒนาที่ดินจังหวัดระยอง กรมพัฒนาที่ดิน  ได้รับการถ่ายทอดความรู้ด้านการอนุรักษ์ดินและน้ำ ด้านการปรับปรุงบำรุงดินในรูปแบบต่างๆ การทำปุ๋ยหมัก การปลูกพืชปุ๋ยสดและปุ๋ยอินทรีย์ จึงได้เริ่มพลิกฟื้นพื้นที่นาร้างให้กลับมามีความอุดมสมบูรณ์ เมื่อดินมีคุณภาพ ผลผลิตข้าวจึงดีขึ้นด้วย


เขาได้ใช้ทุกอย่างจากไร่นามาทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด จะไม่ทิ้งอะไรให้สูญเปล่า เช่น ทำปุ๋ยหมักจากฟางข้าวและหอยเชอรี่ที่เป็นศัตรูข้าวไว้ใช้เอง และยังทำแจกให้ชาวบ้านนำไปทดลองใช้รวมถึงเข้าไปสอนทำปุ๋ยหมักถึงในไร่นาของ ชาวบ้านซึ่งได้ผลเป็นอย่างดี จนทำให้ทุกวันนี้มีการตั้งเป็นกลุ่มทำปุ๋ยหมักขึ้นมา เมื่อข้าวของตนและชาวบ้านมีมากขึ้น ปัญหาที่ตามมาคือ ต้องนำข้าวไปสียังโรงสีที่อยู่ไกลจากหมู่บ้าน เวลาต้องการรำกับแกลบก็ต้องกลับไปขอซื้อข้าวจากโรงสีทำให้เสียทั้งเวลาและ เงิน จึงหันกลับมาปรับปรุงโรงสีเล็กที่ทิ้งร้างในหมู่บ้าน เพื่อให้มีโรงสีข้าวของชุมชนไว้ใช้เอง ซึ่งช่วงแรกก็คิดค่าบริการเล็กน้อยแต่ตอนหลังก็สีให้ฟรี เพราะสิ่งที่ได้คือรำกับแกลบที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อีกมากมาย


ตัวอย่างของการใช้ประโยชน์คือแกลบนำไปรองพื้นในการเลี้ยงหมูหลุม เมื่อแกลบผสมกับมูลหมูได้เวลาหนึ่งก็จะตักมาผสมกับมูลวัวและปุ๋ยหมักจากนั้น ทำการหมักต่ออีกสักระยะหนึ่ง ก็จะได้ปุ๋ยชั้นดีที่สามารถนำไปใช้ในนาข้าวและสวนไม้ผล เป็นการลดต้นทุนการผลิตที่ดีมาก นอกจากนี้ ยังได้คิดค้นภูมิปัญญาจากการนำแกลบไปแช่น้ำที่ผสมกับน้ำหมักชีวภาพจากสาร เร่ง พด.2 หมักทิ้งไว้ 12 ชั่วโมง และนำมาผสมกับรำข้าวให้เป็ดที่เลี้ยงไว้กิน ผลจากเป็ดกินแกลบจะทำให้เป็ดมีสุขภาพแข็งแรง ไข่ดก อีกทั้งมูลเป็ดยังนำกลับมาผลิตปุ๋ยหมักได้อีกด้วย นอกจากการทำนา เลี้ยงหมูหลุม เป็ด ปลา หมอดินอ๋า ยังทำเกษตรผสมผสาน และยังมีการปลูกป่า 7 ระดับ แบ่งเป็น ยางนา ยางพารา หมาก ละมุด กล้วย แฝก และพืชใต้ดิน จนได้รับการคัดเลือกให้เป็นธนาคารต้นไม้ประจำจังหวัดระยอง
...จากคนหาปลากลายมาเป็นหมอดินอาสา ทำหน้าที่พลิกฟื้นผืนนาทิ้งร้างของคนอื่นให้กลับมาทำการเกษตรได้อีกครั้ง เป็นตัวอย่างให้ชาวบ้านที่เคยทิ้งนาหันกลับมาทำนาอีกครั้ง และที่สำคัญลูกหลานเมื่อเห็นว่าผืนดินมีความอุดมสมบูรณ์ก็คิดหวนคืนสู่อาชีพ เกษตรเหมือนบรรพบุรุษ ไม่ต้องออกไปรับจ้างทำงานต่างถิ่น เพียงแค่นี้หมอดินอ๋าก็บอกว่าดีใจแล้ว…


สนใจแนวทางการทำเกษตรผสมผสานตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง สามารถไปเรียนรู้ได้ที่ศูนย์เรียนรู้การพัฒนาที่ดินตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง ตำบลทุ่งควายกิน อ.แกลง จ.ระยอง หรือโทร. 086-0270954.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น