วันพุธที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2555

จิตแพทย์ผลิตยารักษาโรคเสพติดช็อปปิ้ง

 

จิตแพทย์จากสหรัฐฯ ผลิตยารักษาโรคเสพติดการช็อปปิ้ง หรือ ช็อปอะฮอลิก (Shopaholic) ซึ่งหลังจากการทดลองในกลุ่มอาสาสมัครเป็นเวลา 8 สัปดาห์พบว่า กลุ่มนักช็อปทั้งหลาย ใช้เวลาไปกับการช็อปปิ้งน้อยลง และยาดังกล่าวไม่มีอาการข้างเคียงแต่อย่างใด

จิตแพทย์จากมหาวิทยาลัยมินเนโซต้า สหรัฐอเมริกา ทำการทดลองโดยการใช้ยาเพื่อรักษาโรค Shopaholic หรือโรคเสพติดการช็อปปิ้ง โดยตัวยาดังกล่าว มีลักษณะคล้ายกับยาที่ใช้รักษาโรคความจำเสื่อม หรืออัลไซเมอร์ ซึ่งหลังจากการทดลองพบว่า ผู้ที่เป็นโรค Shopaholic ใช้เวลาไปกับการช็อปปิ้งน้อยลงกว่าเดิมเป็นอย่างมาก


การทดลองดังกล่าวจัดทำขึ้นโดยการนำอาสาสมัครทั้งชายและหญิง 9 คน อายุระหว่าง 19 - 59 ปี ที่ถูกวินิจฉัยว่ามีอาการผิดปกติในการซื้อของ จนส่งผลกระทบโดยตรงกับการทำงาน และการเข้าสังคม รวมถึงสถานะทางการเงิน มาเข้ารับการบำบัดเป็นเวลา 8 สัปดาห์ โดยรับประทานยาตามที่แพทย์สั่ง


ซึ่งตัวยาดังกล่าวจะไปกระตุ้นการทำงานของสมอง ให้มีความคิดและพฤติกรรมที่ต่างไปจากเดิม โดยหลังจากการทดลองสิ้นสุดลงพบว่า กลุ่มอาสาสมัครมีความต้องการช็อปปิ้งลดลง และเสียเงินไปน้อยมากกับการช็อปปิ้งในแต่ละครั้ง พร้อมกันนี้ กลุ่มจิตแพทย์ยังไม่พบอาการข้างเคียงที่เกิดขึ้นในกลุ่มอาสาสมัครแต่อย่างใด


ทั้งนี้ กลุ่มอาสาสมัครที่มาเข้าร่วมการทดลองในครั้งนี้ มีรายได้เฉลี่ย 40,000 ปอด์นต่อปี หรือประมาณ 1,980,000 บาท โดยร้อยละ 61 ของรายได้นั้น หมดไปกับการช็อปปิ้ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าประเภทเสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย และใช้เวลาเฉลี่ยสัปดาห์ละ 38 ชั่วโมง ในการเข้าออกร้านจำหน่ายสินค้าต่างๆ โดยสิ่งที่ดึงดูดใจกลุ่มนักช็อปมากที่สุดก็คือ ป้ายลดราคา หรือป้ายเซล รวมถึงความรู้สึกที่ว่า "ฉันมีความจำเป็นที่ต้องมีของเหล่านี้" และป้ายโฆษณาสินค้า ก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้กลุ่มนักช็อปไม่สามารถยั้งสติได้ และต้องยอมซื้อสินค้าเหล่านั้นในที่สุด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น